xs
xsm
sm
md
lg

‘SAMART’ ยุคใหม่ ปรับฐานธุรกิจสร้างรายได้ระยะยาว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่านของกลุ่มสามารถ ที่เผชิญทั้งความถาโถมของคลื่นดิจิทัล ต่อเนื่องถึงการเปลี่ยนแปลงในทิศทางธุรกิจ ทำให้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ‘กลุ่มสามารถ’ อยู่ในช่วงของการปรับฐานให้โครงสร้างธุรกิจมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น เตรียมที่ทะยานไปข้างหน้ารับกับยุคดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

นับตั้งแต่การล่มสลายของ i-mobile ที่ส่งผลกระทบต่อ ‘สามารถ ดิจิตอล’ ประกอบกับการหมดสัญญาสัมปทาน และโครงการต่างๆ ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสายการบินของ ‘สามารถ เทลคอม’ ต่อเนื่องจนวิกฤตการแพร่ระบาดที่ทำให้ ’สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์’ ต้องเลื่อนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ออกไป เนื่องจากธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบ

เปิดมาในปี 2566 นี้ ‘กลุ่มสามารถ’ ออกมาเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนถึงทิศทางของธุรกิจในปีนี้ ที่ตั้งเป้าการเติบโตไว้กว่า 75% หรือราว 16,000 ล้านบาท โดยที่มีโครงการรอรับรู้รายได้ในปีนี้แล้วกว่า 9,000 ล้านบาท ทำให้เป้าหมายที่วางไว้สามารถเกิดขึ้นได้จริง

แม้ว่าในปีที่ผ่านมาการคาดการณ์รายได้ของกลุ่มสามารถจะไม่ถึงหมื่นล้านบาท แต่เมื่อเข้าไปดูรายละเอียดในทุกกลุ่มธุรกิจต่างมีการเติบโตที่น่าสนใจ โดยเฉพาะแนวทางในการสร้างรายได้ระยะยาว (Recurring) จากการให้บริการโซลูชันรูปแบบใหม่ ทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน

วัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ รองประธานกรรมการบริหาร ฝ่ายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาธุรกิจใหม่ บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจในปีนี้ว่า มีความสดใสจากปัจจัยทั้งการเปิดประเทศ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และการลงทุน การเร่งพัฒนาองค์กร และบริการภาครัฐสู่ดิจิทัล รวมถึงการเลือกตั้ง ที่เปิดโอกาสให้เศรษฐกิจเกิดเติบโตได้ในระยะยาว

“ปีนี้ต้องเป็นปีที่ทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ จากปัจจัยหลายๆ อย่างที่เอื้ออำนวย ทั้งการระดมทุนจาก SAV ที่เตรียมยื่นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ทำให้ไม่ได้มองแค่ธุรกิจวิทยุการบินแล้ว แต่ยังสามารถขยายไปต่อได้ในอนาคต”


ในขณะที่สามารถ เทลคอม (SAMTEL) ยังคงเป็นแหล่งรายได้หลักแก่กลุ่มสามารถ ซึ่งจากการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมาทำให้มีรากฐานที่แข็งแรงขึ้น และมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งในปีที่ผ่านมา SAMTEL มีรายได้เติบโต 13% รวมถึงเพิ่มสัดส่วนรายได้ประจำขึ้น 11% ได้สัญญาโครงการต่างๆ มูลค่าเพิ่มราว 19%

ส่วนในสายธุรกิจ Utilities & Transportations (U-trans) นอกจาก SAV ที่ถือหุ้น ‘แคมโบเดีย แอร์ ทราฟฟิคเซอร์วิส’ (CATS) ซึ่งให้บริการวิทยุการบินในกัมพูชา ที่เริ่มกลับมาสร้างรายได้ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา หลังผู้คนทั่วโลกเริ่มเดินทาง ยังมีโครงการเกี่ยวกับสถานี และสายส่งไฟฟ้าแรงสูง โซลูชันระบบรักษาความปลอดภัย และโครงการสลากบรรจุภัณฑ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (Direct Coding) กับกรมสรรพสามิตที่เริ่มให้บริการแล้ว ทำให้ในปีที่ผ่านมา เติบโตราว 28% โดยเฉพาะรายได้ประจำที่เพิ่มขึ้นถึง 198%

