xs
xsm
sm
md
lg

‘รถไฟสีแดง-ทางคู่เฟส 2’ ตกขบวน 'ครม.ประยุทธ์' คมนาคมกางโปรเจกต์ระบบรางกว่า 7.3 แสนล้านรอรัฐบาลใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การลงทุนเมกะโปรเจกต์ยุครัฐบาล "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" มีการอนุมัติ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการให้บริการคมนาคมขนส่งของไทยมากที่สุดเกือบ 2 ล้านล้านบาท โดยตลอด 8 ปี นับจาก ปี 2557 รัฐบาล คสช.มีการเร่งรัดการลงทุนเมกะโปรเจกต์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะระบบราง "รถไฟฟ้าสารพัดสี-รถไฟทางคู่ ระยะแรก" เกิดการก่อสร้างปูพรมทั้งใน กทม.และทั่วประเทศ และทยอยเปิดให้บริการบ้างแล้ว รวมถึงรถไฟความเร็วสูงสายแรก “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” นับเป็นจุดเริ่มต้น พลิกโฉมการเดินทางทั้งระบบที่มีประสิทธิภาพอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนระบบรางของประเทศ ได้จัดทำยุทธศาสตร์ ระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) กำหนดกรอบทิศทางในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยรัฐบาล คสช.ได้เริ่มอนุมัติโครงการรถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 5 โครงการ ระยะทางรวม 700 กิโลเมตร (กม.) ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 1 โครงการ อยู่ระหวางก่อสร้าง 4 โครงการ ระยะทาง 616 กม. ได้แก่ สายเหนือ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ ,สายตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ- สายใต้ ช่วงนครปฐม-หัวหิน- ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร

อนุมัติโครงการก่อสร้างรถไฟทางสายใหม่ 2 เส้นทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างอยู่ระหว่างการเวนคืน เพื่อเตรียมพื้นที่ก่อสร้าง ได้แก่ สายเหนือ ช่วงเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. วงเงิน 72,920 ล้านบาท และช่วงสายอีสาน ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทางรวม 355 กิโลเมตร วงเงิน 66,848.33 ล้านบาท

ต่อด้วยการขับเคลื่อน รถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการความร่วมมือไทย-จีน เส้นทาง กรุงเทพฯ-หนองคาย ขณะนี้อยู่ระหว่างการลงทุนช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,412.21 ล้านบาท แผนกำหนดแล้วเสร็จปี 69

และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงิน 224,554 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจาปรับแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน (เอกชนคู่สัญญา)


@เร่งก่อสร้าง "เหลือง-ชมพู" ปักธงเปิดบริการในปีนี้

นอกจากนี้ ยังผลักดันการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเมือง 14 สาย (สี) ระยะทางรวม 553.41 กม. จำนวน 367 สถานี โดยปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 เส้นทาง 212 กม. เช่น รถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีทอง สายสีแดงเข้ม รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์

อนุมัติโครงการรถไฟฟ้า 4 เส้นทาง ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีระยะทางรวม 114 กม. ได้แก่ สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. คาดแล้วเสร็จ เปิดให้บริการในเดือนมิ.ย. 2566 และ สายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. คาดเปิดบริการในเดือน ส.ค. 2566 สีชมพู ส่วนต่อขยาย เข้าเมืองทองธานี ระยะทาง 3 กม. คาดเปิดบริการปลายปี 2567

สายสีส้ม (ด้านตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.57 กม. วงเงิน 109,540.84 ล้านบาท คาดก่อสร้างเสร็จกลางปี 2566 ส่วนการเดินรถ รอการประมูลสัมปทานสายสีส้ม เพื่อก่อสร้างด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. และเดินรถตลอดสาย ตั้งแต่มีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทางรวม 35.9 กม. วงเงินกว่า 142,041 ล้านบาท

สายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. วงเงิน 131,004.30 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดเปิดให้บริการปี 2570


@ “สายสีส้ม-สีแดงต่อขยาย-ทางคู่เฟส 2” ตกขบวน ครม.ประยุทธ์

สำหรับโครงการที่ได้มีการนำเสนอไปที่ ครม.แล้วโดย “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” รมช.คมนาคม ในฐานะรักษาการ รมว.คมนาคม แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณา ได้แก่ โครงการรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท ไป ครม.แล้วแต่ไม่ได้รับการบรรจุวาระเมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2566 ขณะที่โอกาสในการผลักดันโครงการในช่วงรัฐบาลรักษาการก็ไม่มีความแน่นอน เพราะหากจะมีการเสนอโครงการลงทุนจะต้องเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เห็นชอบก่อน

ส่วนอีก 2 เส้นทาง สายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท และสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท ยังอยู่ระหว่างรอความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการที่เสนอไป ครม.แล้ว คือ โครงการรถไฟทางคู่ เฟส 2 เส้นทาง ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท, ขออนุมัติค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ สัญญา 1 ช่วงมาบกะเบา-คลองขนานจิตร และสัญญา 3 งานอุโมงค์ กรอบวงเงิน 197.38 ล้านบาท ซึ่งคงต้องรอลุ้นกันต่อไป

