xs
xsm
sm
md
lg

ศิลปะการม้วนกระดาษสู่งานคราฟท์โดยคนไทยเพียงหนึ่งเดียวที่ทำส่งต่างประเทศ! ขายมานานกว่า 10 ปีแล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“บ้านกระดาษสวย” งานคราฟท์โดยคนไทยเพียงหนึ่งเดียว ที่สร้างสรรค์ผลงานจากความชื่นชอบใน ‘paper quilling’ งานศิลปะโบราณของชาวตะวันตกนิยมใช้เพื่อการประดับ และทำการ์ดส่งให้กันเนื่องในวาระที่สำคัญ สู่อาชีพทำเงิน!


ศิลปะการม้วนกระดาษทำเป็นรูป (พระบรมสาทิสลักษณ์) รัชกาลที่ 5
“ของเราเป็นงานส่งต่างประเทศผมจะมีลูกค้าประจำ ที่หลัก ๆ ทำส่งกันมาดั้งเดิมเลยก็มี ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมัน และญี่ปุ่น ซึ่งกว่า 80% ขึ้นไปของงานส่วนใหญ่เป็น “การ์ด” กับอีกประมาณสัก 15% จะเป็นเครื่องประดับอย่างเช่น ตุ้มหู ที่ทำเป็นหลักอยู่ตอนนี้” คุณหนุ่ม-อภิชาต วรวุฒิวิมลเจ้าของแบรนด์ “บ้านกระดาษสวย” บอกกับผู้เขียนในระหว่างที่มีโอกาสได้ทำความรู้จักกับงานคราฟท์จากpaper quilling ที่เจ้าตัวนำมาร่วมจัดแสดงอยู่ในงาน “สังคมสุขใจ” ปี2566 ที่สวนสามพรานฯ จัดขึ้น พร้อมเล่าให้ฟังถึงเส้นทางของอาชีพนี้ด้วยซึ่งทำมากว่า15 ปีแล้ว “งานที่ผมทำอยู่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘paper quilling’ ก็คือ ขนนกที่เป็นก้านที่ไว้จุ่มหมึกเขียนหนังสือ ในสมัยโบราณ ทีนี้สมัยก่อนเขาก็เอาขนนกอันนี้ มาม้วนกับผ้า เป็นแกนกระดาษหรือม้วนกระดาษ ใช้เป็นแกนในการม้วน มันเลยเป็นที่มาของคำว่า ‘quilling’ งานนี้มีมาตั้งแต่ยุคเรอเนซองส์ มีมาหลายร้อยปี500-600 ปีแล้ว เป็นที่นิยมในหมู่ของทางผู้หญิงสูงศักดิ์ในสมัยนั้น เพราะว่ากระดาษหรืออะไรก็แล้วแต่มันหายาก และคนที่จะทำได้ก็ต้องเป็นผู้หญิงในวังหรือผู้หญิงมีตังค์ เป็นไฮโซ ชาวบ้านจะไม่ค่อยได้ทำเมื่อก่อนเขาก็ทำเป็นงานอดิเรกเป็น “การ์ด” ส่วนใหญ่ เป็นภาพตกแต่ง เป็นชิ้นงานศิลปะชิ้นใหญ่ ๆ ยังไม่มีการดัดแปลงอะไรมากมาย เขาก็ทำกันต่อมาเรื่อย ๆ จนมาถึงปัจจุบันเขาก็เปลี่ยนจากขนนกเป็นแกนไม้ เป็นเข็ม เป็นอะไรก็แล้วแต่ แต่ทีนี้มันก็เป็นที่นิยมอยู่ทางฝรั่งมากกว่า ทางเอเชียไม่ค่อยมีคนทำ อาจจะมีทางเวียดนามบ้าง”

