xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.รับลูก “พ.ร.ก.ภัยไซเบอร์” งัด 3 มาตรการป้องกันมิจฉาชีพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ภาคธนาคารเดินหน้ารับลูก พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามภัยจากไซเบอร์ เมื่อ“แบงก์ชาติ” งัด 3 มาตรการป้องปราบมิจฉาชีพหลอกให้โอนเงิน คาดเริ่มใช้เต็มรูปแบบได้ช่วงกลางปี 2566 หลายฝ่ายเชื่อช่วยลดปัญหาของประเทศ ชี้ภาคประชาชนต้องให้ความร่วมมือให้ข้อมูล biometrics หลังพบตัวเลขการหลวงหลวงให้โอนเงินสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อปีที่ผ่านมา

หลังจากที่เกิดการแพร่ระบาดของกลุ่มมิจฉาชีพในการหลอกลวงประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยโอนเงินออกจากบัญชีผ่านแอปพลิเคชันของธนาคารจนเกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง หรือที่เรียกว่า “ภัยจากไซเบอร์” ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ทำให้ กระทรวงการคลัง กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารของรัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันปัญหาและบรรเทาความเสียหายที่จะเกิดแก่ประชาชน

และเมื่อวันที่ 24 ม.ค.2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติ ร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. .... เพื่อใช้เป็น มาตรการทางกฎหมายควบคุมเป็นการเฉพาะเพื่อคุ้มครองประชาชนอย่างเร่งด่วน สาระสำคัญคือ สถาบันการเงินและผู้ประกอบธุรกิจมีอำนาจแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับบัญชีและธุรกรรมของลูกค้าผ่านระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูล

สิ่งที่น่าสนใจคือ ขั้นตอนในการระงับการทำธุรกรรมกรณีสถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจพบเหตุอันควรสงสัยเอง หรือได้รับแจ้งจากเจ้าพนักงาน สามารถให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรม แล้วแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมต่อไปทันทีเป็นการชั่วคราว

โดยหากตรวจสอบแล้วไม่พบเหตุสงสัยให้สามารถดำเนินการทำธุรกรรมต่อไปได้ และกรณีได้รับแจ้งจากผู้เสียหาย ให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจระงับการทำธุรกรรมและแจ้งให้สถาบันการเงินหรือผู้ประกอบธุรกิจที่รับโอนระงับการทำธุรกรรมไว้ทันทีเป็นการชั่วคราว เพื่อให้ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนภายในเวลา 48 ชั่วโมง และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเกี่ยวกับบัญชีและกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์นั้นภายในเวลา 7 วันนับแต่วันได้รับแจ้ง

นอกจากนี้ ใน พ.ร.ก.ฉบับใหม่นี้ยัง ได้เพิ่มโทษผู้ที่เกี่ยวข้องกับบัญชีม้าให้หนักขึ้น โดยมีโทษจำคุก 2-5 ปี/ปรับ 2-5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ล่าสุด ธปท.ในฐานะผู้กำกับดูแล จึงได้ยกระดับให้เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ทุกสถาบันการเงินต้องดูแลและบริหารจัดการอย่างจริงจัง จึงได้ออกชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อช่วยให้ระบบการเงินมีความปลอดภัย สร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้บริการทางการเงิน

“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความเห็นว่า ภัยทุจริตทางการเงินยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและหลากหลายรูปแบบ เช่น SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ แอปพลิเคชันให้สินเชื่อปลอม และล่าสุดแอปพลิเคชันดูดเงิน ส่งผลกระทบให้ประชาชนต้องสูญเสียทรัพย์สินรายได้ที่เก็บออม รวมทั้งขาดความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัล ซึ่ง ธปท. ได้ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนดังกล่าวไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกภาคการเงินดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี การแก้ปัญหาภัยการเงินในปัจจุบันยังมีจุดที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเข้าถึงประชาชนของมิจฉาชีพที่ทำได้หลายช่องทางและหลายรูปแบบ การอายัดบัญชีผิดปกติที่ยังใช้เวลานาน และการซื้อขายบัญชีม้าที่ยังมีอยู่มาก การแก้ปัญหาในครั้งนี้จะดำเนินการให้ครบวงจร ตั้งแต่การวางมาตรการป้องกันมิจฉาชีพเข้าถึงประชาชน ตรวจจับความเสี่ยงในกรณีที่ประชาชนอาจะตกเป็นเหยื่อ และตอบสนองแก้ไขปัญหาประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อแล้ว

