สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดนครราชสีมา แห่งที่ 2 หรือที่เรียกกันว่า บขส.2 เปิดให้บริการเมื่อปี 2532 ตั้งอยู่บนพื้นที่ 34 ไร่ ริมถนนมิตรภาพ-หนองคาย อ.เมือง จ.นครราชสีมา คนที่เคยเดินทางด้วยรถทัวร์สายอีสานจะทราบกันดีว่า ที่นี่เป็นทั้งสถานีขนส่งกระขายไปยังทั่วทุกภาคของประเทศ และเป็นจุดพักรถระหว่างทางจากกรุงเทพฯ มุ่งหน้าสู่ปลายทางจังหวัดภาคอีสาน
เมื่อไม่นานมานี้ กลุ่มบริษัทไทยสงวน ซึ่งเป็นผู้บริหารสถานีขนส่ง บขส.2 ได้เปิดคอมมูนิตีมอลล์โดยใช้ชื่อโครงการ “พาข้าว” บนพื้นที่ 7 ไร่ ติดสถานีขนส่ง บขส.2 ด้วยงบลงทุนร่วม 100 ล้านบาท วางตำแหน่งเป็นจุดพักรถ รองรับทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล ด้วยที่จอดรถกว่า 200 คัน ผู้โดยสารที่มาใช้บริการสถานีขนส่งฯ รวมทั้งชาวจังหวัดนครราชสีมา และนักท่องเที่ยว
ชื่อของพาข้าว หมายถึง สำรับอาหารของภาคอีสาน คล้ายกับขันโตกของภาคเหนือ เดิมกลุ่มบริษัทไทยสงวนมีแผนที่จะปรับปรุงสถานีขนส่ง บขส.2 ด้วยงบลงทุนหลักพันล้านบาท โดยพาข้าวจะเป็นโครงการรอง แต่ได้พักโครงการปรับปรุงสถานีขนส่งไว้ก่อน หันมาทำโครงการพาข้าวเพื่อยกระดับสถานีขนส่ง รองรับลูกค้าที่เดินทางข้ามจังหวัดทั้งรถส่วนตัวและรถทัวร์
โครงการพาข้าวเริ่มก่อสร้างตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน 2564 มีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 เป็นลักษณะจุดพักรถโดยใช้รูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ สอดคล้องกับการเดินทางที่มีหลายรูปแบบ ตั้งแต่เครื่องบิน รถไฟ รถโดยสาร และรถส่วนตัว กลุ่มเป้าหมายของพาข้าวเป็นกลุ่มผู้ใช้รถส่วนตัวผสมกับคนที่จะมาขึ้นรถโดยสารที่สถานีขนส่ง บขส. 2
ศรรบ หล่อธราประเสริฐ กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัทไทยสงวน เปิดเผยว่า พาข้าวเป็นคอมมูนิตีมอลล์ ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เดินทางผ่านโคราชไปต่างจังหวัดและอำเภอต่างๆ แวะพักรถที่พาข้าวเพื่อมาเลือกซื้อและเลือกรับประทานอาหารขึ้นชื่อที่นี่ รวมถึงผู้โดยสารที่เดินทางมาสถานีขนส่งเพื่อมาขึ้นรถโดยสารประจำทาง ประชาชนชาวโคราชและนักท่องเที่ยว
.
พาข้าวเกิดขึ้นจากความมุ่งมั่นตั้งใจ เพื่อยกระดับการให้บริการแก่ประชาชนและชุมชน ซึ่งกลุ่มไทยสงวนอยู่กับธุรกิจการเดินทางมาตลอด เรายกระดับสถานีขนส่งด้วยการพัฒนาพื้นที่บริเวณด้านหน้า 7 ไร่ จากทั้งหมด 30 ไร่ เพื่อเป็นจุดพักรถที่ทุกคนต้องแวะ หวังตอบโจทย์คนเดินทาง เพราะโคราชเป็นเมืองหน้าด่านสู่ภาคอีสาน และเป็นจุดเช็กอินก่อนเดินทาง
แมกเนตหลักของโครงการ ประกอบด้วยร้านเคเอฟซี ไดร์ฟทรู เปิด 24 ชั่วโมง, เซเว่นอีเลฟเว่น, คาเฟ่อเมซอน รูปแบบ Co-working Space ขนาด 2 ชั้น, บานาน่าไอที, ร้านขายยาฟาสซิโน ฯลฯ รวมทั้งร้านอาหารในเครือไทยสงวน “สวนผัก” ซึ่งเป็นร้านอาหารชื่อดังในตำนาน นอกจากนี้ยังมีศูนย์อาหารที่ชื่อว่าสถานีอาหาร และช่วงกลางคืนมีข้าวต้มแปะย้ง อีกหนึ่งร้านตํานานในโคราช
นอกจากนี้ ยังมีพื้นที่อเนกประสงค์ บริเวณใต้หลังคาผ้าขาวม้า และลานจอดรถขนาดใหญ่ที่ สามารถทํากิจกรรมต่างๆ หรือเป็นจุดนับพบเพื่อทํากิจกรรมได้ตลอดวัน และยังมีกิจกรรม Love Market และฟู้ดแฟร์ที่จะจัดเป็นประจําทุกเดือน ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะเปิดสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charger Station) วางเป้าหมายเป็นที่หนึ่งในจุดนัดพบของเมืองโคราช
แนะนำไฮไลต์ในโครงการ เริ่มจาก ร้านอาหารสวนผัก สโลแกนสีเขียวแห่งความอร่อย กับ 10 เมนูเด็ดต้องสั่ง อาทิ ไก่โคราชแช่เหล้า กระเพาะปลาน้ำแดง ยำถั่วพลู แกงส้มแปะซะปลาช่อน เส้นใหญ่ราดหน้าเนื้อปลาเก๋าน้ำแดง เป็ดร่อน เนื้อปลากะพงผัดพริก (สูตรแปะย้ง) กุ้งแช่น้ำปลา ยำกุ้งฟู และไส้กรอกไข่เค็ม อยู่ที่บริเวณโซนด้านหน้า เปิดตั้งแต่ 10.00-24.00 น.