“ในสายธุรกิจ U-Trans นับเป็นธุรกิจที่ diversify จากธุรกิจหลักอย่างการสื่อสาร และโทรคมนาคม ออกมาเพื่อหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ และมีโอกาสที่เติบโตอีกมากในอนาคต”

ส่วนสายธุรกิจ สามารถ ดิจิตอล (SDC) เริ่มรับรู้รายได้จากการให้บริการดิจิทัล ทรังก์ เรดิโอ (DTRS) รวมกับการพัฒนาธุรกิจดิจิทัลที่จับกระแสของธุรกิจสายมู และการดูดวงที่เริ่มสร้างรายได้มากขึ้น ทำให้ในปีที่ผ่านมา SDC มีรายได้เติบโตถึง 60% โดยในส่วนของธุรกิจ SDC มีโอกาสที่จะต่อยอดเมกะเทรนด์ในฝั่งของคอนซูเมอร์ต่างๆ อย่างเรื่องของการท่องเที่ยว ที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ การนำ AI และ FinTech เข้าไปต่อยอดจากความเชี่ยวชาญเดิมที่มีอยู่

“เมื่อเห็นถึงแนวโน้มทางธุรกิจที่เกิดขึ้น ถ้าสามารถนำจุดแข็งของกลุ่มอย่างความผูกพันกับหน่วยงานภาครัฐ เข้าถึงผู้ใหญ่บ้านในระดับรากหญ้าระดับหมู่บ้านได้ มีคอนเทนต์ที่หลากหลายให้ต่อยอดทำให้เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วการทำตามเป้าหมายที่วางไว้ไม่ใช่เรื่องยาก”

***SAMTEL เดินหน้าบริการโซลูชันครบวงจร


จง ดิลกสมบัติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่าในปีที่ผ่านมา SAMTEL มีการเซ็นสัญญาโครงการใหม่มูลค่ารวมกว่า 5,300 ล้านบาท ทำให้ปัจจุบันมีงานในมือมูลค่าถึง 7,300 ล้านบาท ในขณะที่ตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ไว้ที่ 6,000 ล้านบาท หรือเติบโตราว 14%

“จากรายได้ Backlog ที่มีจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ราว 3,000 ล้านบาท ทำให้โฟกัสหลักในปีนี้จะอยู่ที่การเซ็นสัญญาโครงการใหม่ๆ ให้ได้ราว 10,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มสัดส่วนรายได้ระยะยาวให้เกินครึ่งของรายได้ในแต่ละปี”

ก่อนหน้านี้ SAMTEL สามารถที่จะสร้างรายได้ประจำขึ้นไปอยู่ในสัดส่วนราว 55% แต่หลังเผชิญการแข่งขันในธุรกิจการบินในประเทศทำให้พลาดการเซ็นสัญญาโครงการต่างๆ ซึ่งนับว่าเป็นช่วงดีที่ทำให้ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดที่ผ่านมา ไม่ได้รับผลกระทบจากธุรกิจการบินมากนัก

พร้อมกันนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา SAMTEL ได้มีการปรับฐานของธุรกิจมาเป็นผู้ให้บริการเทคโนโลยีระดับมืออาชีพ ที่ให้บริการแบบครบวงจร ทั้งในแง่ของการมีผลิตภัณฑ์และโซลูชันให้เลือกใช้งานหลากหลายในการทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ดิจิทัล การเข้าไปลงทุนในการให้บริการแอปพลิเคชันสาธารณูปโภคเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐมาใช้งาน ต่อเนื่องไปยังการเชื่อมระบบชำระเงิน การดูแลทางด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี การให้บริการคลาวด์ จนถึงเรื่องของพลังงานสะอาด และความยั่งยืน

“จากการที่ SAMTEL สามารถให้บริการไอทีโซลูชันได้หลากหลาย ทำให้สามารถตอบโจทย์องค์กรธุรกิจที่ต้องการอีโคซิสเต็มที่ครบวงจร และเป็นจุดแข็งที่หาคู่แข่งได้ยากในตลาดนี้”