“เข้าใจว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทุกคนลำบาก รายได้หายากขึ้น แต่ค่าครองชีพสูงขึ้น และยังมีความเสี่ยงที่จะถูกหลอกลวงนำเงินที่หายาก และพยายามเก็บออมไว้ไปอีก ธปท.จึงได้ออกแนวนโยบายเป็นชุดมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงินที่ดูแลตลอดเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงิน กำหนดเป็นแนวปฏิบัติขั้นต่ำให้สถาบันการเงินทุกแห่งปฏิบัติตามเป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยรักษาสมดุลระหว่างการบริหารจัดการดูแลความปลอดภัย แต่ไม่ต้องการให้กลายเป็นอุปสรรคหรือภาระมากไปของประชาชนในการใช้ช่องทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยคาดหวังที่จะทำให้อาชญากรรมไซเบอร์ลดลงได้ ยกระดับความปลอดภัยและความมั่นใจในการทำธุรกรรมการเงินมากขึ้น”


3 มาตรการรับมือมิจฉาชีพ

ทั้งนี้ ธปท. ได้ออกมาตรการชุดจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เพื่อกำหนดเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่ทุกสถาบันการเงินต้องปฏิบัติตามใน 3 เรื่อง ได้แก่ 1.มาตรการป้องกัน 2.มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้อง และ 3.มาตรการตอบสนองและรับมือ

โดยมาตรการแรก คือการป้องกันเพื่อปิดช่องทางที่มิจฉาชีพจะเข้าถึงประชาชน 7 ข้อ คือ

1.ให้สถาบันการเงินงดการส่งลิงก์ทุกประเภทผ่าน SMS อีเมล และงดส่งลิงก์ขอข้อมูลสำคัญ เช่น ชื่อผู้ใช้งาน รหัสผ่าน และเลขบัตรประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย

2.ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปิดกั้น SMS และเบอร์ call center ที่แอบอ้างเป็นธนาคาร รวมทั้ง ปิด website หลอกลวงเป็นธนาคาร

3.จำกัดจำนวนบัญชีผู้ใช้งาน mobile banking (username) ของธนาคารให้ใช้ได้ใน 1 อุปกรณ์เท่านั้น เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพให้อุปกรณ์อื่นใช้การโอนเงินหรือทำธุรกรรมทางการเงินแทนลูกค้า

4.สถาบันการเงินต้องมีการแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ mobile banking ก่อนทำธุรกรรมทุกครั้ง เพื่อเป็นการสะกิดเตือนลูกค้าให้นึกถึงความเสี่ยงนี้

5.พัฒนาระบบความปลอดภัยบน mobile banking ให้เท่าทันภัยการเงินรูปแบบใหม่อยู่ตลอดเวลา

6.ยกระดับความเข้มงวดในกระบวนการยืนยันตัวตนขั้นต่ำ ด้วยการใช้เทคโนโลยีเปรียบเทียบข้อมูลอัตลักษณ์ทางกายภาพของลูกค้า (biometrics) เช่น สแกนใบหน้า ในกรณีขอเปิดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันธนาคาร (non-face-to-face) หรือทำธุรกรรมผ่าน mobile banking เช่น โอนเงินมากกว่า 50,000 บาท หรือการปรับเพิ่มวงเงินต่อวันเป็นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป

นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดเพดานวงเงินถอน/โอนสูงสุดต่อวันให้เหมาะสมตามระดับความเสี่ยงของผู้ใช้บริการแต่ละประเภท เช่น ลูกค้าปกติไม่เกิน 200,000 บาทต่อวัน ขณะที่กลุ่มเปราะบาง เช่น เด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ไม่เกิน 50,000 บาทต่อวัน โดยลูกค้าสามารถขอปรับได้ตามความจำเป็น และต้องยืนยันตัวตนอย่างเข้มงวด