ทำเป็นชิ้นงาเข้ากรอบรูป (พระบรมสาทิสลักษณ์)ในหลวง ร.9
คุณหนุ่มเล่าอีกว่า ตนเองเห็นงานประเภทนี้มาตั้งแต่สมัยเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนเด็ก ๆ ไปเดินเล่นที่ห้างฯ(ไดมารู) สมัยนั้นแล้วเห็นมีคนมาสาธิตเป็นฝรั่ง มาสาธิตวิธีการทำอยู่ที่ห้างฯ ก็เลยจำได้ว่ามันคืออะไร โดยส่วนตัวเองเป็นคนที่ทำงานประดิษฐ์มาตั้งแต่เด็ก ๆ ก็ทำมาเรื่อย ๆ เป็นเด็กผู้ชายที่ชอบการทำงานฝีมือซึ่งคนที่บ้านจะรู้มาตลอดว่า ตนเองทำงานพวกนี้อยู่แล้ว จนกระทั่งเรียนจบก็เข้าทำงานตามระบบปกติอยู่ได้สัก10 กว่าปี ก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว เพราะเครียดมากกับหน้าที่ความรับผิดชอบที่สูงขึ้นตามเวลาของอายุการทำงาน ซึ่งเติบโตขึ้นและมีรายได้ที่สูงขึ้นตามประสบการณ์ของการทำงาน แต่เริ่มไม่ค่อยสนุกเหมือนกับช่วงที่เริ่มทำงานใหม่ ๆ แล้ว จะเอายังไงดีกับชีวิตต่อไป? อยากลาออกมาทำธุรกิจอะไรสักอย่างที่เป็นของตัวเองหลังจากที่ลองค้นหามาเรื่อย ๆ อะไรที่ชอบและอยากทำมากที่สุด ตัดสินใจเลือก ‘paper quilling’ ซึ่งตอนนั้นต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝนด้วยตนเองซ้อมมือเองอยู่นานกว่า 3 ปี เพราะว่าในประเทศไทยยังไม่มีคนทำงานนี้เลย! อุปกรณ์ที่ใช้ก็อาศัยวิธีการประยุกต์ดัดแปลงขึ้นมาเอง โดยใช้ “เข็มเย็บผ้า” ทำเป็นแกนม้วนแทน ส่วนกระดาษต้องใช้ของต่างประเทศเท่านั้น(เรื่องคุณภาพ) และต้องมาตัดเองสำหรับการขึ้นชิ้นงานเพราะบ้านเรายังไม่มีใครทำขาย

4. ลักษณะของชิ้นงานที่ทำเป็นหลัก 85% จะเป็นการ์ดสำหรับการเขียนข้อความต่าง ๆ และอีก 15% จะเป็นเครื่องประดับ เช่น ต่างหู
เป็นของใหม่! ที่คนไทยยังไม่มีใครทำเพื่อขายอย่างจริงจัง
“แรก ๆ ตอนทำได้ใหม่ ๆ ก็ลองเอาไปขายที่ตลาดนัดแถวบ้าน แต่ว่าเอาไปเท่าไรก็เหลือกลับมาบ้านในจำนวนเท่านั้นตามเดิม
คือขายไม่ได้เลย ซึ่งก็อาจจะเป็นเพราะว่าด้วยราคาที่ตั้งเอาไว้ค่อนข้างสูงกว่า ถ้าเทียบกับของขายตามตลาดนัดทั่วไป เลยทำให้ขายได้ยาก แล้วอีกอย่างคือช่องทางการขายตอนนั้น ดูเหมือนว่ามันยังอยู่ไม่ตรงกลุ่มจริง ๆ ของเขาเองด้วย”
คุณหนุ่มเล่าว่าจนเมื่ออยู่ต่อมาได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่ง ซึ่งเป็นรุ่นพี่เขาอยู่ในกลุ่มที่เรียกว่า‘Thai Crafts’ เป็นกลุ่มของคนที่ทำงานฝีมือแล้วขายต่างชาติ ลักษณะคือรวมตัวกันเหมือนเป็น “ตลาดนัด” ที่มีเดือนละหนเดียว คนจัดเป็นชาวต่างชาติ มีการเช่าสถานที่(ห้องจัดเลี้ยงในโรงแรม) และดิวตรงกับทางสถานทูตเพื่อประชาสัมพันธ์งานไปถึงยังชาวต่างชาติที่มาทำงานอยู่ในประเทศไทยให้ได้รู้ดังนั้นกลุ่มลูกค้าหลักจะไม่ใช่เป็นนักท่องเที่ยว แต่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อของราคาแพง จุดสำคัญคือจะต้องเป็นของที่ไม่ซ้ำ! (มีชิ้นเดียวในโลก) การขายแบบไม่มีการต่อรองราคาเลย ซึ่งขายดีมากพอเริ่มเข้าไปขายตรงนั้นได้ ของเริ่มขายออกแล้ว มันก็ทำให้มีกำลังใจขึ้นมา