ขณะเดียวกัน SAMTEL ยังเร่งหาแหล่งรายได้ใหม่ๆ ในการเข้าถึงงบประมาณที่หลากหลาย ทั้งหน่วยงานภาครัฐที่ต้องปรับมาใช้งานดิจิทัล หน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ไม่ต้องพึ่งพาเงินของรัฐ รวมถึงภาคเอกชน เพื่อหางบประมาณที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโครงการของภาครัฐมากนัก

ทั้งนี้ ในปี 2566 มีโครงการที่ SAMTEL เตรียมเข้าประมูลทั้งในฝั่งของบริการสาธารณูปโภคกว่า 5,500 ล้านบาท ด้านซิเคียวริตีราว 1,500 ล้านบาท และบริการสาธารณะราว 3,000 ล้านบาท ทำให้เชื่อว่าจะสามารถสร้างรายได้ประจำให้เพิ่มขึ้นได้อีก

***U-Trans เป้ารายได้ 5,000 ล้านบาท

ธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ สามารถคอร์ปอเรชั่น ให้ข้อมูลเสริมถึงเป้าหมายรายได้ในสายธุรกิจ U-Trans ที่ 5,000 ล้านบาทนั้น ส่วนหนึ่งมีรายได้ที่รอการรับรู้ในปีนี้แล้วกว่า 4,000 ล้านบาท จาก 3 ส่วนหลักๆ คือการให้บริการวิทยุการบิน การให้บริการในส่วนของสถานี และสายส่งไฟฟ้าต่างๆ รวมถึงงาน Direct Coding ที่ต่อเนื่องมาในปีนี้

“ปีนี้เทด้า มีรายได้รอรับรู้แล้วกว่า 2,700 ล้านบาท เมื่อรวมกับการพิมพ์รหัสควบคุมบนบรรจุภัณฑ์อีกราว 980 ล้านบาท ที่มีโอกาสเพิ่มขึ้นจากการเปิดเมือง และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทำให้เชื่อว่าสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้”

ขณะเดียวกัน ในส่วนงานของ Direct Coding ยังมีโอกาสที่จะขยายไปให้บริการสู่สินค้า เครื่องดื่มอื่นๆ ที่มีการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงการที่ทาง CATS ได้ทำการต่ออายุสัมปทานไปอีก 10 ปี ทำให้รวมอายุสัมปทานในกัมพูชาทั้งสิ้น 49 ปี แม้ว่าจะผ่านมาแล้ว 20 ปี แต่ยังเหลืออีกถึง 29 ปี และมีโอกาสที่จะขยายระยะเวลาต่อด้วย

***DTRS เริ่มสร้างรายได้

อีกหนึ่งธุรกิจที่ SDC เข้าไปลงทุนหลายพันล้านบาทช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่าง DTRS หรือบริการวิทยุสื่อสารคมนาคมระบบดิจิทัล เพื่อให้หน่วยงานความมั่นคงปลอดภัย และหน่วยงานสาธารณะได้ใช้งานเริ่มสร้างรายได้ในระยะยาวให้แก่กลุ่มสามารถ

จากเป้าหมายรายได้ของ SDC ที่ 5,000 ล้านบาท ราว 4,750 ล้านบาท จะมาจากการให้บริการ DTRS ที่ปัจจุบันให้บริการแล้วแก่กระทรวงมหาดไทย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมถึงมีโอกาสที่จะเพิ่มฐานลูกค้าเป็นกว่า 120,000 รายในปีนี้ด้วยการขยายไปยังกลุ่มผู้ใช้ที่เป็นหน่วยงานสาธารณสุข ตำรวจ โรงพยาบาล ต่อเนื่องถึงหน่วยงานราชการ และภาคเอกชนที่ต้องการระบบสื่อสารไว้ใช้งาน

นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจใหม่สายมู อย่าง Lucky Heng Heng ที่ดูแลในส่วนของ Horoworld และ MuKeting ยังได้รับความนิยมจากผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งในปีนี้จะทำงานร่วมกับสถานที่สักการะต่างๆ เพื่อเชื่อมระบบ หรือเข้าไปช่วยให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับการทำบุญให้สะดวกมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น