ขณะที่มาตรการที่ 2 มาตรการตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัย เพื่อช่วยจำกัดความเสียหายได้เร็วขึ้น และลดการใช้บัญชีม้า 3 ข้อ

1.ธปท. จะกำหนดเงื่อนไขการตรวจจับและติดตามธุรกรรมเข้าข่ายผิดปกติ หรือกระทำความผิด เพื่อให้สถาบันการเงินรายงานไปสำนักงานป้องกันและปราปรามการฟอกเงิน (ปปง.)

2.สถาบันการเงินจะต้องมีระบบตรวจจับและติดตามบัญชี หรือธุรกรรมต้องสงสัยแบบ near real-time เพื่อให้สามารถระงับธุรกรรมได้ทันทีเป็นการชั่วคราวเมื่อตรวจพบ และ

3.จัดให้มีช่องทางแจ้งความออนไลน์

และ มาตรการที่ 3 มาตรการตอบสนองและรับมือเพื่อจัดการปัญหาให้ผู้เสียหายได้เร็วขึ้น 3 ข้อ

1.ให้สถาบันการเงินทุกแห่งต้องมีช่องทางติดต่อเร่งด่วน (hotline) ตลอด 24 ชั่วโมง แยกจากช่องทางให้บริการปกติ เพื่อให้ผู้ใช้บริการแจ้งเหตุได้โดยเร็ว และไม่ใช่การติดต่อกับ AI

2.ธนาคารต้องสนับสนุนการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจพื่อติดตามหาสาเหตุและผู้กระทำผิด รวมทั้งติดตามเงินของลูกค้า

3.ดูแลรับผิดชอบผู้ใช้บริการ หากพบว่าความเสียหายเกิดจากข้อบกพร่องของสถาบันการเงิน โดยการคืนเงินจะพิจารณาเป็นกรณีๆ หลังจากที่ได้ตรวจสอบร่วมกันระหว่างลูกค้าและธนาคาร

“การระงับการทำธุรกรรมการเงิน หรืออายัดบัญชีได้ทันที และการกำหนดโทษผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับบัญชีม้าที่ชัดเจนต้องรอให้ พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่านสภาก่อน โดยสิ่งที่อยากเห็นคือ เรื่องยกระดับมาตรฐานของการบริหารจัดการภัยไซเบอร์จากสถาบันการเงิน ซึ่งการกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำไปปฏิบัติเพื่อไปสู่การบริหารจัดการที่ดีขึ้น เราคาดหวังว่าจะได้เห็นโอกาสที่ประชาชนจะถูกหลอกลวงลดลง รวมถึงลดโอกาสประชาชนเกิดความเสียหายจากภัยไซเบอร์ และหวังว่ามาตรการเหล่านี้จะสร้างความมั่นใจในการใช้บริการทางการเงินดิจิทัลได้ ” ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติม

น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับระบบการชำระเงินและคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท.  กล่าวว่า มาตรการเหล่านี้เป็นเพียงขั้นต่ำ แต่ละธนาคารสามารถไปปรับเพิ่มความเข้มงวดได้ ซึ่งธนาคารจะต้องพิจารณาตามความเสี่ยงลูกค้า เพราะมีความแตกต่างกันของแต่ละกลุ่มลูกค้า โดยสาเหตุที่กำหนดให้สแกนหน้ายืนยันตัวตนตอนโอนเงินวงเงินเกิน 50,000 บาทนั้น เพราะจากข้อมูลพบว่ามิจฉาชีพส่วนใหญ่มักโอนในวงเงินมาก ๆ เกินกว่า 50,000 บาทต่อครั้ง ซึ่งผลกระทบจากครั้งนี้กับประชาชนทั่วไปจะมีเพียง 1% เท่านั้น โดยจะเริ่มใช้ตั้งแต่ มี.ค.นี้