งานการ์ด
“ทำเป็นการ์ดอย่างเดียวเลยตอนนั้น ฝีมือก็ยังไม่ดีหรอกถ้าย้อนกลับไปดูรูปตอนนั้น แต่ด้วยความที่ไม่มีคนทำไม่มีข้อเปรียบเทียบ ไม่มีคู่แข่งมาเปรียบเทียบ ก็อยู่ได้จนถึงจุดหนึ่งตลาดก็เริ่มอิ่มตัว พอเริ่มอิ่มตัว เราก็เริ่มแตกไลน์มาเป็น “เครื่องประดับ” ทำเป็นตุ้มหูอย่างเงี้ยครับ มันก็ขายได้ระดับหนึ่ง” คุณหนุ่มเล่าว่าช่วงที่อยู่กับ‘Thai Crafts’ ตอนนั้นเริ่มสะสมลูกค้าเป็นของตนเองได้ในระดับหนึ่งแล้ว ก็เลยลาออกจากงานมาเพื่อทำอย่างเต็มตัว ซึ่งต่อมาก็ได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกของ “ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ” ด้วยปัจจุบันในชื่อของ “สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย” (องค์การมหาชน) หรือชื่อย่อว่า “สศท” และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Sustainable Arts and Crafts Institute of Thailand (Public Organization) หรือSACIT“ทีนี้พอ เราเริ่มเข้าไปเป็นสมาชิกของทางศูนย์ศิลปาชีพฯ เมื่อก่อนเนี่ยสิบกว่าปีที่แล้วเขาจะมีงานประจำปี ที่เป็นงานใหญ่ของเขาจะจัดที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา 2 วันแรกเนี่ยจะเป็น Buyer จากต่างชาติก่อน งานมี 4 วัน แล้ววันที่ 3-4 ถึงจะเปิดเป็น Public คนไทยถึงจะเข้าได้ ทีนี้เราก็เริ่มได้ลูกค้าต่างชาติจากตรงนั้น ทำให้งานเราโตขึ้น เราโตขึ้น และจากตรงนั้นเราก็อยู่มาได้จนถึงทุกวันนี้ เริ่มมีการออกร้าน เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น”

งานการ์ดที่โชว์พื้นหลังเป็นสีเข้มตามความถนัดเฉพาะ
เน้นทำส่งต่างประเทศเป็นหลัก เพราะยังมีความนิยมใช้อยู่
น่าทึ่งมาก ๆ ว่าตลอดระยะเวลา15 ปีแล้วที่คุณหนุ่มทำงาน ‘paper quilling’ มาสิ่งหนึ่งที่ยังคงมีอย่างต่อเนื่องไม่เคยเปลี่ยนแปลงเลย ทั้ง ๆ ที่ในบ้านเราเองสิ่งเหล่านี้เริ่มหายไปพร้อมยุคแห่งการสื่อสารที่เปลี่ยน ก็คือว่าต่างประเทศเองที่เป็นลูกค้าประจำของ “บ้านกระดาษสวย” ซื้อขายกันมานานตั้งแต่แรก ๆ แล้ว คุณหนุ่มเล่าให้ฟังว่า ความนิยมในการใช้ “การ์ด”เพื่อเขียนข้อความส่งถึงกันยังคงมีอยู่ตลอด ทั้งไม่ว่าจะเป็นเนื่องในวาระสำคัญต่าง ๆ ช่วงเทศกาลอย่างเช่น คริสต์มาส หรือแม้แต่การใช้การ์ดเขียนถึงกันในชีวิตประจำวัน อย่างเช่น สามีเขียนถึงภรรยา เป็นต้น เห็นได้ว่าการซื้อของลูกค้าประจำกลุ่ม 4 ประเทศที่ตนเองมีอยู่ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมัน และญี่ปุ่น ยังคงมีอย่างเหนียวแน่นมาก ๆ จนยากที่กลุ่มลูกค้ารายใหม่จะสามารถแทรกเข้ามาได้ และด้วยความที่เป็นงานทำมือซึ่งตนเองจะเน้นทำเองทุกชิ้นเพราะลูกค้าจะติดความเป็น “เอกลักษณ์” ที่เฉพาะของคนทำเหมือนกับการทำงานศิลปะ ภาพวาด หรืองานปั้น จะเกิดการจดจำและคนที่ตามผลงานก็จะจำได้ ดังนั้นสิ่งที่ยากไม่ใช่เรื่องของการขายแต่จะเป็นการทำงานที่ไม่ทันกับความต้องการของตลาดมากกว่า เพราะสไตล์ของการทำงานก็คือว่า 80-90% จะเป็นการดีไซน์ขึ้นมาเองแล้วลูกค้าชอบแบบไหนเขาก็จะซื้อไปมากกว่า การออกแบบ1 คอลเล็กชันจะมีให้เลือกได้ 5 โทนสี อาจจะมีTheme หลักบ้างอย่างเช่น การ์ดที่ใช้ในช่วงของคริสต์มาส แต่นอกนั้นจะไม่มีอะไรที่ตายตัว และมีการดูเรื่อง “สี” ที่ใช้แต่ละประเทศเขาอ้างอิงกับสีโทนไหนจะต้องรู้ควบคู่ด้วย และจากออร์เดอของลูกค้าประจำที่มีอยู่ก็ทำงานแบบชนปีพอดี ซึ่งลูกค้าจะรู้กันดีช่วงไหนถึงคิวรับของใคร ๆ แล้ว คริสต์มาสของที่สั่งจองเอาไว้(ต้นปี)จะต้องไปถึงลูกค้าให้ทันในช่วงเดือนไหน ๆ เหล่านี้คือสิ่งที่ต้องมีการจัดการอยู่ตลอดเช่นกัน


