xs
xsm
sm
md
lg

เจาะลึก 23 สินค้า GI จากทั่วไทย เชฟมิชลินนำใช้ทำอาหารหรู Fine Dining อัปราคากระฉูด-สมค่าของดี เด่น ดัง ท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เมื่อเร็วๆ นี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เชิญนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และยังได้เชิญนักชิมและกูรูด้านอาหารชื่อดังของเมืองไทยมาร่วมชิมอาหาร Fine Dining (ไฟน์ ไดนิ่ง) ที่ร้านวรรณยุค โดยอาหารที่ทำในครั้งนี้ใช้วัตถุดิบที่ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) จากทั่วประเทศจำนวน 23 รายการ และผ่านฝีมือการปรุงของเชฟชาลี กาเดอร์ เจ้าของรางวัลบิบ กูร์มองด์ จากมิชลินไกด์ประเทศไทย

สำหรับนักชิมและกูรูด้านอาหารที่เข้าร่วมทดลองชิม เช่น เชฟชุมพล แจ้งไพร ผู้รังสรรค์เมนูอาหารไทย ในการประชุม APEC 2022 เชฟเนตร เนตรอำไพ สาระโกเศศ กรรมการรายการเชฟกระทะเหล็กประเทศไทย มาดามตวง อุบลรัตน์ ช่อธีระพฤกษ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารระดับประเทศ คุณช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เจ้าของเว็บไซต์ชื่อดัง The Could คุณพีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ นักรีวิวอาหารชื่อดังเจ้าของเพจ กินกับพีท คุณชลทิพย์ ระยามาศ เจ้าของรางวัล Top Food Influencer จากเวที Influencer Asia 2015

ที่มาของการทำโครงการ

ก่อนที่จะไปทดลองชิมอาหารที่ทำจากวัตถุดิบ GI ขอพาไปทราบที่มาที่ไปของการผลักดันให้สินค้า GI เป็นวัตถุดิบในการทำอาหารกันก่อน โดยนายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เล่าให้ฟังว่า กรมฯ ได้ทำงานร่วมกับมิชลินไกด์ประเทศไทย และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คิดว่าจะทำอย่างไรให้มีการนำสินค้าที่ได้รับการขึ้นทะเบียน GI มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหาร และส่งเสริมให้แหล่งผลิตสินค้า GI เป็นสถานที่ที่คนรู้จักเพิ่มขึ้น และชักจูงให้คนไปท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น จึงได้ร่วมกันทำโครงการนำวัตถุดิบ GI มาทำอาหารขึ้นมา

ในการคัดเลือกวัตถุดิบ GI มีทีมเชฟและทีมเจ้าหน้าที่ของกรมฯ เดินทางลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ ที่เป็นแหล่งผลิตสินค้า GI เพื่อไปเลือกว่าจะใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง ไปดูหมด ทั้งแหล่งผลิตข้าว ผลิตเนื้อ ปลา หอมแดง กระเทียม และผลไม้ เป็นต้น จนในที่สุดได้คัดเลือกมาทั้งสิ้น 23 รายการ เพื่อนำมาทำเป็นอาหารในระดับ Fine Dining

เปิดรายละเอียด 23 วัตถุดิบ GI ชื่อดัง

สำหรับวัตถุดิบที่ได้รับการคัดเลือกมา คือ มะยงชิดนครนายก เป็นผลไม้ชื่อดังจาก จ.นครนายก ผลใหญ่ รูปไข่ มีสีเหลืองส้ม เนื้อแน่น กรอบ มีกลิ่นหอม เม็ดลีบสีน้ำตาลอ่อน รสชาติหวานอมเปรี้ยว ได้รับการขึ้นทะเบียน GI วันที่ 31 มี.ค. 2559 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 2,642 ครัวเรือน มีผลผลิตประมาณ 2,321 ตันต่อปี มีมูลค่าตลาด 928 ล้านบาทต่อปี โดยราคาก่อนขึ้นทะเบียน GI อยู่ที่กิโลกรัม (กก.) ละ 150-200 บาท แต่หลังขึ้นทะเบียนอยู่ที่ กก.ละ 400 บาท

