ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.พ. 66 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และสูงสุดในรอบ 36 เดือน หลังคนรู้สึกเศรษฐกิจฟื้นจริง ทั้งจากท่องเที่ยว และโควิด-19 คลี่คลาย น้ำมันปรับลดลง ทำผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพ แต่ยังมีความกังวลค่าครองชีพ ขึ้นดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เศรษฐกิจถดถอย ส่งออกลด คาดทั้งปีจีดีพีโต 3-4%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (CCI) เดือน ก.พ. 2566 อยู่ที่ 52.6 ปรับเพิ่มขึ้นจากเดือน ม.ค. 2566 ที่ระดับ 51.7 เป็นการปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 36 เดือนนับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 เป็นต้นมา ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 36.3 เป็น 37.0 และดัชนีความเชื่อมั่นในอนาคตปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 59.2 มาอยู่ที่ระดับ 60.2
ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวม ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวม และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ระดับ 46.8 49.9 และ 61.2 ตามลำดับ ปรับตัวดีขึ้นทุกรายการเมื่อเทียบกับดัชนีในเดือนม.ค. 2566 ที่อยู่ในระดับ 46.0 49.0 และ 60.2 ตามลำดับ
ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น มาจากผู้บริโภครู้สึกว่าเศรษฐกิจเริ่มปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่การท่องเที่ยวฟื้นตัวขึ้นอย่างชัดเจน ทั้งการท่องเที่ยวของคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เริ่มเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย หลังจากที่จีนเปิดประเทศ รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดเม็ดเงินหมุนเวียนในประเทศมากขึ้น และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงอย่างมากจากช่วงครึ่งปีแรก ทำให้ประชาชนรู้สึกผ่อนคลายเรื่องค่าครองชีพลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่ยังทรงตัวสูง รวมถึงความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ตลอดจนการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อของประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่อาจเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลลบต่อการส่งออกของไทยทำให้การส่งออกในช่วงนี้หดตัวลงและมีผลกระทบในเชิงลบต่อกำลังซื้อของประชาชนในทุกภูมิภาค
“การที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องทุกรายการ ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคเริ่มกลับมาเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเริ่มกลับมาฟื้นตัวขึ้น และจะเริ่มจับจ่ายใช้สอยเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับในไตรมาสแรกของปีนี้ และจากนี้จะต้องจับตามองในเรื่องการเลือกตั้ง จะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจเท่าไร บรรยากาศท่องเที่ยวจากนี้เป็นอย่างไร ราคาพืชผลทางการเกษตร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ ทั้งบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เราเที่ยวด้วยกัน ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจมากน้อยแค่ไหน และจะกระตุ้นความเชื่อมั่นได้เพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ โดยหอการค้าไทยประเมินว่าเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง และทั้งปีจะโต 3-4% ค่ากลาง 3.5%” นายธนวรรธน์กล่าว