“เอกลักษณ์งานของผมก็คือว่า หนึ่งความเป็นเส้นโค้ง เส้นก้นหอยต่าง ๆ ถ้าเป็นคนอื่นทำ มันจะโค้งเท่ากันหมด เหมือนขดสปริงเท่ากันหมดเลย แต่ของผม โค้งของผม มันจะเหมือนหนวดตำลึง จากใหญ่เข้าหาเล็ก มันจะพลิ้ว เราเรียกภาษาศิลปะว่่าสัดส่วนธรรมชาติ หรือสัดส่วนโกลเด้นเรโช เป็นสัดส่วนธรรมชาติเหมือนก้นหอย เหมือนหนวดตำลึง เหมือนหนวดกุ้ง เป็นเอกลักษณ์ ไม่มีใครทำได้ สองคือจะติดกาวทุกเส้น ตลอดเส้น ถ้าเป็นต่างชาติทำหรือคนอื่นทำ เขาจะติดกาวเป็นจุด ๆ บางเส้นเนี่ยมันจะขยับได้ ไม่หลุดแต่ขยับได้ แต่ของผมไม่มีเส้นไหนขยับได้เลย ติดกาวตลอดเส้น แต่เอกลักษณ์ผมคือ ไม่มีรอยกาวให้เห็น และโดยส่วนตัวของผมเป็นคนที่ชอบทำงานกับพื้นหลังสีเข้ม ๆ ด้านหลังการ์ดเป็นสีเข้ม ๆ เพราะฉะนั้นสีเข้มถ้าเลอะกาวแม้แต่นิดเดียว มันจะชัดมาก ก็เลยทำให้เราพอเราฝึกงานมากับงานยาก ๆ ตลอด เราเจองานที่พื้นหลังที่อ่อน ๆ สีครีม สีขาว หรือสีที่เป็นแนวพาสเทล คือสบายมาก”