ขณะที่โปรเจกต์ร้อน อย่างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทางรวม 35.9 กม. แม้ "อธิรัฐ" รักษาการ รมว.คมนาคม จะเสนอผลการประมูลร่วมลงทุนฯ ให้ ครม.พิจารณา ซึ่งเป็นการดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯ 2562 ที่ประชุม ครม.มีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง และคัดค้านการอนุมัติ โดยเสียงส่วนใหญ่เห็นควรรอฟังคำพิพากษาของศาลปกครองให้เกิดความชัดเจนก่อน ...ที่สุด นายกรัฐมนตรีตัดสินใจถอนวาระสายสีส้มออกไป เท่ากับต้องกลับมาเริ่มตั้งต้นกันใหม่


@"ปลัดคมนาคม" ลุ้นเลขาฯ ครม.ชงกกต.พิจารณา โปรเจกต์ตกค้าง

“ชยธรรม์ พรหมศร” ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า โครงการที่กระทรวงคมนาคมได้นำเสนอไปที่ ครม.แล้ว เช่น รถไฟสายสีแดงช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา, รถไฟทางคู่ เฟส 2 เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย, การขออนุมัติค่าเวนคืนที่ดินรถไฟทางคู่ ช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ นั้นคงต้องอยู่ที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอย่างไร ซึ่งคาดว่า โครงการที่ได้มีการนำเสนอเรื่องไปที่ ครม.แล้วอาจจะมีการเสนอไปที่ กกต.เพื่อให้พิจารณา หากอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ไม่เป็นการอนุมัติงานหรือเป็นโครงการที่สร้างความผูกพันต่อ ครม.ชุดใหม่หรือเป็นการทิ้งทวน อาจจะได้รับการพิจารณาจาก กกต.ให้ ครม.รักษาการเดินหน้าได้

ทั้งนี้ ในส่วนของกระทรวงคมนาคมยังทำงานไปตามปกติ โดยผลักดันโครงการต่างๆ ในแผนยุทธศาสตร์ตามเป้าหมาย ซึ่งรมช.คมนาคม ในฐานะรักษาการ รมว.คมนาคม “อธิรัฐ รัตนเศรษฐ” จะมีการประชุมร่วมกับหัวหน้าหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามเร่งรัดงานตามปกติ และในระหว่างที่เป็นรัฐบาลรักษาการ หากโครงการใดที่มีความพร้อมทุกขั้นตอนก็มีความเป็นไปได้ที่จะเสนอไปที่ ครม. ส่วนการพิจารณาโครงการจะเป็นไปตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้

“เช่น รถไฟสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 2 เส้นทาง คือ ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต หากรวบรวมความเห็นและข้อมูลครบถ้วนก็เตรียมเสนอไปที่ ครม. เนื่องจากเป็นโครงการที่มีการศึกษามานานและมีเหตุผลความเหมาะสมในการดำเนินการเพื่อประโยชน์ต่อการให้บริการประชาชน แต่หากมีข้อติดขัด เสนอกกต.แล้วไม่มีการพิจารณาก็ต้องรอรัฐบาลใหม่” ปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าว


@ นโยบาย PPP 100% ทำสีแดงต่อขยาย 4 เส้นทาง เสียเวลา 2 ปี ยังไม่ได้เริ่มต้น

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ส่วนต่อขยาย จำนวน 4 เส้นทางนั้น ได้รับความเห็นชอบจาก ครม.ตั้งแต่ต้นปี 2562 สมัย "อาคม เติมพิทยาไพสิฐ" เป็น รมว.คมนาคมแล้ว แต่หลังเลือกตั้ง "ศักดิ์สยาม ชิดชอบ" เป็นรมว.คมนาคม มีการปรับเปลี่ยนนโยบายรถไฟสายสีแดง จากการที่รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา และให้ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) ซึ่งเป็นบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เดินรถ เปลี่ยนเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) 100% ทั้งการก่อสร้างส่วนต่อขยาย 4 เส้นทาง และรับสิทธิเดินรถทั้ง ส่วนแรก ชาวงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันและส่วนต่อขยาย ระยะเวลาประมาณ 30 ปี

โดยเห็นว่าเป็นแนวทางที่เพิ่มประสิทธิภาพ และลดภาระการลงทุนภาครัฐ โดยคาดหวังว่าจะทำให้ รฟท.ประหยัดค่าลงทุน ประมาณ 64,691 ล้านบาท และไม่ต้องรับความเสี่ยงขาดทุนจากการเดินรถ นอกจากนี้ รฟท.ยังได้รับผลตอบแทนและส่วนแบ่งรายได้จากเอกชน ในการเดินรถและการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ

