xs
xsm
sm
md
lg

ไฮสปีด "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" ผลตอบแทนสูง "ไทย-ญี่ปุ่น" สรุปผลศึกษาเตรียมชง ครม.ชุดใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมรางหารือญี่ปุ่น สรุปผลศึกษาไฮสปีด "กรุงเทพฯ-พิษณุโลก" 380 กม. วงเงิน 2.76 แสนล้าน ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) สูงถึง 17.3% เตรียมเสนอคมนาคม รอชง ครม.ชุดใหม่

วันที่ 8 มี.ค. 2566 นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เป็นประธานการประชุมหารือด้านเทคนิคโครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 380 กิโลเมตร (กม.) พร้อมด้วย นายอธิภู จิตรานุเคราห์ รองอธิบดี ขร. ๆและผู้แทนฝ่ายไทย ประกอบด้วย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และผู้แทนจากฝ่ายญี่ปุ่น ประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยวของญี่ปุ่น (MLIT) องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย


นายพิเชฐกล่าวว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาผลการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจและการเงินของโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ฉบับสมบูรณ์ รวมถึงความร่วมมือในอนาคต ซึ่งทางฝ่ายญี่ปุ่นได้มีการนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมทางเศรษฐกิจ รวมทั้งผลประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม พบว่าโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก มีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) อยู่ที่ 17.3% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ 12% โดยมีมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) เป็นบวกตลอดระยะเวลาดำเนินการ จึงก่อให้เกิดความคุ้มค่าในด้านเศรษฐศาสตร์

โครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ เกิดจากไทยและญี่ปุ่นได้มีการลงนามร่วมกันในบันทึกความร่วมมือการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (Memorandum of Cooperation : MOC) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2558 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น


รายงานข่าวแจ้งว่า เดิมไจก้าได้ศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 380 กม. ไว้แล้ว ต่อมาทาง MLIT ได้เข้ามาช่วยทบทวนผลการศึกษาให้เป็นปัจจุบันมากขึ้น โดยคาดว่ามีวงเงินลงทุน 276,226 ล้านบาท ทั้งประเมินการลงทุน ผลตอบแทน และปริมาณผู้โดยสาร โดยหลังจากนี้กรมรางจะสรุปข้อมูลเสนอไปที่กระทรวงคมนาคมเพื่อเตรียมรายงานต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ต่อไป จากนั้นจึงจะศึกษารายละเอียดรูปแบบการลงทุน และเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยเฉพาะการใช้โครงสร้างร่วมเพื่อแก้ปัญหาเขตทางรถไฟ และลดต้นทุนด้านโครงสร้าง


@เปิดแผน "ไฮสปีด" ทั่ว ปท. 2,507 กม. วงเงิน 2 ล้านล้านบาท

สำหรับกระทรวงคมนาคมมีแผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ มีระยะทางรวม 2,507 กม. วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 2,060,563.77 ล้านบาท ประกอบด้วย

สายเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ แบ่งเป็น ระยะแรก เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ระยะทาง 380 กม. มีวงเงินลงทุน 276,226 ล้านบาท อยู่ระหว่างหารือรูปแบบการลงทุน ระยะที่ 2 เส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 288 กม. มีวงเงินลงทุน 232,411.88 ล้านบาท อยู่ระหว่างออกแบบกรอบรายละเอียด

สายตะวันออกเฉียงเหนือ เส้นทางกรุงเทพฯ-หนองคาย แบ่งเป็นระยะแรก เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 253 กม. วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

ระยะที่ 2 เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กม. วงเงินลงทุน 318,137.17 ล้านบาท ปัจจุบันการรถไฟแห่งประเทศไทย( รฟท.) ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณาผลการศึกษารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2571

สายตะวันออก เส้นทางกรุงเทพฯ-ระยอง แบ่งเป็นระยะแรก รถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อสามสนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ระยะทาง 220 กม. วงเงินลงทุน 224,544.36 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

ระยะที่ 2 เส้นทางอู่ตะเภา-ระยอง ระยะทาง 40 กม. วงเงินลงทุน 35,539 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างทำรายงานผลการศึกษาเบื้องต้น

สายใต้ เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน ระยะทาง 211 กม. วงเงินลงทุน 101,880 ล้านบาท ปัจจุบันเตรียมทบทวนผลการศึกษาเดิมโดยของบประมาณปี 2567 ดำเนินการ

เส้นทางหัวหิน-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 424 กม. วงเงินลงทุน 235,162 ล้านบาท ปัจจุบันเตรียมทบทวนผลการศึกษาเดิมโดยของบประมาณปี 2567 ดำเนินการ

เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์ ระยะทาง 335 กม. วงเงินลงทุน 197,167 ล้านบาท เตรียมแผนของบประมาณปี 2568 เพื่อจัดจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมของโครงการ


กำลังโหลดความคิดเห็น