วันนี้ (29 มีนาคม 2566) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง จะเริ่มจำหน่ายบัตรเหมาจ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดง และรถประจำทางองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) "Transit Pass" (ทรานซิท พาส) ที่ห้องจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง และเขตการเดินรถ ขสมก. โดยมีค่าออกบัตร 100 บาท และราคาบัตรเหมาจ่าย 2,000 บาท
บัตรนี้สามารถใช้เดินทางรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) สูงสุดจำนวน 50 เที่ยว และรถประจำทาง ขสมก. ทั้งรถธรรมดาและรถปรับอากาศไม่จำกัดเที่ยว ภายในระยะเวลา 30 วัน เมื่อใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงครบ 50 เที่ยวแล้ว จะไม่สามารถใช้บัตรได้อีก แต่สามารถใช้ขึ้นรถเมล์ ขสมก. ได้จนกว่าจะครบ 30 วัน
หลังจากครบ 30 วัน สามารถเติมเงินจำนวน 2,000 บาท เพื่อใช้งานรอบต่อไปอีก 30 วัน โดยสแกน QR CODE ด้านหลังบัตร ผ่านแอปพลิเคชันธนาคารใดก็ได้ที่มีเมนูสแกนจ่าย, เครื่อง ATM ธนาคารกรุงไทย และเครื่อง EDC ของจุดจำหน่ายบัตรที่สถานีรถไฟฟ้าสายสีแดง และเขตการเดินรถ ขสมก.
เมื่อเปรียบเทียบบัตรทรานซิท พาส กับบัตรโดยสารรายเดือนรถไฟฟ้าสายสีแดง และบัตรโดยสาร ขสมก. จะพบว่ามูลค่าบัตร 2,000 บาท เมื่อลบกับบัตรรถปรับอากาศ ขสมก. รายเดือน 1,020 บาท จะเหลือ 980 บาท และเมื่อหารด้วยจำนวนเที่ยวเดินทางรถไฟฟ้าสายสีแดงสูงสุด 50 เที่ยว จะตกเที่ยวละ 19.60 บาท ถูกกว่าบัตรโดยสาร 30 วัน 30 เที่ยว ที่ตกเที่ยวละ 25 บาท
ถึงกระนั้น บัตรดังกล่าวเหมาะสำหรับผู้ที่ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วต่อด้วยรถเมล์ ขสมก. เป็นประจำจริงๆ เพราะหากปกติเดินทางด้วยรถไฟฟ้าสายสีแดงตกวันละ 2 เที่ยว (ไป-กลับ) จะต้องเดินทางให้ได้ 25 วัน จึงจะคุ้มค่าบัตร แต่หากใช้งานเฉพาะรถไฟฟ้าสายสีแดงอย่างเดียว จะตกเที่ยวละ 40 บาท ซึ่งแพงกว่าบัตรโดยสาร 30 วัน 30 เที่ยว
Ibusiness review สำรวจการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีแดง กับรถเมล์ ขสมก. แต่ละสถานี พบว่ามีให้บริการดังนี้
สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ (สถานีกลางบางซื่อเดิม)
- สาย 49 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-หัวลำโพง
- สาย 67 (เสริม) สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-เซ็นทรัลพระราม 3
- สาย 77 เซ็นทรัลพระราม 3-หมอชิต 2
- สาย 96 มีนบุรี-หมอชิต 2
- สาย 134 หมู่บ้านบัวทองเคหะ-หมอชิต 2
- สาย 136 คลองเตย-หมอชิต 2
- สาย 138 ท่าน้ำพระประแดง-หมอชิต 2
- สาย 145 แพรกษาบ่อดิน-หมอชิต 2
- สาย 536 ฟาร์มจระเข้สมุทรปราการ-หมอชิต 2
สถานีจตุจักร ถนนกำแพงเพชร 2
- สาย 3 หมอชิต 2-คลองสาน
- สาย 16 หมอชิต 2-สุรวงศ์
- สาย 49 สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-หัวลำโพง
สถานีวัดเสมียนนารี ถนนวิภาวดีรังสิต
- สาย 134 หมู่บ้านบัวทองเคหะ-หมอชิต 2
- สาย 191 เคหะคลองจั่น-สถานีพระนั่งเกล้า
- สาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัย
สถานีบางเขน ถนนวิภาวดีรังสิต
- สาย 134 หมู่บ้านบัวทองเคหะ-หมอชิต 2 (เฉพาะไปหมอชิต 2)
- สาย 191 เคหะคลองจั่น-สถานีพระนั่งเกล้า (เฉพาะไปเคหะคลองจั่น)
- สาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัย
สถานีทุ่งสองห้อง ถนนวิภาวดีรังสิต
- สาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัย
สถานีหลักสี่ สถานีการเคหะ สถานีดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต
- สาย 59 สนามหลวง-รังสิต
- สาย 95ก บางกะปิ-รังสิต
- สาย 510 ม.ธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิต-อนุสาวรีย์ชัย
สถานีรังสิต
- สาย 522 เสริมพิเศษ สถานีรังสิต-สถานีแยก คปอ.
สถานีบางซ่อน ถนนกรุงเทพ-นนทบุรี
- สาย 16 อู่กำแพงเพชร 2-สุรวงษ์
- สาย 50 สะพานพระราม 7-สวนลุมพินี
- สาย 65 วัดปากน้ำนนทบุรี-สนามหลวง
- สาย 97 กระทรวงสาธารณสุข-โรงพยาบาลสงฆ์
- สาย 505 ปากเกร็ด-สวนลุมพินี
สถานีบางบำหรุ ถนนสิรินธร
- สาย 79 เสริมพิเศษ อู่บรมราชชนนี-สายใต้เก่า
- สาย 515 เซ็นทรัลศาลายา-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
สถานีตลิ่งชัน
- สาย 79 เสริมพิเศษ อู่บรมราชชนนี-สายใต้เก่า
(ข้อมูล ณ วันที่ 29 มีนาคม 2566)
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)