ส่วนวงเงินดังกล่าวเป็นวงเงินขั้นต่ำที่ ธปท.กำหนด แต่หากธนาคารไหนอยากเข้มงวดมากกว่านี้ ก็สามารถกำหนดกรอบวงเงินในการยืนยันตัวตนก่อนโอนใหม่ได้ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลที่มีพบว่าวงเงิน 50,000 บาทเป็นวงเงินที่สมดุลระหว่างความเสี่ยงและความสะดวก เพราะหากดูสถิติพบว่ามีเพียง 1% ที่มีการโอนเงินเกิน 50,000 บาท หรือประมาณ 48 ล้านรายการ และถ้ากำหนดวงเงินต่ำกว่านี้ หากมีการยืนยันบ่อยๆ และถี่ๆ อาจไม่สะดวก ส่วนหลังจากการปรับวงเงิน-โอนเงินที่ต้องทำไบโอเมตริกแล้ว ต่อไปจะขยายไปสู่การเบิกถอนเงินในอนาคต

สำหรับแรงจูงใจคือ การที่ธนาคารต้องดูแลประชาชน ดังนั้น ต้องกำชับธนาคารยกระดับความเสี่ยงขององค์กร แต่ถ้าไม่ปฏิบัติ ธปท. จะมีวิธีกำชับ และบทลงโทษธนาคาร ที่ผ่านมาตอนนี้มีบางธนาคารทยอยดำเนินการตามมาตรการบ้างแล้ว ซึ่งหากใครที่ยังไม่เคยเก็บสแกนใบหน้าจะต้องมาเก็บไม่เช่นนั้นจะยืนยันตัวตนในการโอนเงินเกิน 50,000 บาท ไม่ได้ แม้จะมีความลำบากบ้างเล็กน้อย แต่ก็เพื่อความปลอดภัยของลูกค้าเอง

“มาตรการดังกล่าวจะเห็นว่าทุกธนาคารไม่ได้มีฐานข้อมูลใบหน้าลูกค้าทั้งหมด เช่น บางธนาคารเก็บได้มากกว่า 50% หรือบางธนาคารไม่ถึง จึงจำเป็นต้องปรับฐานข้อมูล เพราะการเก็บข้อมูลไบโอเมตริกเพิ่งเริ่มใช้มาในช่วง 2 ปี และไม่ได้บังคับ อีกทั้งยังมีเรื่องกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ที่ต้องปฏิบัติ ทำให้การเก็บข้อมูลยังไม่ได้มาก แต่หลังจากนี้ลูกค้าสามารถเข้าไปยืนยันตัวตนกับสถาบันการเงินได้”

ไม่เพียงเท่านี้ ธปท.ได้ประสานงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อดูแลความเสี่ยงจากการทุจริตที่เกี่ยวกับบัญชีม้าที่มีการโอนเงินผ่านสินทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น คริปโตเคอร์เรนซี โดยตอนนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส), ธปท. และ ก.ล.ต. ได้หารือร่วมกันเพื่อดูแนวทางในการป้องกันต่อไป

ทุกธนาคารพร้อมลงทุนความปลอดภัย

ด้าน “ผยง ศรีวณิช” ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า สมาคมและสมาชิกพร้อมยกระดับความปลอดภัยของธนาคาร เพื่อรับมือและจัดการภัยทางการเงินออนไลน์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ได้แก่ การป้องกันโดยร่วมมือ งดส่งข้อความ SMS ที่แนบลิงก์ในการติดต่อกับลูกค้า และเร่งพัฒนาระบบป้องกันการทำธุรกรรมทุจริตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการตรวจจับ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างนำเทคโนโลยีมาช่วยจับธุรกรรมต้องสงสัยให้ได้โดยเร็ว ซึ่งได้ร่วมกันออกแบบและพัฒนาระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลทุจริตในภาคธนาคาร เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลบัญชีธุรกรรมต้องสงสัยและบัญชีม้าระหว่างธนาคารเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น รวมถึงการตอบสนองและรับมือ โดยจัดให้มีช่องทางติดต่อด่วน 24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน ดังนั้นลูกค้าที่ตกเป็นเหยื่อสามารถแจ้งเหตุได้โดยตรง