เครื่องประดับก็มี จะทำเป็นต่างหู
ลักษณะการซื้อขายกันกับต่างประเทศ คุณหนุ่มเล่าให้ฟังว่าลูกค้าจะเป็นกลุ่มของร้านแนวขายของที่ระลึกหรือร้านเครื่องเขียนเป็นหลัก จากที่ดิวตรงกันมานานค่อนข้างมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อกัน ไม่เคยมีเรื่องของการcomplain เรื่องการดีไซน์เพราะทางลูกค้าเองจะเชื่อใจอยู่แล้ว มีแนะนำเรื่องของสีที่แต่ละชาติอ้างอิงกับสีโทนไหนให้ได้รู้ด้วย พอทำงานครบตามจำนวนที่สั่งเอาไว้แล้วก็จะอีเมลหรือส่งข้อความไปบอกผ่านช่องทางต่าง ๆ ที่ใช้สื่อสารกัน ซึ่งลูกค้าก็จะรู้ได้ทันทีว่าหลังจากนั้นแล้วเขาต้องทำอะไรบ้าง การซื้อขายจะไม่ใช่เป็นลักษณะของ “การส่งออก” ที่เป็นทางการ ไม่ยุ่งยาก หรือหากกรณีที่ลูกค้าต้องการให้ส่งสินค้าไปถึงไวกว่าปกติหน่อยเขาก็จะรู้ว่า เขาต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องการบริการนำส่งที่เป็นแบบนำส่งไวหรือด่วนขึ้น มากน้อยแค่ไหนซึ่งในยุคนี้ก็สามารถเช็กราคาทราบได้เลยทันที

ต่างหูจาก paper quilling
ลูกค้าค่อนข้างเฉพาะกลุ่ม แต่เรื่อง “ราคา” ไม่ค่อยมีปัญหาในการซื้อ
เป็นสินค้าที่ต้องอยู่ให้ถูกที่และตรงกับกลุ่มที่มีความชื่นชอบจริง ๆ ซึ่งคุณหนุ่มบอกว่าตนเองจะเน้นออกงานกับทางศูนย์ศิลปาชีพฯ เป็นหลักมากกว่า จะไม่ค่อยไปงานที่ไม่ตรงกับแนวของสินค้า เพราะงานประเภทนี้ต้องได้เห็นชิ้นงานจริงมากกว่าจะสื่อสารผ่านทางรูปภาพเป็นหลัก ลูกค้าใหม่จะยากในการเข้าใจได้หากไม่ใช่เป็นการได้เห็นของจริงก่อน แต่สำหรับลูกค้าเก่าหรือลูกค้าประจำกันมานานถ้าอย่างนั้นจะค่อนข้างรู้จักงานของตนเองเป็นอย่างดีแล้ว เพียงแค่เขาจะรอดูว่ามีการอัปเดตคอลเลกชันใหม่ ๆหรือการดีไซน์ออกใหม่มาเป็นอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งก็ทำให้ในช่วงของวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาตนเองได้รับผลกระทบอยู่บ้าง แต่ว่าก็ทำให้ได้มีเวลาในการทำเพื่อเก็บสะสมงานมาเรื่อย ๆ ด้วย อีกอย่างคือเกิดการทำงานศิลปะชิ้นใหญ่ ๆ ขึ้นมาซึ่งจากความตั้งใจ คืออยากจะมีเป็นรูปโชว์รูปใหญ่ ๆ สำหรับเวลาไปออกงานบ้าง“ตอนนั้นก็เลยทำรูป “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ขึ้นมาจะเข้ากรอบเพื่อไปวางหน้าร้านตั้งโชว์ พอทำเสร็จยังไม่เข้ากรอบเลย ใช้เวลาทำอยู่ประมาณ 1 เดือน พอทำเสร็จถ่ายรูปแล้วลองโพสต์ขึ้นเฟซบุ้คดูสิ ประมาณ2-3 นาทีก็ขายได้เลย! มีคนเอาไปเลย คนไทยเป็นลูกค้าประจำ เป็นลูกค้าเราอยู่แล้ว”

