xs
xsm
sm
md
lg

สภาองค์การนายจ้างแนะจับทิศ ศก.โลก เร่งบริหารสภาพคล่องรับมือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สภาองค์การนายจ้างฯ แนะทุกส่วนจับทิศเศรษฐกิจโลก ทั้งสหรัฐฯ หลังแบงก์ทยอยล้ม แม้แต่ ศก.จีนที่เสี่ยงด้านอสังหาฯ หวังประเมินแนวทางรับมือโดยเฉพาะแบงก์ไทยจะเข้มงวดปล่อยสินเชื่อมากขึ้นห่วงซ้ำเติม SMEs แนะตุนสภาพคล่อง ย้ำระยะสั้นยังไม่กระทบการจ้างงานหลังท่องเที่ยวต่างชาติยังไหลเข้าไทยทำแรงงานยังคงขาดแคลนราว 3 แสนคน ส่วนภาคส่งออกเริ่มทรงตัวหลังการเติบโตเริ่มชะลอ

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย)
เปิดเผยว่า จากกรณีธนาคารในสหรัฐฯ ต้องปิดตัวลงถึง 3 แห่งภายในระยะเวลาเพียง 1 สัปดาห์นั้นเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องติดตามใกล้ชิดเพราะนี่อาจเป็นสัญญาณของภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีอะไรซุกไว้ใต้พรมโดยเฉพาะหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวนมาก ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงสหรัฐฯ เพราะการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยทำให้ธนาคารกลางต่างๆ ได้ทยอยปรับขึ้นเช่นกัน แม้แต่จีนก็ต้องติดตามเพราะมีปัญหาในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่เอกชนมีการกู้เงินไปลงทุนในหลายประเทศและอาจเป็นฟองสบู่ ส่วนไทยนั้นแม้สถาบันการเงินจะเข้มแข็งเพราะมีประสบการณ์จากวิกฤตปี 40 แต่ก็ยังมีหนี้ที่อยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างมากกว่า 1 ล้านล้านบาทที่มีความเปราะบาง สิ่งเหล่านี้จะกดดันให้ธนาคารในไทยมีความรัดกุมต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจต่างๆ มากยิ่งขึ้น

“ผู้ประกอบการต้องติดตามใกล้ชิด โดยเฉพาะที่ห่วงคือผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อม (SMEs) ที่อาจจะยิ่งเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น และเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นท่ามกลางที่ไทยเองก็กำลังจะยุบสภาอาจเกิดสุญญากาศจำเป็นต้องเตรียมสภาพคล่องไว้ให้มาก ส่วนการขยายการลงทุนบางส่วนอาจชะลอบ้างเพื่อดูความชัดเจน” นายธนิตกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจโลกยังผันผวนแต่การจ้างงานขณะนี้ยังคงมีทิศทางฟื้นตัวเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวของไทยเริ่มมีต่างชาติกลับเข้ามาต่อเนื่องและคาดว่าทั้งปีจะมาไม่ต่ำกว่า 30 ล้านคน ส่งผลให้ตัวเลขของแรงงานต่างด้าวในเดือน ม.ค. 66 ขยับขึ้นมาเป็น 3.3 ล้านคนซึ่งถือว่าสูงสุดในรอบ 5 ปีจากช่วงสิ้นปี 65 อยู่ราว 2.8 ล้านคน โดยนอกเหนือจากความต้องการที่เพิ่มจากภาคท่องเที่ยวและบริการแล้ว อีกปัจจัยหนึ่งจากการที่กระทรวงแรงงานได้มีการแก้ไขปัญหาแรงงานนอกระบบให้กลับมาสู่ระบบ โดยคาดว่าแรงงานต่างด้าวภาพรวมขณะนี้ไทยยังคงขาดแคลนไม่น้อยกว่า 3 แสนคน ขณะที่ภาคส่งออกนั้นค่อนข้างอิ่มตัวการจ้างงานเพิ่มไม่มากนักโดยเฉพาะระดับพนักงานออฟฟิศ เพราะการส่งออกปี 2564 ที่ขยายตัวมากได้รับไว้เกือบหมดแล้วและแนวโน้มการส่งออกค่อยๆ ปรับตัวลดลง

“ภาคท่องเที่ยวและบริการขาดแคลนแรงงานตั้งแต่ระดับบนจนถึงล่าง ตั้งแต่การบริการที่ต้องการเด็กที่รู้หลายภาษา เชฟ เด็กทำความสะอาดห้อง ฯลฯ เหตุผลหนึ่งเพราะคนเหล่านี้ได้กลับไปภูมิลำเนาหรือเรียกว่าแรงงานคืนถิ่นในช่วงโควิด-19 ไปเปิดร้านเอง หรือมีอาชีพใหม่เขาก็ไม่กลับมา ขณะที่แรงงานที่เป็นเด็กจบใหม่ส่วนใหญ่ก็ไม่ตรงต่อความต้องการนายจ้างสะท้อนตัวเลขว่างงานของเด็กจบใหม่จากกระทรวงแรงงานยังมีสูงราว 2 แสนกว่าคนในแต่ละปีจากเด็กจบใหม่ราว 5 แสนคนต่อปี ทำให้ขณะนี้มีเด็กจบใหม่ที่ตกงานค้างอยู่รวม 1.3 ล้านคนและเร็วๆนี้จะมีสมทบเพิ่มอีกราว 5 แสนคน” นายธนิตกล่าว

ทั้งนี้ เด็กจบใหม่มีทั้งประเภทที่นายจ้างไม่ต้องการและเด็กก็ไม่ต้องการนายจ้าง โดยเด็กจบใหม่ส่วนหนึ่งต้องการทำงานฟรีแลนซ์ ดังนั้นผู้ประกอบการต้องปรับตัว เช่น การปรับงานบางส่วนที่สามารถให้ทำที่บ้านได้ (Work from home) เพื่อตอบโจทย์เด็กรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานแบบนี้มากขึ้น แต่โรงงานเองคงทำไม่ได้ก็ต้องปรับตัวในแง่การรักษาแรงงานเดิมไว้แล้วเพิ่มเติมทักษะหรือเทรนนิ่งให้มากขึ้น สวัสดิการต่างๆ ต้องพิจารณาหากเพิ่มได้ เป็นต้น

“การจ้างงานมักจะผกผันไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจไทยซึ่งยังคงพึ่งพิงจากปัจจัยภายนอกทั้งท่องเที่ยวต่างชาติและส่งออก ดังนั้น นายจ้างและลูกจ้างต่างก็ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับตัวรับมือ ในช่วงภาวะเงินฟ้อที่สูง อะไรประหยัดได้ก็ต้องทำ” นายธนิตกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น