xs
xsm
sm
md
lg

เซ็นแล้ว! "จุฬา สุขมานพ" นั่งเลขาฯ อีอีซีคนใหม่ มีผล 1 เม.ย.นี้ ลุยภารกิจลงทุน-ขับเคลื่อน 5 เมกะโปรเจกต์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"ประยุทธ์" ลงนามคำสั่งแต่งตั้ง "จุฬา สุขมานพ" นั่งเลขาธิการ "อีอีซี" คนใหม่แล้ว มีผล 1 เม.ย. 66 เดินหน้าภารกิจเร่งรัดการลงทุน และขับเคลื่อน 5 โปรเจกต์โครงสร้างพื้นฐาน

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2566 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ได้ลงนามคำสั่งคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ที่ 2/2566 เรื่อง แต่งตั้งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ว่า

ตามที่ พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 กำหนดให้มีเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (เลขาฯ อีอีซี) ซึ่ง กพอ.แต่งตั้ง โดยมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานของสำนักงานและขึ้นตรงต่อคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

และในคราวประชุม กพอ.ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. 2565 ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้ง นายจุฬา สุขมานพ ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ตามที่คณะอนุกรรมการสรรหาเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเสนอนั้น

เพื่อให้การดำเนินงานของคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและสำนักงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 16 แห่ง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 จึงแต่งตั้ง นายจุฬา สุขมานพ เป็นเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2566 เป็นต้นไป

และวันที่ 27 มีนาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ให้ข้าราชการพลเรือนสามัญพ้นจากตำแหน่ง ความว่า

ด้วยกระทรวงคมนาคมได้มีคำสั่งอนุญาตให้ นายจุฬา สุขมานพ ข้าราชการพลเรือนสามัญ ตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง ลาออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566 และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พ้นจากตำแหน่งแล้ว

บัดนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตำแหน่ง ผู้ตรวจราชการกระทรวง สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงคมนาคม ตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2566

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี


ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก 2561 มาตรา 20 ระบถึงหน้าที่และอำนาจของเลขาฯ อีอีซี ดังนี้

1. รับผิดชอบการบริหารกิจการของสำนักงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ และเป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ รวมทั้งนโยบาย แผน และมาตรการที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

2. บังคับบัญชา บรรจุ แต่งตั้ง ถอดถอน เลื่อน ลด ตัดเงินเดือนหรือค่าจ้าง ลงโทษทางวินัยพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน ตลอดจนให้พนักงานหรือลูกจ้างของสำนักงานออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตามข้อบังคับที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด แต่ถ้าเป็นตำแหน่งรองเลขาธิการและผู้ตรวจสอบภายในต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายก่อน

3. กำหนดระเบียบและวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของสำนักงาน พนักงานและลูกจ้าง โดยไม่ขัดหรือแย้งกับระเบียบ ข้อบังคับ หรือมติที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

4. ออกระเบียบเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นี้ หรือเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกให้เป็นไปตามหลักการบริหารกิจการที่ดีและหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยระเบียบข้างต้น เมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายและประกาศในราชกจจานเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

5. ปฏิบัติการอื่นตามที่คณะกรรมการนโยบายมอบหมาย

ทั้งนี้ ในกิจการของสำนักงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการเป็นผู้แทนสำนักงาน เพื่อการนี้ เลขาธิการอาจมอบอำนาจให้รองเลขาธิการหรือพนักงานกระทำการแทนก็ได้ และในกรณีมีความจำเป็นเลขาธิการอาจมอบอำนาจให้บุคคลอื่นกระทำการแทนได้ ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายกำหนด

โดยตำแหน่งเลขาธิการ จะอยู่ในตำแหน่งตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาจ้าง ซึ่งต้องไม่เกินคราวละ 4 ปี และอาจได้รับแต่งตั้งอีกได้ แต่จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 2 วาระไม่ได้


รายงานข่าวแจ้งว่า ภารกิจที่รอเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ขับเคลื่อนต่อ มีทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่รัฐร่วมลงทุนเอกชน (PPP) จำนวน 5 โครงการ คือ 1. รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งการเจรจาปรับแก้สัญญาร่วมทุนฯ กับเอกชน ยังไม่ยุติ โดยยังมีประเด็นการส่งมอบพื้นที่, การก่อสร้างโครงสร้างร่วมกับโครงการรถไฟไทย-จีน, การปรับรูปแบบการชำระค่าสิทธิ์บริหารโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และการปรับเงื่อนไขเวลาในการจ่ายอุดหนุนค่างานของรัฐให้เร็วขึ้น แบบ สร้างไป จ่ายไป

2. สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มีกลุ่มกิจการร่วมค้าบีบีเอสเป็นคู่สัญญา มีประเด็นเจรจาปรับเงื่อนไขสัญญาฯ เช่นกัน ทั้งขยายเฟสพัฒนาและลดขนาดรองรับผู้โดยสารในช่วงแรก เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19
3. ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ปัจจุบันการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) อยู่ระหว่างดำเนินงานด้านสาธารณูปโภค ก่อนส่งมอบพื้นที่ให้ บริษัท จีพีซี อินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด เข้าดำเนินการพัฒนา

4. ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส 3 บริษัทกัลฟ์เป็นผู้ชนะการประมูล ซึ่งช่วงที่ 1 ออกแบบก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และท่าเรือก๊าซแล้ว เริ่มก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ถมทะเล เพื่อสร้างท่าเรือสินค้าเหลวและพื้นที่คลังสินค้า

5. ศูนย์ซ่อมอากาศยาน (MRO) ปัจจุบันแผนหยุดชะงัก เนื่องจาก บมจ.การบินไทย เข้าสู่การฟื้นฟู
กำลังโหลดความคิดเห็น