xs
xsm
sm
md
lg

คมนาคม ครบ 111 ปี มุ่งพัฒนาขนส่ง จราจรปลอดภัย และยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทั่วประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



111 ปี กระทรวงคมนาคม "อธิรัฐ" นำข้าราชการ เปิดโครงการ “รวมพลัง #คนคมนาคมเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี” ขับเคลื่อนขนส่ง จราจรปลอดภัย ยกระดับพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี ระบบทางราง ทางน้ำ ทางอากาศ

วันที่ 1 เมษายน 2566 นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานงานวันคล้ายวันสถาปนากระทรวงคมนาคม ครบรอบ 111 ปี และเปิดโครงการ “รวมพลัง #คนคมนาคมเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี” พร้อมมอบชุดฝึกการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และชุดฝึกการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) ให้กับศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน โดยมี นางสาวธิติมา เฮ้งเจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรม
การขนส่งทางบก รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงคมนาคม ผู้บริหาร หัวหน้าหน่วยงานในสังกัด และบุคลากรกระทรวงคมนาคมเข้าร่วมในพิธีฯ


กระทรวงคมนาคมได้ก่อตั้งขึ้นนับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2455 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาวชิราวุธ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศพระบรมราชโองการให้เปลี่ยนชื่อ “กระทรวงโยธาธิการ” เป็น “กระทรวงคมนาคม” จนปัจจุบันวันที่ 1 เมษายน 2566 ครบรอบ 111 ปี กระทรวงคมนาคมได้เดินหน้าภารกิจโครงการเพื่อพัฒนาการคมนาคม จากพันธกิจในอดีต คือ การดูแลคมนาคมทางบก ทางน้ำ ทางราง และไปรษณีย์โทรเลข วิวัฒนาการสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างครบทุกมิติทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศเพื่อเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศและคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งอย่างยั่งยืน ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินงานโดยยึดหลักธรรมาภิบาลและยุทธศาสตร์พัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561 - 2580) 5 ด้าน คือ การบูรณาการระบบคมนาคมขนส่ง การพัฒนาคุณภาพการบริการของภาคคมนาคมขนส่ง การพัฒนาปรับปรุงกฎหมายและการปฏิรูปองค์กร การพัฒนาบุคลากรภาคคมนาคมขนส่ง และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งซึ่งยุทธศาสตร์ดังกล่าวจะเป็นกรอบแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของไทยในอนาคต เพื่อรองรับความเจริญของประเทศ ตลอดจนยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน อีกทั้งยังเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้มีประสิทธิภาพ (Transport Efficiency) ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green and Safe Transport) ซึ่งประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเสมอภาคและเท่าเทียม (Inclusivity) พร้อมเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในทุกมิติ

ตลอดระยะเวลา 111 ปีที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมได้มุ่งมั่นพัฒนาระบบการขนส่งและจราจรให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนทุกระดับสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งสาธารณะได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งพัฒนาให้เกิดการเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมขนส่งทุกระบบ เพื่อสนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการเสริมสร้างศักยภาพของประเทศสู่การเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งและจราจรในภูมิภาคอย่างต่อเนื่องหลายรูปแบบและไร้รอยต่อ รวมทั้งดำเนินโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนชาวไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ดังนี้

ด้านการขนส่งทางบก ประกอบด้วย การพัฒนาโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองคู่ขนานกับโครงข่ายรถไฟทางคู่ (MR-MAP) ซึ่งเป็นระบบคมนาคมในอนาคต เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างภูมิภาคที่มีประสิทธิภาพ กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น การพัฒนาถนนภายในประเทศที่สำคัญ ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเดินทางในอนาคต อาทิ โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) และโครงการทางพิเศษ พระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในเมืองภูมิภาค 8 จังหวัด (ภูเก็ต เชียงใหม่ นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก อุดรธานี หาดใหญ่ และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)) เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของประชาชนในราคาที่เป็นธรรม และเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งสินค้า


ด้านการขนส่งทางราง ประกอบด้วย การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล การพัฒนารถไฟความเร็วสูงไทย - จีน เพื่อรองรับการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้า การพัฒนารถไฟทางคู่ การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อ เพื่อเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เชื่อมต่อการเดินทางจากใจกลางกรุงเทพฯ สู่ปริมณฑล รวมทั้งเชื่อมโยงไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และการจัดตั้งสถาบันสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางของประเทศ

ด้านการขนส่งทางน้ำ ประกอบด้วย การพัฒนาท่าเรือพาณิชย์ ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อส่งเสริมให้เป็นท่าเรือชั้นนำของโลก รองรับ EEC การพัฒนาการคมนาคมขนส่งทางทะเลในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจเชื่อมอ่าวไทยและอันดามันที่จังหวัดชุมพรและระนอง (Land Bridge) เพื่อเชื่อมโครงข่ายการขนส่งของประเทศและระหว่างประเทศทั้งทางถนน ทางราง และทางน้ำ ซึ่งจะช่วยให้เกิดแนวเส้นทางที่ตรง ลดระยะเวลาการเดินทาง ลดต้นทุนค่าขนส่ง เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศจากการคมนาคมขนส่ง รวมทั้งช่วยลดปัญหาโลกร้อนในปัจจุบัน

ด้านการขนส่งทางอากาศ ประกอบด้วย การพัฒนาท่าอากาศยานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสาร การแก้ไขปัญหาการให้บริการผู้โดยสารในท่าอากาศยาน และการพัฒนาบุคลากรด้านอากาศยาน เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางการบินในระดับภูมิภาค นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้สนับสนุนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์พลังงานสะอาด ซึ่งหน่วยงานในสังกัดได้มีนโยบายนำรถ เรือ และรถไฟพลังงานไฟฟ้าแทนการใช้พลังงานรูปแบบอื่น ๆ เพื่อให้คุณภาพอากาศในระบบการคมนาคมขนส่งของไทยดีขึ้น และช่วยแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5


ทั้งนี้ เนื่องในโอกาสครบรอบ 111 ปี กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินโครงการ “รวมพลัง #คนคมนาคม เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดี” ซึ่งกระทรวงฯ และหน่วยงานในสังกัดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาคจะร่วมกันดำเนินโครงการเพื่อพัฒนาสังคมตลอดปี 2566 (เมษายน 2566 - เมษายน 2567) โดยมีรายละเอียดโครงการ/กิจกรรม ดังนี้

1. การจัดกิจกรรมสาธารณประโยชน์ กิจกรรมสาธารณกุศล หรือกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR)
2. โครงการฝึกอบรมการพัฒนาความรู้และทักษะการปฐมพยาบาลเบื้องต้นการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน (CPR) และการใช้เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ (AED) และกิจกรรมการสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานด้วยจิตอาสา
3. โครงการสร้างการรับรู้ สร้างความเข้าใจเพื่อเสริมสร้างวินัยจราจร การขับขี่ปลอดภัย การใช้รถใช้ถนนให้แก่สถานศึกษา และประชาชนในพื้นที่


ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่งจากอดีตสู่ปัจจุบันตลอด 111 ปี
ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนนโยบายและการดำเนินงาน เพื่อส่งเสริมการคมนาคมขนส่งของประเทศสู่อนาคต ครอบคลุมการพัฒนาทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำและทางอากาศ ซึ่งจะช่วยสร้างสุขทุกการเดินทางเพื่อประชาชน รวมถึงเพิ่มศักยภาพให้กับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศส่งเสริมการขยายตัวด้านเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น