มะขามเทศเพชรโนนไทย จ.นครราชสีมา ทรงผลโค้งเป็นวงกลมหรือโค้งเป็นวงซ้อนกันคล้ายสปริง เมื่อแก่มีลักษณะฝักนูนอวบใหญ่ เนื้อกรอบ สีขาวขุ่นปนชมพู หรือสีขาวขุ่นปนแดง รสชาติหวาน มัน ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 3 พ.ค. 2563 มีผู้ผลิตจำนวน 196 ครัวเรือน ปริมาณผลผลิต 1,500 ตันต่อปี มูลค่าตลาด 120 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 50-60 บาทต่อกก. หลังขึ้นทะเบียน 80 บาทต่อ กก.

ไชโป๊โพธาราม จ.ราชบุรี แปรรูปด้วยวิธีการถนอมอาหารจากภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ มีรสชาติหวานปนเค็มที่กลมกล่อม กรอบ และมีสีน้ำตาลสวย ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 29 ก.ย. 2565 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 17 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 13,015 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 1,300 ล้านบาทต่อปี มีตลาดส่งออกสำคัญ คือ มาเลเซีย ญี่ปุ่น และอเมริกา ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 30-60 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 100 บาทต่อ กก.

ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง เป็นข้าวเจ้าพื้นเมืองพันธุ์เบา ข้าวเปลือกมีเปลือกสีฟาง ข้าวกล้องมีสีแดงจนถึงแดงเข้มในเมล็ดเดียวกัน ข้าวสารเป็นข้าวที่มีเมล็ดสีขาวปนแดงหรือสีชมพู รูปร่างเรียวเล็ก ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 28 มิ.ย. 2549 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 4,065 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 8,000 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 960 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 22-55 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 120 บาทต่อ กก.

ไข่เค็มไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ผลิตจากไข่เป็ด ผลิตเป็นไข่เค็มด้วยกรรมวิธีพิเศษตามภูมิปัญญาของคนไชยา ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 24 ต.ค. 2550 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 4 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 3.625 ล้านฟองต่อปี มูลค่าทางการตลาด 29 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 7 บาทต่อฟอง หลังขึ้นทะเบียน 8 บาทต่อฟอง

ปลาสลิดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ เป็นปลาสลิดพันธุ์ลายเสือและพันธุ์ลายแตงไทย มีลักษณะลำตัวสีดำเข้ม เรียวยาว เนื้อแน่น สีขาวอมชมพู มีไขมันเล็กน้อย นำมาผ่านกระบวนการแปรรูปตามภูมิปัญญาของคนในพื้นที่ ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 27 ส.ค. 2564 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 264 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 1,569 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 219 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 60 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 140 บาทต่อ กก.

ชมพู่เพชร จ.เพชรบุรี เป็นชมพู่เพชรพันธุ์เพชรสายรุ้ง รูปทรงผลคล้ายระฆังคว่ำ ตรงกลางผลป่องเล็กน้อย ผลแก่จัดมีเส้นสีแดงและเส้นสีเขียว เนื้อภายในสีขาว แข็งกรอบ รสชาติหวาน ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 17 เม.ย. 2551 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 120 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 195 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 48.75 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 80 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 250 บาทต่อ กก.

ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี เป็นข้าวหอมมะลิพันธุ์ข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข 15 มีเมล็ดเรียวยาว ถ้าเป็นข้าวขาวจะมีสีขาวใส เป็นเงา มันวาว มีท้องไข่น้อยกว่าร้อยละ 6 เมื่อนำมาหุงสุกจะมีกลิ่นหอมและมีความเหนียวนุ่ม ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 22 ธ.ค. 2560 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 258,900 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 1,367 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 54.68 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 35 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 40 บาทต่อ กก.