ทำเป็นงานศิลปะเข้ากรอบประดับรูปค้นไม้ (ต้นมอนสเตอร่า)
กลับกลายเป็นว่างานชิ้นนั้นรวมเข้ากรอบแล้ว ขายได้ในราคา3 หมื่นบาท โดยที่ลูกค้าไม่ถามราคาเลยซื้อเลยทันที! และยังมีอีกรายหนึ่งที่เห็นรูปของ “ร.9” ช้าไปกว่ากันเพียง5 นาทีเท่านั้นก็ได้สั่งให้ทำรูป “รัชกาลที่5” ที่เขาเองก็ต้องการอยากจะได้ไปให้ด้วย ในช่วงเวลานั้นก็เลยมีรายได้จากส่วนนี้ที่เข้ามาทดแทนการไปออกร้านไม่ได้พอดี และยังมีอีกชิ้นงานหนึ่งที่ถือว่ายากที่สุดในบรรดาที่ทำมาเลย คือ รูปต้นไม้(มอนสเตอร่า) เป็นงานศิลปะที่เข้ากรอบเพื่อใช้ประดับ ตัวนี้ใช้เวลาทำนานกว่า45 วันเลยทีเดียว เป็นงานยากและเครียดมากแต่ว่าก็เป็นการแตกไลน์สินค้าอีกชนิดหนึ่ง ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าอย่างค่อนข้างดีก็มีหลายคนที่บอกว่าทำไมไม่เน้นทำแบบนี้เป็นหลักไปเลย แต่จากการที่มีออร์เดอลูกค้าประจำอยู่แล้วก็เลยทำให้เลือกที่จะเน้นทางแนวที่มีตลาดเดิมรองรับเป็นหลักก่อน


สำหรับการผลิตและราคาสินค้าของ “บ้านกระดาษสวย” ที่เน้นอยู่หลัก ๆ ที่คุณหนุ่มบอกไปแล้วคือจะเป็น การ์ด กว่า 85% กับมีเครื่องประดับอีก 15% ที่ทำเป็นต่างหู ราคาที่ตั้งไว้สำหรับการจำหน่าย คือ การ์ดราคา 190 บาท/ใบ จะราคาเดียวกันหมดทุกดีไซน์ และ ต่างหู ทุกคู่ก็จะขายราคาเดียวกัน คือ160 บาท การตั้งราคาขายไว้แบบนี้ทำให้การทำงานสามารถกำหนดขอบเขตที่ชัดเจนได้ คุณหนุ่มยังเล่าให้ฟังด้วยเวลาไปออกร้านสิ่งหนึ่งที่ช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านได้เสมอก็คือ จะเป็นต่างหูที่ดูมีสีสันชวนน่าสนใจ แต่ว่าพอถึงเวลาที่ลูกค้าตัดสินใจซื้อน่าแปลกตรงที่ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการซื้อการ์ดมากกว่าโดยเฉพาะที่เป็นลูกค้าที่เป็นผู้ใหญ่ แต่ขณะที่ “ต่างหู” มักจะเป็นกลุ่มลูกค้าที่เป็นวัยรุ่นให้ความสนใจและเลือกซื้อ


นอกจากนี้ หลังจากที่ได้เห็นปรากฏการณ์บางอย่างว่า คนไทยเริ่มหันมาสนใจในการเสพงานทำมือหรืองานคราฟท์กันมากขึ้นในช่วงระยะหลังมานี้ มีการซื้อชิ้นงาน(การ์ด) ไปเข้ากรอบเพื่อการประดับตกแต่งบ้าน เป็นต้น รวมถึงการเริ่มเห็นว่าคนรุ่นใหม่มีความสนใจในการทำงานคราฟท์มากขึ้น และหลายคนทำงานออกมาได้อย่างน่าสนใจเริ่มเห็นการรวมกลุ่ม เพื่อการชมและช้อปงานเหล่านี้ ในบ้านเราค่อย ๆ เป็นกลุ่มที่โตขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน ซึ่งจากการทดลองเปิดเป็น “คอร์ส” สอนสำหรับคนที่สนใจจริง ๆ ได้เข้ามาเรียนรู้กับบ้านกระดาษสวยก็ปรากฎว่า ได้รับการตอบรับในการสมัครเข้ามาเต็มทุกรอบตลอด

จากความชอบสู่อาชีพที่ใช่! คุณหนุ่มได้เขียนแคปชั่นหนึ่งเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ทักษะ ความชำนาญ(Skills) เกิดจากการฝึกฝน เกิดจากการทำบ่อย ๆ เกิดจากการเรียนรู้ข้อผิดพลาด ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีทางลัด หากคุณรักสิ่งใดมากพอ คุณจะมองผ่านความยาก ความลำบาก ในสิ่งเหล่านั้นได้”

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จาก “บ้านกระดาษสวย” ตั้งอยู่เลขที่107-109 ถนนศรีกุญชร ต.พนัสนิคม อ.พนัสนิคม จ.ชลบุรี สอบถามเพิ่มเติม โทร.080-645-2772

* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
กำลังโหลดความคิดเห็น