xs
xsm
sm
md
lg

กกร.-เคดันเร็นผนึกความร่วมมือลงทุน BCG ญี่ปุ่นย้ำใช้ไทยฐานผลิต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเร็น ยกทัพนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นมาตกลงความร่วมมือในการค้าและการลงทุนกับเอกชนไทย เพื่อตอกย้ำความมั่นใจและความเชื่อมั่น เน้นหนักด้าน BCG และ Low Carbon Society โดยญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญต่อประเทศไทยในการเป็นฐานการผลิตในอาเซียน และมีแผนที่จะย้ายฐานการผลิตจากจีนมาไทยเพิ่มขึ้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)
เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) ครั้งที่ 24 ซึ่ง กกร.ร่วมกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือเคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ว่า ปี 2565 ที่ผ่านมาประเทศญี่ปุ่นได้มีการเดินทางเยือนในระดับผู้นำมาที่ประเทศไทยหลายครั้ง ซึ่งนอกจากการเดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมประชุมเอเปกในช่วงเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนพฤษภาคม ในฐานะแขกของรัฐบาลไทย โดยเป็นการเยือนไทยครั้งแรกในรอบ 9 ปีของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น

โดยผลการหารือระหว่างผู้นำทั้งสองฝ่ายในครั้งนั้นได้บรรลุผลเพื่อเสริมสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่น โดยได้ยกระดับสถานะความสัมพันธ์จากหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ เป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน (Comprehensive Strategic Partnership) อันเป็นผลทำให้เกิดการริเริ่มและความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นอีกหลายด้าน

สำหรับการจัดประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าและเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น (Thai-Japan Joint Trade and Economic Committee 2023) ในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) อันประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย (กกร.) ร่วมกับสมาพันธ์ธุรกิจญี่ปุ่น หรือ เคดันเร็น ซึ่งเป็นองค์กรภาคเอกชนขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น โดยทั้ง กกร.และเคดันเร็น ได้มีความร่วมมือที่ใกล้ชิดกันมาเป็นระยะเวลานาน ทั้งนี้ เคดันเร็นได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการเพื่อส่งเสริมความร่วมมือของภาคเอกชนไทย-ญี่ปุ่น โดยมีบริษัทขนาดใหญ่ของญี่ปุ่นเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และในการประชุมระหว่างภาคเอกชนของทั้งสองฝ่ายในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดียิ่งที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายสนใจร่วมกัน นอกจากนี้ ผู้แทนฝ่ายไทยและญี่ปุ่นได้เห็นชอบลงนาม MOU ระหว่างกัน ซึ่งจะส่งเสริมความร่วมมือให้มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น รวมถึงผลักดันประเด็นที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญต่อไป


นายสาโรช ชยาวิวัฒน์กุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า การจัดประชุมร่วมทางการค้าฯ ไทย-ญี่ปุ่น ถือเป็นโอกาสที่ดีในการพบปะผู้แทนระดับสูงระหว่างสองประเทศกว่า 120 คน นอกจากนี้ ยังได้รับเกียรติจาก Mr. Kazuya Nashida เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในการบรรยายและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วมประชุมอีกด้วย และการลงนามความร่วมมือฯ จะเป็นโอกาสที่ภาคเอกชนทั้งสองประเทศจะได้มีการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น โดยวันนี้มีหัวข้อในการหารือ ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 หัวข้อ “สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และแนวโน้มการลงทุนของไทยและญี่ปุ่น” ส่วนที่ 2 หัวข้อ “มุมมองที่สำคัญของความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างไทยและญี่ปุ่น” และส่วนที่ 3 หัวข้อ “การส่งเสริมการค้าการลงทุนทวิภาคีระหว่างไทยและญี่ปุ่น”


นายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้ ได้มีผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งสองประเทศร่วมให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และนำไปสู่การหารือเชิงลึก โดยมีประเด็นที่มีความสนใจร่วมกัน เป็นหัวข้อที่สะท้อนถึงมุมมองที่กว้างขวางและหลากหลายของพัฒนาการทางด้านเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันของทั้งสองประเทศ อันได้แก่ เศรษฐกิจ BCG, การบริหารจัดการพลังงานสะอาด, การลงทุนด้าน EV, การบริหารจัดการด้าน Logistics รวมทั้งการขยายการผลิตในไทย เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีการบรรยายพิเศษ เรื่อง “Improving Efficiency on International Trade between Japan and Thailand through Digitalization” ซึ่งระบบการค้าดิจิทัลได้พัฒนาขึ้นมากภายหลัง COVID-19 ซึ่งประเทศไทยจำเป็นจะต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจโดยอาศัยระบบดิจิทัล เพื่อเป็นกลไกสำคัญสำหรับการเติบโตในอนาคต
กำลังโหลดความคิดเห็น