xs
xsm
sm
md
lg

‘คมนาคม’ หารือ MLIT ญี่ปุ่น คาดปี 67 สรุปลงทุนอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส-สำโรง) เล็งขยาย ศึกษาทางด่วน N1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“คมนาคม” ประชุมร่วมกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน "ญี่ปุ่น" คาดอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส-สำโรง) ศึกษาสรุปแนวทางลงทุนในปี 67 แผนต่อไปญี่ปุ่นพร้อมหนุนศึกษาอุโมงค์เส้นทาง N1 งามวงศ์วานและวิภาวดี

นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม มอบหมายให้ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคม กับกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจร (MOC between MOT and MLIT on the Policy Planning and Technologies of Road Traffic) ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายมนตรี เดชาสกุลสม รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) นายกาจผจญ อุดมธรรมภักดี รองผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) และ พ.ต.อ.สมโภช สุวรรณจรัส รองผู้บังคับการตำรวจจราจร พร้อมด้วยผู้แทนกรมทางหลวงชนบท (ทช.) สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร และกองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุม 

ในการประชุมครั้งนี้ Mr. MURASE Masahiko ผู้อำนวยการกองความร่วมมือระหว่างประเทศ และวิศวกรรมสำหรับโครงการในต่างประเทศ สำนักนโยบาย MLIT ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนฝ่ายญี่ปุ่น แจ้งยืนยันความพร้อมของฝ่ายญี่ปุ่นเพื่อสานต่อความร่วมมือด้านแผนงานนโยบายและเทคโนโลยีการจราจรร่วมกับฝ่ายไทย ซึ่งตลอด 2 ปีของบันทึกความร่วมมือทางวิชาการ (มีผลใช้บังคับถึงเดือนพฤษภาคม 2569) ทั้งสองฝ่ายได้มีการประชุมคณะทำงานย่อยใน 5 โครงการอย่างต่อเนื่อง


ด้านนายปัญญา ชูพานิช ผอ.สนข. กล่าวว่า ผู้แทนหน่วยงานฝ่ายไทยนำเสนอความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะทำงานกลุ่มย่อย และแจ้งการประเมินผลสัมฤทธิ์ของความร่วมมือในช่วงที่ผ่านมา (Mid-term Cooperation Review) และแผนการทำงานในระยะถัดไป รวมถึงการกำหนดสถานะปัจจุบันของโครงการความร่วมมือ เช่น การสานต่อ การขยายขอบเขตหรือเปลี่ยนแปลงหัวข้อโครงการ และกรณีสิ้นสุดกิจกรรมของโครงการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. โครงการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอด (นราธิวาส-สำโรง) ฝ่ายญี่ปุ่นได้ให้การสนับสนุนการศึกษาขั้นต้นให้กับโครงการฯ โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้กำหนดให้โครงการเป็นแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ ซึ่งการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับฝ่ายญี่ปุ่นจะเป็นข้อมูลประกอบการพัฒนาการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ (Feasibility Study) พร้อมกับการออกแบบเพิ่มเติมจากข้อเสนอ และข้อสรุปแนวทางการลงทุนโครงการฯ ในปี 2567 ต่อไป

ทั้งนี้ ในระยะถัดไปฝ่ายญี่ปุ่นจะสนับสนุนในด้านการบริหารด้านความปลอดภัยในอุโมงค์ในเส้นทาง N1 งามวงศ์วานและวิภาวดี

2. โครงการจัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงชนบทเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการศึกษาการพัฒนาโครงข่ายถนนสายรอง รวมถึงถนนท้องถิ่นเชื่อมต่อจากเส้นทางสายหลัก ในช่วงที่ผ่านมาได้มีการสนับสนุนแนวทางการแบ่งลำดับชั้นของถนน (Road Hierarchy) และการออกแบบถนนเพื่อความยั่งยืน โดยในระยะถัดไปจะมีการศึกษาในพื้นที่จริง คาดว่าจะเป็นถนนราชพฤกษ์

3. การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงการเอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า การแลกเปลี่ยนและเรียนรู้แนวทางการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้าที่ฝ่ายญี่ปุ่นมีการดำเนินการในรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จของฝ่ายญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย

4. แนวทางการพัฒนาโครงสร้างศูนย์บริหารจัดการจราจรและอุบัติเหตุของกรมทางหลวง (Highway Traffic Operation Center: HTOC) โดยมีการแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติร่วมกับบริษัท Metropolitan Expressway จำกัด (MEX) อย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทุก 3-4 เดือน เพื่อนำแนวทางฝ่ายญี่ปุ่นมาประยุกต์ใช้กับการบริหารจัดการ HTOC ในการยกระดับประสิทธิภาพการกำกับดูแลความปลอดภัยในโครงข่ายถนนหลวงให้แก่ประชาชน

5. โครงการพัฒนาปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบและบำรุงรักษาทางลอดสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะนำแนวทางการดำเนินการทั้งการตรวจสอบและบำรุงรักษา ความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ และการเตรียมการรองรับภัยพิบัติ เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับฝ่ายญี่ปุ่น ซึ่งในระยะถัดไปจะนำไปสู่การจัดทำคู่มือและแนวปฏิบัติ (Guideline) เพื่อให้เกิดมาตรฐานการดำเนินงานอย่างยั่งยืน รองรับการให้บริการผู้ใช้เส้นทางอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัย


ทั้งนี้ ฝ่ายญี่ปุ่นได้นำเสนอการสาธิตโครงการนำร่องการพัฒนาระบบแผนที่อัจฉริยะโดยรอบบริเวณสถานีกลางบางซื่อในรูปแบบ 3 มิติ โดยผู้ประกอบการญี่ปุ่นบริษัท Pasco และระบบ Infra Doctor โดยบริษัท MEX ซึ่งทั้งสองเทคโนโลยีสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบต่างๆ เช่น ด้านความปลอดภัย ด้านการจราจร การวิเคราะห์ความเสื่อมโทรมของสภาพผิวถนน และโครงสร้างบริเวณโดยรอบของถนน เพื่อเป็นทางเลือกให้หน่วยงานของไทยพิจารณานำเทคโนโลยีดังกล่าวไปใช้งานในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น