ปัจจุบันมีธนาคารสมาชิกหลายแห่งเริ่มดำเนินการไปแล้ว โดยคาดว่าทั้ง 3 มาตรการจะเริ่มทยอยใช้ และแล้วเสร็จทั้งหมดทุกสถาบันการเงินไม่เกินกลางปี 2566 ส่วนมาตรการอื่นที่ระบบมีความซับซ้อน ต้องใช้เวลาในการพัฒนา สมาคมธนาคารไทยและสมาชิกจะเร่งดำเนินการ ซึ่งคาดว่าจะทยอยแล้วเสร็จทีละส่วน แต่ทั้งหมดน่าจะเสร็จไม่เกินเดือน ธ.ค.2566

“ยืนยันว่าทุกสถาบันการเงินมีการลงทุนเรื่องนี้เพิ่มแน่นอน เพราะถือเป็นการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในด้านความปลอดภัย ซึ่งมาพร้อมกับเทคโนโลยี เพราะธนาคารพาณิชย์หัวใจหลักคือความมั่นใจ เป็นสิ่งที่ธนาคารจำเป็นต้องลงทุนในส่วนนี้ โดยเรายังมองไปถึงระบบกลางที่จะเข้ามาช่วยยกระดับการป้องกันและไม่ให้เกิดการลงทุนที่ซ้ำซ้อน โดยอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ ซึ่งหวังว่าตรงนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างธนาคารรัฐ ธนาคารพาณิชย์ และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่นำข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมิจฉาชีพ ธุรกรรมที่ผิดปกติ ให้สามารถติดตาม และเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นอกจากนี้ สมาคมยังอยู่ระหว่างการประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในการประมวลเกี่ยวกับธุรกรรมหรือคนที่สนับสนุนธุรกรรมที่ผิดปกติ โดยเฉพาะในกรณี 1 บัตรประชาชน แต่มี 100 ซิม หรือการติดตามสัญญาณของซิมการ์ดที่สุ่มเสี่ยง หรือบัตรประชาชนที่ได้ซิมการ์ดที่สุ่มเสี่ยง หากพบพฤติกรรมที่แปลกหรือเข้าข่ายดังกล่าว ควรต้องตรวจสอบ เพื่อให้ได้ข้อมูลในการนำมาคัดกรองการป้องกันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

สถิติภัยโกงเงินปี'65โตกระโดด

เมื่อเร็วๆนี้ ธปท. ได้เปิดเผยแนวโน้มพัฒนาการภัยทางการเงินว่ามีการปรับเปลี่ยนรูปแบบอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการหลอกลวงหลายรูปแบบอาทิ การส่ง SMS หลอกลวง แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ปัจจุบันพัฒนาสู่แอพพ์ดูดเงิน ทำให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2565 - ต้นปี 2566

โดยข้อมูลจาก ธปท. พบว่า มีการหลอกลวงจาก mobile banking ในปี 2564 จำนวนความเสียหาย 1,257 รายการ มูลค่าความเสียหาย 75 ล้านบาท และปี 2565 จำนวนความเสียหาย 6,114 รายการ มูลค่าความเสียหาย 274.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 79% และมีจำนวนความเสียหายเพิ่มขึ้น 72% โดยหากเจาะจงด้านความเสียหายที่เกิดจากแอพพ์ดูดเงิน 5,640 ราย พบว่ามีความเสียหายอยู่ที่ 511 ล้านบาท

ขณะที่ความเสียหายรูปแบบเดิมในที่เกิดจากบัตรเดบิตพบว่า ปี 2564 จำนวนความเสียหาย 0.54 ล้านรายการ มูลค่าความเสียหาย 116.90 ล้านบาท และปี 2565 จำนวนความเสียหาย 0.06 ล้านรายการ มูลค่าความเสียหาย 61.23 ล้านบาท ลดลง 88% และมีจำนวนความเสียหายลดลง 47.62%