มะพร้าวเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เป็นมะพร้าวที่มีผลทรงกลมรียาว เปลือกและเส้นใยมีความเหนียว กะลาสีน้ำตาลแก่ เนื้อมะพร้าวขาวใส เนื้อแน่น 2 ชั้น รสชาติหวาน มัน หอมกะทิ ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 9 เม.ย. 2556 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 48 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 1.689 ล้านลูกต่อปี มูลค่าทางการตลาด 13.51 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 6 บาทต่อลูก หลังขึ้นทะเบียน 8 บาทต่อลูก

พริกบางช้าง จ.สมุทรสงคราม เป็นพริกสดที่มีโคนผลใหญ่ ปลายเรียว เนื้อหนา ไส้ใหญ่ เมล็ดน้อย กลิ่นเฉพาะตัว ผลอ่อนสีเขียวเข้ม ผลแก่สีแดงจัด รสชาติไม่เผ็ดมาก ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 1 ก.ย. 2559


เนื้อโคขุนโพนยางคำ จ.สกลนคร เป็นโคเนื้อลูกผสมสายพันธุ์ยุโรปกับสายพันธุ์พื้นเมือง ผ่านกระบวนการเลี้ยง การแปรสภาพและตัดแต่งอย่างถูกสุขลักษณะตามมาตรฐานสากล ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 28 ก.ย. 2559 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 6,470 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 123,678 กก.ต่อปี มูลค่าทางการตลาด 55.6 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 250 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 450 บาทต่อ กก.

เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน จ.น่าน เป็นเกลือปนดอกเกลือ ซึ่งได้จากการนำน้ำใต้ดินมาผ่านการต้มด้วยเตาดินภูเขา มีลักษณะเป็นสีขาว สะอาดบริสุทธิ์ ไม่มีกลิ่น ละลายในน้ำได้ดี รสชาติเค็ม กลมกล่อม ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 28 ก.ย. 2565 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 52 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 518 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 12.95 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 15 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 25 บาทต่อ กก.

ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา เป็นปลากะพงสด ปลากะพงสดแช่แข็ง ปลากะพงเค็ม และหนังปลากะพงทอดกรอบจากปลากะพงขาวที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักไม่น้อยกว่า 2 กก. รสชาติดี เนื้อขาว นุ่ม ไม่มีกลิ่นโคลนและกลิ่นสาบ ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 28 ก.ย. 2565 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 1,533 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 3,000 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 600 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 100-120 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 200 บาทต่อ กก.

ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย จ.เชียงราย เป็นข้าวมีเมล็ดเล็ก เรียวยาว สีขาวขุ่น เมื่อนึ่งสุกแล้วนุ่มเหนียวติดกันแต่ไม่เละ มีความเลื่อมมันค่อนข้างมาก และมีกลิ่นหอม ข้าวคืนตัวเร็วและไม่แข็ง ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 8 ก.ค. 2562 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 92 ครัวเรือน ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 50 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 65 บาทต่อ กก.

ข้าวก่ำล้านนา (ครอบคลุม 8 จังหวัด เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน) เป็นข้าวเหนียวที่มีเมล็ดสีดำที่ได้จากข้าวก่ำพันธุ์ดอยสะเก็ด ข้าวก่ำพันธุ์อมก๋อย ข้าวก่ำพันธุ์พะเยา และข้าวก่ำพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเป็นข้าวเหนียวดำไวต่อช่วงแสง ปลูกในฤดูนาปี ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 17 ก.ย. 2551 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 92 ครัวเรือน

ปลาดุกร้าทะเลน้อยพัทลุง จ.พัทลุง เป็นปลาดุกอุยตามธรรมชาติ นำมาผ่านกระบวนการหมักด้วยเกลือและน้ำตาลทราย แล้วตากแดด ทำให้ได้ปลาดุกร้าที่ยังคงรูปร่างของปลาดุก ผิวสัมผัสแห้ง หนังมีสีเทาดำ เมื่อผ่านการปรุงสุกจะมีรสเค็มปนหวาน ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 4 พ.ค. 2562 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 7 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 33,600 กก.ต่อปี มูลค่าทางการตลาด 20.16 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 280-300 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 600 บาทต่อ กก.

มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี จ.ราชบุรี เป็นมะพร้าวน้ำหอมพันธุ์เตี้ย สีเขียวที่เรียกว่าหมูสีเขียว มีเปลือกสีเขียว ก้นจีบ ตรงกลางผลป้อม เนื้อหนาสองชั้น น้ำมะพร้าวมีรสหวานและกลิ่นหอมคล้ายใบเตย ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 22 ธ.ค. 2560 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 94 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 5.915 ล้านผลต่อปี มูลค่าทางการตลาด 354 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 10-25 บาทต่อลูก หลังขึ้นทะเบียน 60 บาทต่อลูก

มังคุดเขาคีรีวง จ.นครศรีธรรมราช เป็นมังคุดผลกลมใหญ่ ก้นรี เปลือกหนา ผิวมันวาวสีชมพูถึงสีแดง หรือสีม่วงอมชมพู มีนวลแป้งเคลือบผิว ขั้วและกลีบขั้วสีเขียวสด เนื้อสีขาว หนานุ่ม ฉ่ำน้ำ มีรสชาติเปรี้ยวอมหวาน ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 20 ก.ย. 2564 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 300 ครัวเรือน ปริมาณผลผลิต 1.451 ล้าน กก.ต่อปี มูลค่าทางการตลาด 362 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 85 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 250 บาทต่อ กก.

พริกไทยจันท์ จ.จันทบุรี เป็นพริกไทย 2 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์จันทบุรี และพันธุ์คุชชิ่ง พริกไทยแห้ง ชนิดเม็ดและป่น มีรสชาติเผ็ดร้อน กลิ่นหอมฉุนเป็นเอกลักษณ์ ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 6 ส.ค. 2563 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 904 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 3,663 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 2,197 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 150 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 600 บาทต่อ กก.

หอมแดงศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ เป็นหอมแดงพันธุ์ศรีสะเกษ มีลักษณะเปลือกแห้งมัน สีแดงเข้มปนม่วง หัวมีลักษณะกลม มีกลิ่นฉุน ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 18 มิ.ย. 2563 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 6,640 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 63,000 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 2,205 ล้านบาทต่อปี มีตลาดส่งออกสำคัญ เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 25 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 35 บาทต่อ กก.

กระเทียมศรีสะเกษ จ.ศรีสะเกษ เป็นกระเทียมพันธุ์เบาหรือพันธุ์พื้นเมืองศรีสะเกษ ลักษณะเด่น เปลือกนอกสีขาวแกมม่วง เปลือกบาง หัวแน่น กลิ่นฉุน รสเผ็ดร้อน ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 18 มิ.ย. 2563 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการในชุมชน 491 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 2,180 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 218 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 70 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 100 บาทต่อ กก.

น้ำตาลโตนดเมืองเพชร จ.เพชรบุรี เป็นน้ำตาลที่ได้จากผลข้อต้นตาล มีกลิ่นหอม หวาน ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 9 เม.ย. 2556 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 150 ครัวเรือน ปริมาณการผลิต 360 ตันต่อปี มูลค่าทางการตลาด 72 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 100 บาทต่อ กก. หลังขึ้นทะเบียน 200 บาทต่อ กก.

ไวน์เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เป็นไวน์ที่ทำจากการหมักน้ำองุ่นสดสายพันธุ์ vitis vinifera ปลูก เก็บเกี่ยวและผ่านกระบวนการทำไวน์ตามมาตรฐานที่กำหนด ขึ้นทะเบียน GI วันที่ 27 มิ.ย. 2561 มีผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า 2 ราย ปริมาณการผลิต 1 แสนขวดต่อปี มูลค่าทางการตลาด 280 ล้านบาทต่อปี ราคาก่อนขึ้นทะเบียน 800-1,200 บาทต่อขวด หลังขึ้นทะเบียน 2,800 บาทต่อขวด


