xs
xsm
sm
md
lg

กกร.เปิดภาพ ศก.ไทยท่ามกลางความเสี่ยง ชู BCG ตอบโจทย์ความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



3 องค์กรเอกชน ได้แก่ สมาคมธนาคารไทย สภาหอฯ ส.อ.ท. ภายใต้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มองทิศทางความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยต้องเร่งรับมือการเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังก้าวสู่ยุคใหม่ หวังรัฐบาลใหม่เร่งตั้งให้เร็วเพื่อขับเคลื่อน ศก.ต่อเนื่อง พร้อมทำงานร่วมเอกชนใกล้ชิดเป็นทีมเดียวกัน สานต่อนโยบาย BCG ที่เป็นทางรอด ศก.ไทยตอบโจทย์ความยั่งยืน เร่งเพิ่มขีดแข่งขันของประเทศ ตอกย้ำค่าไฟระยะต่อไปไม่ควรห่างจากคู่แข่งทางการค้าเช่นเวียดนามเกินไป

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทยและประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในเวที Ibusiness Forum 2023 The Next Thailand’s Future : จุดเปลี่ยนประเทศไทยสู่ความยั่งยืน ว่า โลกมีความผันผวนสูงและกำลังอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายทั้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ราคาพลังงานที่สูง และการเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 จึงเป็นความท้าทาย ดังนั้น ปี 2566 การเปลี่ยนแปลงหลักจะมี 3 ด้าน ได้แก่ 1. การก้าวสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ รัฐจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอย่างไรให้ผู้ประกอบการรายเล็กปรับตัวเพราะจะเจอกีดกันเพิ่ม 2. เทคโนโลยีเกิดใหม่ ทำอย่างไรให้รู้จักนำมาใช้ เช่น ChatGpt ฯลฯ เพราะเราไม่ใช่เจ้าของเทคโนโลยี และ 3. ต้องปรับโครงสร้างไปสู่ดิจิทัล เพื่อให้เศรษฐกิจแข่งขันได้ในบริบทโลกใหม่ที่เปลี่ยนไป

"เราต้องยกระดับผลิตภาพการผลิต และประชากรที่สร้างมูลค่าเพิ่มที่ลดน้อยลงเพราะเรากำลังอยู่ในสังคมสูงวัยทำอย่างไรให้กลับมาเพิ่มขึ้น มุมของภาคการเงินการธนาคารเห็นพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่จะไปสนับสนุนการค้าและการผลิตจึงได้วางยุทธศาสตร์ไว้ คือ 1. ทำอย่างไรให้ภาคการเงินฯ ไปช่วยยกระดับขีดความสามารถของประเทศ 2. โลกอนาคตจะเป็นการเชื่อมโยงไปสู่ระดับภูมิภาคโดยให้เป็นหนึ่งในแกนนำหลักในอาเซียน 3. ความยั่งยืนคือ การจัดสรรทรัพยากรทางการเงินสนับสนุนทั้งธุรกิจ BCG และความยั่งยืน (ESG) และต้องมุ่งเน้นเติบโตแบบทั่วถึง เท่าเทียมและเป็นธรรม ฯลฯ 4. เร่งพัฒนาบุคลากรแห่งอนาคต" นายผยงกล่าว

สภาหอฯ หวังแต่งตั้งรัฐบาลใหม่โดยเร็ว
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภูมิศาสตร์โลกเปลี่ยนไป ปัจจุบันแบ่งเป็น 2 ขั้วมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกและมาถึงไทย ตลอดเวลาที่ไทยได้วางท่าทีเป็นกลางได้มีส่วนสำคัญต่อการรักษาเศรษฐกิจเอาไว้ ดังนั้นไม่ว่ารัฐบาลใดมาจึงต้องการให้ฟังเสียงเอกชนและร่วมมือกันเพื่อให้ไทยเข้มแข็ง โดยขณะนี้สัญญาณการลงทุนกำลังมาโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม พลังงานสะอาด ฯลฯ จึงต้องร่วมกันดึงดูดการลงทุนเมื่อนักลงทุนเข้ามาก็จะเกิดการจ้างงาน ฯลฯ