ถัดมาจะเป็น ร้านไทยสงวน OTOP แหล่งรวมของฝากจากนครราชสีมา อาทิ เส้นหมี่ กุญเชียง หมูยอ เปิดตั้งแต่ 10.00-22.00 น. ต่อด้วย ร้านขายยาฟาสซิโน เปิดตั้งแต่ 09.00-21.00 น., ร้านอะโตมี่ ร้านเครื่องสำอางความงามและสุขภาพจากเกาหลี, คลินิกทันตกรรมโคลอนบี และ ร้านเคเอฟซี ไดร์ฟทรู ในรูปแบบสแตนด์อะโลน เปิดตลอด 24 ชั่วโมง
อีกฝั่งหนึ่งหน้าลานใต้หลังคาผ้าขาวม้า เริ่มจาก ร้านบานาน่า ร้านอุปกรณ์สินค้าไอที ทั้งโทรศัพท์ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และแกดเจ็ดอื่นๆ มากมาย ถัดมาจะเป็น สถานีอาหาร เปิด 24 ชั่วโมง ทางเชื่อมไปยัง บขส.2 จะมีร้านขายโทรศัพท์มือถือ ถัดจากนั้นจะเป็นร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น เปิด 24 ชั่วโมง ห้องน้ำ และ ร้านคาเฟ่อเมซอน รูปแบบ Co-working Space ขนาด 2 ชั้น
ไฮไลต์จะอยู่ที่ สถานีอาหาร (Food Station) แหล่งรวมร้านเด็ดโคราช อาทิ ก๋วยเตี่ยวเกวียนโคราช, ข้าวมันไก่รักกาแฟเฮียเอ้, ข้าวขาหมูเลิศโอชา, ต.ตระกูลลูกชิ้นปลา, บีบี ร้านอาหารอิสลาม, ส้มตำ-ผัดหมี่ ริมเขื่อมไทรงาม, ข้าวแกงแม่เอียด และข้าวต้มแปะย้ง เปิด 17.00-05.00 น. กับเมนูกระเพาะหมูผัดเกี้ยมไฉ่ และปลากระพงสูตรแปะย้ง พร้อม รปภ.ดูแลและมีไว-ไฟฟรี
ที่ผ่านมาสถานีขนส่งผู้โดยสารแต่ละแห่ง ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจ การแข่งขันของสายการบินโลว์คอสต์แอร์ไลน์ รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่เคยมีคำสั่งหยุดการเดินรถชั่วคราว แต่เมื่อประชาชนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ สถานีขนส่ง บขส.2 แห่งนี้ยังคงทำหน้าที่เชื่อมต่อระหว่างภาคอีสานกับกรุงเทพฯ และเส้นทางข้ามภาคไปยังภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้
นับเป็นการปรับตัวของสถานีขนส่งผู้โดยสาร ที่ยุคนี้รูปแบบการเดินทางของประชาชนไม่ได้มีเพียงแค่รถทัวร์ แต่ยังรวมไปถึงรถส่วนตัว โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ต้องพักชาร์จไฟฟ้าทุกๆ 250-300 กิโลเมตร และด้วยทำเลประตูสู่ภาคอีสาน คาดหวังว่าพาข้าวจะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจของเมืองโคราชเติบโต และมีรายได้ของเมืองเพิ่มมากขึ้น
พิกัด GPS คลิก : https://goo.gl/maps/ZnPKUpH6wwQNvYW9A
ขอบคุณภาพ : Phakhaokorat-พาข้าว โคราช, Korat Daily
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)