รู้จักที่มาวัตถุดิบแล้วไปลองชิมกัน

แต่ก่อนที่จะไปถึงการทดลองชิม ขอสรุปคร่าว ๆ ถึงอาหาร Fine Dining คืออะไรก่อน อาหาร Fine Dining เป็นการรับประทานอาหารรูปแบบหนึ่งที่มีมาตรฐานสูง ตั้งแต่ร้านอาหาร บรรยากาศต้องตกแต่งอย่างหรูหรา เสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มระดับพรีเมียม รสชาติดี อาหารตกแต่งสวยงาม และมีบริการที่ยอดเยี่ยม เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีและมีความสุข โดยการรับประทานอาหารแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 1.30-2.00 ชั่วโมง

โดยอาหารที่ใช้วัตถุดิบ GI ทั้ง 23 รายการมาทำ สามารถทำได้ทั้งเครื่องดื่ม อาหารคาว และของหวาน เริ่มจากน้ำมะยงชิด รสชาติเปรี้ยวอมหวาน ทำจากมะยงชิดนครนายก เมนูกินเล่น คือ ม้าฮ่อมะยงชิด หมูย่างมะขามเทศ ขนมเบื้องญวน โดยใช้วัตถุดิบ คือ มะยงชิดนครนายก มะขามเทศเพชรโนนไทย และไชโป๊โพธาราม อาหารเรียกน้ำย่อย คือ น้ำพริกลงเรือ Daily Relish ใช้วัตถุดิบปลาสลิดบางบ่อ ชมพู่เพชร ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง และไข่เค็มไชยา

สำหรับจานหลัก เป็นต้มข่าไก่ น้ำพริกผัด กุ้งแพทอด กากหมู รวมกันมาในจานเดียว ใช้วัตถุดิบ คือ ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี มะพร้าวเกาะพะงัน พริกบางช้าง ตามด้วยแกงส้มมะละกอ เนื้อเค็ม ต้มกะทิ ใช้วัตถุดิบ คือ เนื้อโคขุนโพนยางคำ เกลือภูเขาบ่อเกลือน่าน ตามด้วยปลาย่าง แกงอ่อม ป่นปลา ข้าวจี่ ใช้วัตถุดิบ คือ ปลากะพงสามน้ำทะเลสาบสงขลา ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเชียงราย ต่อด้วยแกงคั่วหอยแครง กุ้งผัดพริกเกลือ ยำปลาดุกร้ามะพร้าวอ่อน ใช้วัตถุดิบ คือ ข้าวก่ำล้านนา ปลาดุกร้าทะเลน้อย มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี และปิดท้ายด้วยเมนูหลัก ข้าวแกงวรรณยุค ประกอบด้วย ยำเนื้อมังคุดเขาคีรีวง แกงป่ากุ้งสับ หลนเต้าเจี้ยวหมูสับ ไข่ดาววรรณยุค ใช้วัตถุดิบ คือ เนื้อโคขุนโพนยางคำ มังคุดเขาคีรีวง พริกไทยจันท์ หอมแดงศรีสะเกษ กระเทียมศรีสะเกษ และขนมหวาน เป็นขนมเปียกปูน ใช้วัตถุดิบ คือ มะพร้าวเกาะพะงัน น้ำตาลโตนดเมืองเพชร

มั่นใจช่วยสร้างมูลค่าให้สินค้า GI เพิ่ม

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า การผลักดันให้นำวัตถุดิบ GI มาใช้ในการทำอาหาร ไม่เพียงแต่จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI แต่ยังทำให้คนรู้จักว่าสินค้า GI เป็นของดีของชุมชน สามารถนำมาปรุงอาหารรสเลิศได้ และจะช่วยสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาการขึ้นทะเบียน GI ได้เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าตั้งแต่ 1 เท่าตัว ไปจนถึง 2-3 เท่าตัว และมากกว่า

ทั้งนี้ ในปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้ขึ้นทะเบียน GI แล้วรวม 177 รายการ โดยในปี 2565 ที่ผ่านมาสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ระบบเศรษฐกิจฐานรากกว่า 48,000 ล้านบาท ปีนี้ไม่น่าจะต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท และคาดหวังว่าจะสร้างมูลค่าได้เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต และมีส่วนช่วยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจชุมชนของประเทศได้มากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น