แต่ที่สุด ผลศึกษาชี้รถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย PPP เอกชนลงทุน 100% ไม่คุ้ม ต้องกลับมาใช้รูปแบบเดิมคือ รัฐลงทุนก่อสร้างงานโยธา งานระบบ และซื้อขบวนรถ ส่วนเอกชนให้ PPP รับเดินรถ ซ่อมบำรุง ระยะเวลา 50 ปี จึงจะคุ้มทุน

ได้แก่ 1. ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. มติ ครม.เดิม ปี 2562 เห็นชอบวงเงิน 6,645.03 ล้านบาท วงเงินปรับใหม่ที่ 4,694.36 ล้านบาท ลดลง 1,950.67 ล้านบาท เนื่องจากตัดค่าจัดหารถไฟฟ้า 16 ตู้ออกตามผลศึกษา PPP ให้เอกชนเดินรถเป็นผู้จัดหา

2. ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.8 กม. มติครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 เห็นชอบวงเงิน 10,202.18 ล้านบาท กรอบวงเงินปรับใหม่ ที่ 10,670.27 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 468.09 ล้านบาท

3. ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. มติ ครม.เดิมเมื่อ ก.พ. 2562 เห็นชอบวงเงิน 6,570.40 ล้านบาท กรอบวงเงินใหม่ 6,468.69 ล้านบาท ลดลง 101.71 ล้านบาทเนื่องจากปรับลดจากค่าเวนคืนลงบางส่วน

4.ช่วงบางซื่อ-พญาไท-มักกะสัน-หัวหมาก และช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง (Missing Link) ระยะทาง 25.9 กม. มติ ครม.เดิมเห็นชอบกรอบวงเงิน 44,157.76 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาปรับแบบ คาดกรอบวงเงินใหม่อยู่ที่ 47,000 ล้านบาท

“เปลี่ยนไป...เปลี่ยนมา ทำให้เสียเวลาไป 2 ปี ก่อนเสนอ ครม.จึงต้องทบทวนวงเงินค่าก่อสร้างใหม่ สุดท้าย ตกขบวน รอรัฐบาลหน้าชี้ชะตา”


@ปั้นเมกะโปรเจกต์อีกกว่า 7.3 แสนล้านบาท รอรัฐบาลใหม่สานต่อ

ยังมีเมกะโปรเจกต์อีกหลายโครงการที่รอรัฐบาลใหม่สานต่อ ทั้งรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.6 กิโลเมตร ส่วนของการเดินรถอยู่ระหว่างศึกษาการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) มีค่าลงทุนกว่า 23,000 ล้านบาท

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ระยะทางรวม 22.1 กม. มูลค่าลงทุนรวม 49,865 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาการร่วมลงทุนเอกชน (PPP)

โครงการระบบขนส่งมวลชนภูมิภาค 4 จังหวัด วงเงินลงทุนกว่า 73,429 ล้านบาท อยู่ระหว่างศึกษาให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ได้แก่

โครงการระบบขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง (โรงพยาบาลนครพิงค์ - แยกแม่เหียะสมานสามัคคี) ระยะทาง 15.8 กม. ค่าลงทุนประมาณ 29,523.29 ล้านบาท

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดภูเก็ต ระยะที่ 1 ช่วงท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง ระยะทางประมาณ 42 กม. ค่าลงทุนประมาณ 35,201 ล้านบาท

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดนครราชสีมา สายสีเขียว ช่วงตลาดเซฟวัน-สถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพบ้านนารีสวัสดิ์ มีระยะทาง 11.15 กม. ค่าลงทุนประมาณ 7,134.27 ล้านบาท

โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดพิษณุโลก สายสีแดง ช่วงมหาวิทยาลัยพิษณุโลก-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพิษณุโลก ระยะทาง 12.6 กม. ค่าลงทุน ประมาณ 1,571.76 ล้านบาท

รถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,479 กม. วงเงินลงทุนรวม 266,975.99 ล้านบาท ได้แก่ ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ระยะทาง 167 กม. มูลค่า 29,748 ล้านบาท , ช่วงชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 36,683 ล้านบาท, ช่วงปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 280.5 กม. วงเงิน 59,399.80 ล้านบาท, ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 57,992.44 ล้านบาท, ช่วงชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 23,080 ล้านบาท, ช่วงสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 56,114.26 ล้านบาท, ช่วงชุมทางหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 7,864.49 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีอภิโปรเจกต์อย่างรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เฟส 2 ช่วง นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. วงเงินลงทุน 318,137.17 ล้านบาท ศึกษาแล้วเสร็จเตรียมเสนอขออนุมัติดำเนินการ

เชื่อว่าการลงทุนโครงการระบบรางยังจะเป็นเครื่องจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศที่ทุกรัฐบาลต้องเร่งรัดการลงทุน ดังนั้น หลังจัดตั้ง ครม.ชุดใหม่เรียบร้อย โครงการที่มีความพร้อมน่าจะได้รับการกดปุ่มเดินหน้า!!!
กำลังโหลดความคิดเห็น