xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ตอบ "ชูวิทย์" เขากระโดงดำเนินการตามคำวินิจฉัย ป.ป.ช. ไม่เลือกปฏิบัติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟท.ตอบ "ชูวิทย์" ดำเนินการที่ดิน "เขากระโดง" ตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช. ยึดขั้นตอนกฎหมายอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ ยื่นศาลปกครองฟ้องกรมที่ดิน รอวินิจฉัยเพิกถอนโฉนดที่ดิน 

ตามที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ได้ออกมาระบุว่า คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติว่า "การออกโฉนดที่ดินเลขที่ 3466 และ 8564 เป็นการออกโฉนดในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นที่สงวนหวงห้ามมิให้ออกโฉนดที่ดิน จึงเป็นการออกโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้แจ้งกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว” การรถไฟแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าของที่ดินบริเวณเขากระโดงไม่ดำเนินการเพิกถอนโฉนดต่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ และเครือญาติ ที่ละเมิด เข้าไปทำประโยชน์ที่ดินบริเวณเขากระโดง รวมถึงไม่ฟ้องศาลยุติธรรมเพื่อเพิกถอนโฉนดเฉกเช่นประชาชนทั่วไป ถือเป็นการละเว้นในการปฏิบัติหน้าที่ นั้น 

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ชัดเจนครบถ้วนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมาการรถไฟฯ ได้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.และตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้องครบถ้วน โดยไม่ได้เพิกเฉยหรือเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด 

โดยสืบเนื่องจากหนังสือของนายชูวิทย์ที่ยื่นต่อกระทรวงคมนาคม ลงวันที่ 6 มีนาคม 2566 เรื่องขอให้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินคดีต่อผู้เกี่ยวข้อง โดยอ้างถึงหนังสือของ ป.ป.ช. ลงวันที่ 14 กันยายน 2554 ถึงการรถไฟฯ เรื่องขอให้ดำเนินการต่อผู้บุกรุกที่ดินของรัฐนั้น รฟท.ขอชี้แจงว่า หนังสือของ ป.ป.ช.ดังกล่าวสืบเนื่องมาจากกรณีที่ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการรถไฟแห่งประเทศไทยกล่าวหาอดีตรักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยกับพวก (ในขณะนั้น) ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยไม่ดำเนินการต่อผู้บุกรุกของการรถไฟฯ ในพื้นที่บริเวณเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์

ซึ่ง ป.ป.ช.ในขณะนั้นได้มีคำวินิจฉัยที่เกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ ในสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริง เรื่องกล่าวหาเลขดำที่ 51910034 เลขแดงที่ 14959054 ในเอกสารหน้าที่ 50 ว่า “ในช่วงเวลาระหว่างที่ผู้ถูกกล่าวหาดำรงตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทยนั้น การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ดำเนินการเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยบริเวณเขากระโดงต่อเนื่องมาโดยตลอด กับกรมที่ดิน และจังหวัดบุรีรัมย์ จนกระทั่งผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตำแหน่งผู้รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย จึงฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกกล่าวหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ไม่ดำเนินการต่อผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ”

“ทั้งนี้ เนื่องจากกรมที่ดินยังไม่เพิกถอนโฉนดที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าว ก็ย่อมเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ถูกกล่าวหากับพวกยังไม่อาจดำเนินคดีต่อผู้บุกรุกได้ในทันที จึงยังไม่เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด ส่วนผู้บุกรุกที่ดินของการรถไฟฯ การรถไฟแห่งประเทศไทยเห็นว่าไม่สามารถฟ้องร้องได้เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีเอกสารสิทธิ ซึ่งออกโดยกรมที่ดิน จนกว่าจะมีการเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวเสียก่อน จึงสามารถดำเนินคดีต่อบุคคลดังกล่าวในข้อหาบุกรุกได้ ผู้ถูกกล่าวหามิได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด”

ซึ่งหมายความว่าการรถไฟฯ จะสามารถดำเนินการต่อผู้บุกรุกในที่ดินของการรถไฟฯ ได้ภายหลังจากกรมที่ดินดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิดังกล่าวแล้ว   

การรถไฟฯ ได้ยึดถือคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.ดังข้างต้นเป็นแนวทาง และถือปฏิบัติตลอดมา โดยการรถไฟฯ ได้มีหนังสือแจ้งให้กรมที่ดินให้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิตั้งแต่ปี 2555-2564 จำนวนอย่างน้อย 5 ฉบับ แต่กรมที่ดินก็ยังไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิทั้งหมดในพื้นที่ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ตามที่ร้องขอแต่อย่างใด

การรถไฟฯ จึงมีความจำเป็นต้องนำคดีฟ้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2564 โดยเป็นการฟ้องเพื่อให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิจำนวนมากกว่า 900 แปลง ซึ่งไม่ใช่เป็นการเพิกถอนเอกสารสิทธิเฉพาะแปลงใดแปลงหนึ่งหรือของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด


@ยันทำตามขั้นตอนกฎหมาย เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ

ในช่วงปี 2555 เป็นช่วงเวลาเดียวกันที่ ป.ป.ช.ได้แจ้งให้การรถไฟฯ ดำเนินการต่อผู้บุกรุกที่ดินการรถไฟฯ มีราษฎรจำนวนหลายรายนำหลักฐาน ส.ค.1 ยื่นคำขอต่อสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์เพื่อออกเอกสารสิทธิในที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณทางแยกเขากระโดง ซึ่งผู้แทนการรถไฟฯ ได้คัดค้านการออกเอกสารสิทธิ ทำให้ราษฎรกลุ่มหนึ่งเป็นโจทก์ฟ้องการรถไฟฯ เป็นจำเลยต่อศาล การรถไฟฯ จึงได้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ และแผนที่ทางแยกเขากระโดงที่ใช้ส่งให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ดินเลขที่ 3466 และเลขที่ 5864 ยื่นต่อศาลเพื่อพิสูจน์สิทธิว่าที่ดินตามที่ราษฎรฟ้องปรากฏอยู่ในแผนที่ทางแยกเขากระโดงเป็นที่ดินของการรถไฟฯ ซึ่งต่อมาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่า

“แผนที่แสดงเขตที่ดินของกรมรถไฟแผ่นดิน สายนครราชสีมาถึงอุบลราชธานี ตอนแยกที่ย่อยศิลา ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ กิโลเมตรที่ 375-650 เป็นที่ดินของการรถไฟฯ” โดยคำพิพากษาดังกล่าวจะผูกพันเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ไม่สามารถนำไปบังคับคดีเพื่อขับไล่บุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่คู่ความในคดีนั้นๆ ได้

เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาที่ค้างคามาตั้งแต่ในอดีตให้เสร็จสิ้น เกิดความชัดเจน การรถไฟฯ จึงได้นำเอกสารหลักฐานต่างๆ และแผนที่ทางแยกเขากระโดงที่ใช้ในกระบวนการพิจารณาของศาลฎีกายื่นฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง เพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่ตำบลเขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ จำนวนประมาณ 900 แปลง ซึ่งเป็นการดำเนินการตามกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย ที่เป็นธรรม เท่าเทียม ไม่มีการเลือกปฏิบัติ แต่อย่างใด ประกอบกับเป็นแนวทางที่การรถไฟฯ ได้เคยดำเนินการในลักษณะเดียวกันกับที่ดินอื่นๆ ของการรถไฟฯ เช่น การฟ้องคดีต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนเอกสารสิทธิที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ บริเวณพังงา-ท่านุ่น จ.พังงา ซึ่งปัจจุบันคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด


@ฟ้องกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง เป็นการรักษาผลประโยชน์สูงสุดของการรถไฟฯ

โดยการรถไฟฯ ได้ยื่นฟ้องกรมที่ดิน และอธิบดีกรมที่ดินต่อศาลปกครองกลาง กรณีไม่ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ออกทับที่ดินการรถไฟฯ ในพื้นที่เขากระโดง จ.บุรีรัมย์ ในคราวเดียวกัน ซึ่งมีพื้นที่ทั้งหมด 5,083 ไร่ จำนวนประมาณ 900 แปลง เพื่อให้ขอเพิกถอนเอกสารสิทธิที่ทับที่ดินของการรถไฟฯ และถือเอกสารสิทธิในที่ดินของการรถไฟฯ ในพื้นที่ตำบล เขากระโดง จังหวัดบุรีรัมย์ออกไปทั้งหมด พร้อมขอให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงินค่าเสียหาย 707 ล้านบาท คดีดังกล่าว ฟ้องต่อศาลปกครองชั้นต้นเมื่อ 23 ก.ย. 2564 ศาลปกครองสั่งรับฟ้องเมื่อเดือนมีนาคม 2565 และเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2566 ศาลปกครองกลางได้มีหมายแจ้งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง คดีหมายเลขดำที่ 2494/2564 ได้กำหนดให้วันที่ 7 มีนาคม 2566 เป็นวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง ซึ่งขั้นตอนต่อไปจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลางต่อไป

ทั้งนี้ หากศาลปกครองมีคำวินิจฉัยถึงที่สุดว่าพื้นที่พิพาทดังกล่าวเป็นที่ดินของการรถไฟฯ แล้ว การรถไฟฯ ก็จะได้ดำเนินการต่อผู้ที่ถูกเพิกถอนเอกสารสิทธิ และจะสามารถนำพื้นที่ดังกล่าวออกจัดประโยชน์เพื่อสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ต่อไป

การรถไฟฯ ขอยืนยันอีกครั้งว่าการดำเนินการในการแก้ไขปัญหาบริเวณที่ดินเขากระโดงที่ผ่านมาได้ปฏิบัติตามกระบวนการขั้นตอนกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด โดยการรถไฟฯ ได้เคยตอบชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวเพื่อให้สาธารณชนได้รับทราบข้อเท็จจริงไปแล้วหลายครั้ง ผ่านทางสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2565 ตามลิงก์แนบ https://drive.google.com/file/d/1F574OucqAv3sltBb_mkaTiX0gwjerdxj/view?usp=sharing, https://drive.google.com/file/d/1RBktAqqSCobT9T8lsoDUcASPWpe8dzKa/view?usp=sharing
กำลังโหลดความคิดเห็น