ส่วนความเสียหายที่เกิดจากบัตรเครดิตปี 2564 จำนวนความเสียหาย 0.26 ล้านรายการ มูลค่าความเสียหาย 1,089 ล้านบาท และปี 2565 จำนวนความเสียหาย 0.11 ล้านรายการ มูลค่าความเสียหาย 363,88 ล้านบาท โดยมีจำนวนรายการความเสียหายลดลง 57.6% และมีจำนวนความเสียหายลดลง 66.58%

นอกจากนี้ พบว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ จำนวน 13,000 กว่าคดี มีความเสียหายอยู่ที่ 2,600 ล้านบาท ขณะที่ความเสียหายเกิดจากบัญชีม้า พบตัวเลขในการขออายัดบัญชีอยู่ที่ 58,000 บัญชี และมีการขออายัดเงินในบัญชีอยู่ที่จำนวน 5,500 ล้านบาท

ธนาคารตบเท้าตั้งศูนย์แจ้งเหตุ

ปัจจุบัน มีรายงานว่า ธนาคารทั้งสิ้น 12 แห่งได้ประกาศให้ความร่วมมือในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยได้เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุภัยทางการเงินจากมิจฉาชีพของธนาคาร เพื่อให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ หรือตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพ ซึ่งผู้เสียหายสามารถโทร.แจ้งเหตุ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่ออำนวยความสะดวกประชาชน บรรเทาความเสียหายให้เร็วที่สุด ดังนี้

ธ.กสิกรไทย 0-2888-8888 กด 001
ธ.กรุงไทย 0-2111-1111 กด 108
ธ.กรุงศรีอยุธยา 1572 กด 5
ธ.กรุงเทพ 1333 หรือ 0-2645-5555 กด *3
ธ.ไทยพาณิชย์ 0-2777-7575
ธ.ทหารไทยธนชาต 1428 กด 03
ธ.ออมสิน 1115 กด 6
ธ.ซีไอเอ็มบีไทย 0-2626-7777 กด 00
ธ.ไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 0-2697-5454
ธ.ยูโอบี 0-2344-9555
ธ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ 0-2359-0000 กด 8
ธ.อาคารสงเคราะห์ 0-2645-9000 กด 33

จาก 3 มาตรการที่ ธปท. งัดออกมาป้องกันและปราบปรามกลุ่มมิจฉาชีพที่หมายหลอกลวงประชาชนให้โอนเงินนั้น หลายฝ่ายเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับประชาชนได้เพิ่มขึ้น เพราะทุกมาตรการที่ออกมาช่วยเพิ่มความรัดกุมในการโอนเงิน รวมถึงช่วยตรวจจับการเคลื่อนไหวทางการเงินของบัญชีที่น่าสงสัย โดยสิ่งที่น่าสนใจนอกจากการควบคุมวงเงินในการโอนเงินด้วยการสแกนใบหน้า ซึ่งในช่วงเริ่มต้นเชื่อว่าจะเกิดความสับสนในหมู่ประชาชนแล้ว หลายฝ่าย

มองไปที่การ Freeze บัญชีที่น่าสงสัย ซึ่งต่างเชื่อว่าจะช่วยลดความเสียหายจากการถูกหลอกหลวงได้เป็นอย่างดี โดยหลังช่วงกลางปี 2566 เมื่อมาตรการป้องกันต่างๆเริ่มนำออกมาใช้เต็มตัว หลายฝ่ายเชื่อว่าจำนวนการถูกหลอกหลวงให้โอนเงินน่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม มาตรการเหล่านี้จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ส่วนหนึ่งยังอยู่ที่ความร่วมมือของภาคประชาชน โดยเฉพาะการให้ข้อมูล biometrics อย่างการสแกนใบหน้าที่ทุกธนาคารจำเป็นต้องเก็บข้อมูลลูกค้าให้ครบ 100% เพราะหากประชาชนทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือกับภาคธนาคาร เชื่อว่า ปัญหาสังคมอย่างการหลอกลวงให้โอนเงินก็มีโอกาสลดลง หรือหายไปจากสังคมไทยได้เช่นกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น