xs
xsm
sm
md
lg

“ปลัดพาณิชย์”ดันโครงการ Local+ ช่วยสินค้า BCG อัตลักษณ์ นวัตกรรม ทำตลาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์” ได้เปิดโอกาสให้เว็บไซต์ mgronline.com และสื่อมวลชนรายอื่น ๆ สัมภาษณ์ถึงการเพิ่มโอกาสทางการตลาดให้กับสินค้าชุมชน สินค้าท้องถิ่น สินค้า SMEs สินค้าดี เด่น ดัง ของจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ผ่านการจัดทำโครงการ Local+ (โลคัล พลัส) ที่กระทรวงพาณิชย์กำลังดำเนินการอยู่ว่ามีเป้าหมายและทิศทางการดำเนินการอย่างไร ในการเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับสินค้า ทั้งการทำตลาดในประเทศและโกอินเตอร์ออกไปสู่ตลาดต่างประเทศ

นายกีรติกล่าวถึงที่มาของการจัดทำโครงการนี้ว่า เดิมทีกระทรวงพาณิชย์มีนโยบายที่มุ่งช่วยเหลือเศรษฐกิจในระดับฐานราก ตามนโยบายนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อยู่แล้ว และมีมากมายหลายโครงการ ส่วนใหญ่จะมุ่งช่วยเหลือเศรษฐกิจในระดับฐานรากให้เติบโตอย่างเข้มแข็ง มีตั้งแต่ช่วยพัฒนาสินค้า ช่วยทำตลาด ช่วยพัฒนาตัวผู้ประกอบการ

“ปัจจุบัน มีแนวคิดว่า จะมีอะไรใหม่ ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนฐานราก ก็เลยผลักดันโครงการ Local+ ขึ้นมา เป็นโครงการที่จะช่วยสินค้าที่อยู่ในท้องถิ่นทั้งหมด แต่จำกัดอยู่ใน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสินค้า BCG สินค้าอัตลักษณ์ และสินค้านวัตกรรม”

รูปแบบการขับเคลื่อนโครงการ จะมุ่งเน้นใน 3 กลุ่มสินค้าตามที่กำหนดไว้ โดยกลุ่ม BCG เป็นกลุ่มสินค้าที่เน้นการผลิตโดยมุ่งรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ปกป้องสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพ สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าออร์แกนิก อยู่ในกลุ่มนี้หมด กลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มอัตลักษณ์ เป็นกลุ่มสินค้าที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น มีความเป็นอัตลักษณ์ ที่ต้องการจะให้คงอยู่และรักษาไว้ และกลุ่มที่ 3 เป็นกลุ่มนวัตกรรม เป็นกลุ่มที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้าไปผลิตสินค้า ทำให้สินค้ามีความแตกต่าง

เมื่อได้หลักว่าจะขับเคลื่อนสินค้า 3 กลุ่มแล้ว ก็มองถึงหลักที่กระทรวงพาณิชย์ทำมาตลอด คือ ตลาดนำการผลิต ก็เลยไปดูว่า ปัจจุบันมีดีมานด์อะไร สินค้าที่จะเอาไปขาย มีเทรนด์อะไร โดยเทรนด์ตอนนี้ รักสุขภาพ ปกป้องสิ่งแวดล้อม เน้นสินค้าที่เป็นอัตลักษณ์ มีนวัตกรรม กำลังมาแรง พอรู้แล้วว่าลูกค้าอยากได้อะไร ต้องผลิตสินค้าให้ตอบโจทย์ ตรงนี้ กระทรวงพาณิชย์ไปรวบรวม แล้วมาบอกผู้ผลิต จากนั้น หันมาดูซัปพลาย มีอะไรบ้าง ผลิตได้ตรงตามที่ตลาดต้องการมั้ย เพราะที่ผ่านมา จะผลิตตามความถนัด ผลิตสินค้าเกษตร ผลิตสินค้าเกษตรแปรรูป หัตถกรรม ต่อไปทำแบบเดิม ๆ ไม่ได้ ต้องข้อมูลดีมานด์ไปใส่ เพื่อทำสินค้าให้ตอบโจทย์ลูกค้า

