xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกอัญมณี ม.ค.ลด 1.19% GIT ชี้เป้าขายจีน-ตะวันออกกลาง-อินเดีย เพิ่มยอด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ม.ค. 66 มูลค่า 573.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 1.19% หากรวมทองคำมีมูลค่า 732.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 4.51% เหตุเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัว ทำกำลังซื้อหด GIT จับตาปี 66 ปัจจัยเสี่ยงเพียบ แนะปรับตัวผลิตสินค้า BCG ลดคาร์บอน สร้างจุดเด่น และควรมุ่งเจาะจีน ตะวันออกกลาง และอินเดีย ที่มีแนวโน้มเติบโต

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือนม.ค. 2566 มีมูลค่า 573.45 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.19% หากรวมทองคำมีมูลค่า 732.92 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 4.51% ซึ่งเป็นการหดตัวลงต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ของปี 2565 เนื่องจากเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าของคู่ค้าไทยหลายประเทศ ปัญหาวิกฤตพลังงาน ที่ส่งผลต่อกำลังการบริโภคของประชาชน

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่าหลายตลาดยังคงขยายตัวได้ดี เช่น สหรัฐฯ เพิ่ม 18.88% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 52.68% ญี่ปุ่น เพิ่ม 11.10% เบลเยียม เพิ่ม 10.28% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 26.25% อิตาลี เพิ่ม 499.16% ส่วนเยอรมนี ลด 0.96% ฮ่องกง ลด 20.03% สหราชอาณาจักร ลด 35.74% และอินเดีย ลด 68.50%

ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับทอง เพิ่ม 34.56% พลอยก้อน เพิ่ม 19.97% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 78.88% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 74.18% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 21.76% เครื่องประดับแพลทินัม ลด 64.42% เพชรก้อน ลด 18.38% เพชรเจียระไน ลด 39.01% เครื่องประดับเทียม ลด 24.06% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า ลด 17.16% และทองคำ ลด 14.81%

นายสุเมธกล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจในปี 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้เตือนให้นานาประเทศคำนึงถึงสิ่งที่คาดไม่ถึง ท่ามกลางโลกที่เสี่ยงต่อความตื่นตระหนกมากขึ้น ทั้งวิกฤตหลังโควิด-19 ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน และล่าสุดแผ่นดินไหวในซีเรียและตุรกี รวมถึงความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจของชาติสำคัญที่อาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งล้วนแต่กระทบต่อภาวะเศรษฐกิจโลก โดยคาดว่าอัตราการเติบโตจะเพิ่มขึ้นเพียง 2.9% ลดจาก 3.4% ในปี 2565

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยจะต้องเร่งปรับตัวและใช้การทำตลาดที่เน้นเกาะกระแส BCG สร้างการมีส่วนร่วมให้เป็นสินค้ารักษ์โลก มีแนวทางการลดก๊าซคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน สร้างอัตลักษณ์ให้สินค้า เพื่อสร้างลักษณะเฉพาะให้เกิดกับสินค้า และใช้นวัตกรรมเข้ามาทำการตลาด และควรมองหาโอกาสจากตลาดที่จะกลับมามีบทบาทอย่างจีนจากการเปิดประเทศ ประเทศตะวันออกกลาง ที่มีกำลังซื้อสูง รวมทั้งตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดีย ที่มีแนวโน้มความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเพิ่มขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น