“เรากำลังมีเลือกตั้งที่จะทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญคือการอยากให้มีการตั้งรัฐบาลโดยเร็วเพราะการตั้งงบประมาณต่างๆ ในการกระตุ้นเศรษฐกิจจำเป็นต้องมีต่อเนื่อง รวมถึงอยากให้สานต่อ BCG ที่เป็นวาระแห่งชาติให้ต่อเนื่องเพราะเป็นทางรอดของเศรษฐกิจไทย ในอนาคตรัฐต้องทำงานร่วมกับเอกชน สภาหอฯ จึงจะจัดเวทีให้เด็กรุ่นใหม่ นักวิชาการ พรรคการเมือง มาร่วมชี้ช่องทางจะมีซูโลชันอย่างไรให้ไทยได้รับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเข้มแข็งและยั่งยืนในอนาคต แทนที่จะฟังนโยบายของแต่ละพรรคอย่างเดียว” นายสนั่นกล่าว

ส.อ.ท.ชู BCG ตอบโจทย์ ศก.ยั่งยืนของไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยจำเป็นต้องสร้างอุตสาหกรรมใหม่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้หลุดพ้นจากกักดักรายได้ปานกลางและรองรับสังคมสูงวัยโดยมุ่งเน้นใช้นวัตกรรมด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bio, Circular, Green) ที่เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งอุตสาหกรรมดังกล่าวไทยมีความเข้มแข็งและตอบโจทย์โลกแห่งความเป็นจริงในยุคนี้ที่อุตสาหกรรมควรมีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเพื่อทำให้มีการเติบโตแบบยั่งยืนซึ่ง BCG ตอบโจทย์เหล่านี้

“BCG เป็นจุดเปลี่ยนที่จะเป็น Next Future ที่เราต้องเตรียมพร้อมเพื่อใช้สิ่งนี้ดึงเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ หรือ FDI ใหม่ เพราะที่ผ่านมาตลอด 30-40 ปีไทยเน้นเป็นผู้รับจ้างผลิต หรือ OEM ที่เน้นใช้แรงงานเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรม แต่วันนี้แรงงานเราขาดและเข้าสู่สังคมสูงวัย ขณะที่เพื่อนบ้านมีค่าแรงถูกกว่าแถมได้เปรียบจากการมีข้อตกลงเขตการค้า (FTA) จำนวนมาก เราจึงต้องปรับใหม่ภายใต้มุมมองใหม่ที่ว่าต้องมีทั้งอุตฯ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ และแน่นอนว่าไทยเรามีศักยภาพใน BCG” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่จึงจำเป็นที่จะต้องมาสานต่อนโยบายดังกล่าวและอยากให้รัฐบาลที่จะมาเป็น One Thailand เมื่อเอกชนเองก็มีการปรับตัวพัฒนาเพื่อหนีการถูก Disrupt แต่ปัญหาขณะนี้คือความเร็วหรือ Speed ไม่เท่ากัน เอกชนจึงอยากเรียกร้องให้รัฐมีการทำงานที่เร็วหรือ Speed ที่เพิ่มขึ้น ทำอย่างไรให้ระบบรัฐจะลดเวลา ลดความซ้ำซ้อน ฯลฯ รวมถึงการดูแลโครงสร้างพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่แม้จะมีสัญญาณที่งวดใหม่ (พ.ค.-ส.ค. 66) จะลดลงแต่หากเทียบกับเวียดนามที่ขณะนี้อยู่ราว 2.88 บาทต่อหน่วยไทยก็ยังคงห่างอยู่พอสมควร ระยะยาวต้องการให้ไม่ห่างกันจนเกินไปเพื่อที่จะเพิ่มขีดแข่งขันให้กับเอกชนและดึงดูดการลงทุนเพิ่มขึ้น จึงอยากฝากทุกพรรคช่วยฟังเสียงเอกชนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น