xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” พร้อมให้คำปรึกษา กรณีผู้ประกอบการพบพฤติกรรมหลบเลี่ยงการจ่ายอากร AD/CVD

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมการค้าต่างประเทศพร้อมให้คำปรึกษาผู้ประกอบการ กรณีพบพฤติกรรมหลบเลี่ยงการชำระอากร AD และ CVD ในการนำเข้าสินค้า เพื่อใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (AC) ป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ และสกัดกั้นไม่ให้ประเทศที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD หลบเลี่ยงถูกเก็บอากรนำเข้า

นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวว่า กรมพร้อมให้คำปรึกษาแก่ผู้ประกอบการที่มีการตรวจสอบพบว่ามีการนำเข้าสินค้าในรูปแบบการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและการอุดหนุน (Anti-Circumvention : AC) กับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อผู้ประกอบการในประเทศ และจะดำเนินการเรียกเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) จากผู้ส่งออกหรือผู้ผลิตรายที่กระทำการหลบเลี่ยงการชำระอากร AD ตามกฎหมายด้วย

สำหรับรูปแบบการหลบเลี่ยงที่สามารถใช้มาตรการ AC จะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ได้แก่ การหลบเลี่ยงโดยการเปลี่ยนแปลงสินค้า ด้วยการแก้ไขดัดแปลงเพียงเล็กน้อย (Slight modification) เช่น การนำสินค้าเหล็กไปเจือธาตุ เพื่อเปลี่ยนพิกัด โดยที่คุณสมบัติและการนำไปใช้ของสินค้ายังคงเดิม หรือการหลบเลี่ยงโดยการเปลี่ยนเส้นทางนำเข้าสินค้า เช่น การส่งสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD และอากรตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) ผ่านประเทศที่ไม่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD (Transshipment) ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเหล็กจากประเทศ ก. โดนมาตรการ AD จากไทย จึงส่งสินค้าดังกล่าวไปยังประเทศ ข. และส่งออกมาไทยอีกทอดหนึ่ง หรือการส่งสินค้าที่ถูกใช้มาตรการ AD/CVD ผ่านผู้ผลิตหรือผู้ส่งออกที่ถูกเรียกเก็บอากร AD/CVD ในอัตราที่ต่ำกว่าตนเอง (Channelling) ยกตัวอย่างเช่น สินค้าเหล็กจากบริษัท ก. ถูกเรียกเก็บอากร AD จากไทยในอัตรา 20% จึงให้บริษัท ข. ที่ถูกเรียกเก็บอากร AD จากไทยในอัตรา 5% เป็นผู้ส่งสินค้าดังกล่าวออกมาไทยอีกทอดหนึ่ง

“กรมได้เพิ่มมาตรการตอบโต้การการทุ่มตลาดและการอุดหนุน หรือที่เรียกกันว่ามาตรการ AC เพื่อใช้แก้ไขปัญหาการหลบเลี่ยงเพื่อชำระอากร AD และ CVD ในการปรับพรุงพ.ร.บ.การตอบโต้การทุ่มและการอุดหนุนซึ่งสินค้าจากต่างประเทศ พ.ศ.2542 ซึ่งมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่พ.ค.2564 และจะเดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ได้รับความเสียหายจากการหลบเลี่ยงมาตรการดังกล่าวต่อไป” นายรณรงค์กล่าว

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการรายใดพบเห็นการนำเข้ามาในรูปแบบการหลบเลี่ยงการใช้มาตรการ AD/CVD สามารถแจ้งข้อมูลมายังกรม เพื่อให้ใช้มาตรการ AC ได้ โดยติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองบริหารการนำเข้าและรับรองถิ่นกำเนิด เพื่อขอรับคำปรึกษาได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 0-2547-5086 หรืออีเมล dft.ac2@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น