นายกีรติกล่าวต่อว่า เมื่อโฟกัสกลุ่มที่จะผลักดันได้ชัดเจน ก็เข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือก ตอนนี้ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กำลังร่วมกับพาณิชย์จังหวัดทั่วประเทศ คัดเลือกสินค้าให้เข้ามาอยู่ในโครงการ Local+ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่แต่งตัวเสร็จแล้ว พร้อมแล้ว และกลุ่มที่ยังแต่งตัวไม่เสร็จ ตอนนี้ เลือกมาได้แล้วประมาณ 500 กว่ารายการ ก็ต้องทำการคัดเลือกต่อไป ใครอยู่กลุ่มที่แต่งตัวแล้ว และใครอยู่ในกลุ่มที่ยังไม่แต่งตัว

โดยกลุ่มที่แต่งตัวเสร็จ จะเข้าไปช่วยเพิ่มช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปีนี้กระทรวงพาณิชย์กำหนดจัดงานแสดงสินค้า Local+ ในส่วนภูมิภาค 4 ครั้ง จะเริ่มตั้งแต่เดือนมี.ค.-พ.ค.2566 ครั้งละประมาณ 50 สินค้า ซึ่งสินค้าที่จะมาอยู่ในงานนี้ ก็ต้องผ่านการคัดเลือกก่อน ต้องเป็นสินค้า BCG อัตลักษณ์ และนวัตกรรม จากนั้นจะเป็นงานใหญ่ที่กรุงเทพฯ งาน Thailand International Local Plus Expo 2023 หรืองาน TILP Expo 2023 จะคัดสินค้าจากแต่ละภูมิภาคมาจัดแสดง ตั้งเป้าไว้ประมาณ 200 สินค้า

“งานที่กรุงเทพฯ ตั้งเป้าจะเปิดตัวสินค้า Local+ ออกสู่ตลาดทั้งในประเทศ และเปิดตัวจำหน่ายออกสู่ตลาดต่างประเทศ โดยจะจัดให้มีการเจรจาจับคู่ธุรกิจออนไลน์กับผู้ซื้อ ผู้นำเข้า และทำฐานข้อมูลสินค้า ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ว่าในแต่ละจังหวัดมีอะไรบ้าง เพื่อเป็นทางเลือกให้ลูกค้าได้เข้าไปดู เข้าไปซื้อสินค้า ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่า การดำเนินโครงการทั้งปี จะช่วยเพิ่มยอดขายให้กับสินค้า Local+ ทั้งหมดได้ไม่ต่ำกว่า 650-700 ล้านบาท”นายกีรติกล่าว

ส่วนกลุ่มที่ยังแต่งตัวไม่เสร็จ จะเข้าไปช่วยพัฒนาทั้งตัวสินค้า การผลิต การปรับดีไซน์สินค้า เพื่อให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ เมื่อมีขีดความสามารถ หรือพัฒนาสินค้าได้ดีขึ้นแล้ว ก็จะดันเข้าสู่กลุ่มแต่งตัวเสร็จ และช่วยหาช่องทางการตลาดให้ต่อไป

นายกีรติสรุปว่า โครงการนี้ มีเป้าหมายเพื่อทำให้คนรู้ว่าประเทศไทยมีสินค้าที่ดี ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ความต้องการของตลาดโลก ทั้ง BCG อัตลักษณ์ และนวัตกรรม โดยการซื้อสินค้าเหล่านี้ ไม่ได้ขายแค่สินค้า แต่ขายเรื่องเล่า ขายที่มา ช่วยสร้างความภูมิใจให้คนซื้อ เป็นการดีต่อใจสำหรับคนรับ ที่สำคัญ จะช่วยให้สินค้าที่ผลิตจากชุมชน ผลิตจากท้องถิ่น มีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น มีรายได้เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจฐานรากขยายตัวมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น