xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.อัดฉีดงบลงทุนลุยธุรกิจใหม่ เตรียมจับมือพันธมิตรรุก Smart Electronic

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุพัฒนพงษ์” มั่นใจโรดแมปมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี ค.ศ. 2050 ทำได้เร็วกว่าแผน หลังมีโครงการ CCUS และนโยบายรัฐส่งเสริมพลังงานสะอาด ช่วยดึงดูดทุนนอกมาไทย ดันยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนแตะ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง ด้าน ปตท.อัดงบลงทุน 30% ลุยธุรกิจใหม่ จับตาดึงพันธมิตรต่างชาติร่วมทุนลุยธุรกิจ Smart Electronic ภายหลังโรงงานผลิตรถอีวีแล้วเสร็จในปีหน้า

วันนี้ (1 มี.ค.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดงาน PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Beyond Tomorrow: นวัตกรรมนำอนาคต” โดยมี ศ.พิเศษ ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่ม ปตท. หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนชั้นนำร่วมงาน


นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แสดงปาฐกถาในหัวข้อโอกาสของประเทศไทยกับทิศทางพลังงานใหม่มุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนว่า จากโรดแมปการมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 ภายใต้การดำเนินงานใน 6 แผนงาน ประกอบด้วย 1. ภาคไฟฟ้าจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์ ลม ให้มากกว่า 50% ภายในปี 2586 2. ภาคขนส่ง มุ่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ตามนโยบาย 30@30 และการลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้า และแบตเตอรี่ 3. ภาคอุตสาหกรรม อาคาร ที่อยู่อาศัย จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงาน ลดความเข้มการใช้พลังงาน 40% ในปี 2593 4. การลดนอกเหนือจากภาคพลังงาน (กระบวนการอุตสาหกรรม เกษตร ของเสีย) 5. ปลูกป่า และ 6. ส่งเสริมมาตรการและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น Carbon Capture Utilization and Storage (CCUS) ตนเชื่อว่าประเทศไทยอาจไปถึงเป้าหมายได้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ โดยเฉพาะการมีโครงการ CCUS เกิดขึ้น ซึ่งกลุ่ม ปตท.มีแผนนำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปกักเก็บไว้ในหลุมผลิตเดิมที่อ่าวไทย และพื้นที่เหมืองแม่เมาะของ กฟผ.

ตลอดระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ปตท.ได้มีการปรับตัวแสวงหาโอกาสการลงทุนสู่พลังงานอนาคตและธุรกิจใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ขึ้นมาในประเทศ นับเป็นการช่วยลดความกังวลการเปลี่ยนผ่านพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดให้กับกลุ่มปตท. และยังลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซฯ จากต่างประเทศ

นอกจากนี้ ยังช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติมาไทยเพิ่มขึ้น ปัจจุบันบริษัทเอกชนได้ประกาศเป้าหมายความเป็นการกลางทางคาร์บอน เพราะที่ผ่านมารัฐบาล ได้เตรียมความพร้อมส่งเสริมการลงทุนพลังงานสะอาดโดยการเปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 5,000-10,000 เมกะวัตต์ ส่งเสริมการตั้งฐานผลิตรถอีวี แบตเตอรี่ และล่าสุดกลุ่ม ปตท.มีแผนจับมือพันธมิตรร่วมลงทุนในธุรกิจ Smart Electronic ขึ้นในประเทศไทยด้วยหลังจากจับมือกับFoxconn ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์อีวี ทำให้มั่นใจว่ายอดขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOI จะกลับขึ้นไปแตะ 1 ล้านล้านบาทอีกครั้ง หลังจากปีก่อนที่ยอดขอรับส่งเสริมการลงทุนฯ อยู่ที่ระดับ 6.6 แสนล้านบาท


ด้านนายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ได้จัดสรรงบลงทุนราว 30% เพื่อใช้ในธุรกิจใหม่ โดยวางเป้าหมายว่าธุรกิจใหม่จะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA) อยู่ที่ 30% ในปี 2573 ซึ่งปัจจุบันบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่ในธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ก็มีกำไรในปี 2565 จากการเข้าไปถือหุ้น 37% ในบริษัท Lotus Pharmaceutical  ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตยาสามัญชั้นนำจากไต้หวัน

นอกจากนี้ ปตท.เตรียมต่อยอดสู่ Smart Electronic ซี่งเป็นอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ในอนาคต หลังจากบริษัท ฮอริษอน พลัส ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างอรุณ พลัส กับ Foxconn ตั้งโรงงานผลิตรถอีวี มูลค่าการลงทุน 3.7 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567 จำนวน 5 หมื่นคันต่อปี

ส่วนธุรกิจ AI & Robotics ก็พยายามทำให้ซัปพอร์ตการทำงานเดิม และต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ เช่น อีวีที่ขับเคลื่อนด้วยอิเล็กทรอนิกส์ และต่อไปจะมีการใช้ฐานจาก AI, Robotics รวมไปถึงอากาศยานยนต์ไร้คนขับ (โดรน) ของ ปตท.สผ. ก็เริ่มดำเนินธุรกิจเข้าไปสำรวจท่อก๊าซฯ หรือ โดรนเพื่อการเกษตร รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงาน

นอกจากนี้ ในส่วนของโลจิสติกส์ ทางปตท.จะดำเนินการเชื่อมโยงระหว่างรถไฟ ทางอากาศ และท่าเรือเพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ โดยจะเข้าสู่ Smart Logistics

“ในส่วนของธุรกิจเดิมของ ปตท.ก็มีการลงทุนเพื่อไปสู่การประหยัดพลังงาน หรือ การลงทุนในพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อปรับตัวเข้าสู่คาร์บอนต่ำ ขณะที่การลงทุนธุรกิจใหม่ นโยบายของ ปตท.เราไม่ทำอะไรคนเดียว ถ้าเราช่วยกัน เชื่อว่ามันจะขับเคลื่อนไปด้วยกัน”


สำหรับงาน PTT Group Tech & Innovation Day จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-3 มี.ค. 2566 เป็นการผนึกกำลังครั้งแรกและครั้งสำคัญของกลุ่ม ปตท.ในการแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีและการลงทุนด้านนวัตกรรมของธุรกิจใหม่เพื่อเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำสอดคล้องนโยบายประเทศ ประกอบด้วย Future Energy พลังงานอนาคต Future Mobility การขับเคลื่อนยานยนต์แห่งอนาคต Health ผ่านธุรกิจ Life Science ทั้งยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เทคโนโลยีการรักษา และการป้องกันโรค, AI และ Robotic โลจิสติกส์ และดีคาร์บอน และ Innovation Ecosystem ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ไม่เพียงทำให้ ปตท.เข้มแข็ง แต่ยังทำให้ประเทศพัฒนามากขึ้น และนำไปสู่การหลุดพ้นจากกับดักการมีรายได้ปานกลาง

ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจประกอบด้วย 1. นิทรรศการแสดงผลงานทางด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและธุรกิจใหม่จากกลุ่ม ปตท. 2. Tech Talk เวทีแลกเปลี่ยนแนวคิดและเทรนด์เทคโนโลยีนวัตกรรมที่น่าจับตาจากภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายและผู้นำด้านนวัตกรรมกว่า 23 หัวข้อและ 3. Pitching Desk พื้นที่นำเสนอนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. กว่า 30 แบรนด์ที่พร้อมให้นักลงทุนและผู้สนใจได้ร่วมพูดคุยต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงานไปด้วยกัน ตลอดจนจะได้พบกับสินค้านวัตกรรมที่พร้อมให้ชอป ชิมจากกลุ่ม ปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น