xs
xsm
sm
md
lg

ส่อง รฟท.ประมูลตู้เสบียง กำหนดทุนจดทะเบียนส่อล็อกสเปก แนะปรับธุรกิจขายแพกเกจตั๋วพ่วงอาหาร รถขนส่ง เหมือนสายการบิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส่อง รฟท.ประมูลตู้เสบียงรถด่วน-ด่วนพิเศษ 10 ขบวน กำหนดทุนจดทะเบียน 5 ล้านบาท ส่อล็อกสเปก แนะถึงเวลาปรับตัว ทำธุรกิจเชิงรุก ทำตลาดก่อนผลิต ขายตั๋วแพกเกจ พ่วงอาหาร รถขนส่ง

นายเอกรัช ศรีอาระยันพงษ์ ผู้อำนวยการศูนย์ประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟ สามารถใช้บริการซื้ออาหาร และเครื่องดื่มภายในตู้เสบียงที่สะอาด ถูกหลักอนามัย และมีราคาเป็นธรรม การรถไฟฯ จึงได้ออกประกาศเชิญชวนภาคเอกชนที่สนใจเสนอโครงการจัดบริการและเสนอราคาค่าเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถ กลุ่มขบวนรถด่วน/ด่วนพิเศษ ในเส้นทางสายเหนือและสายใต้ ระยะเวลา 3 ปี จำนวน 10 ขบวน ประกอบด้วย

สายเหนือ
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13/14 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ
ขบวนรถด่วนที่ 51/52 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ

สายใต้
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 37/38 กรุงเทพฯสุไหงโกลก-กรุงเทพฯ
ขบวนรถด่วนที่ 83/84 กรุงเทพฯ-ตรัง-กรุงเทพฯ
ขบวนรถด่วนที่ 85/86 กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ

ทั้งนี้ ผู้สนใจยื่นเสนอโครงการฯ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
1. ต้องเป็นนิติบุคคล
2. ต้องมีวัตถุประสงค์ดำเนินการตามประกาศเชิญชวนฯ
3. ต้องมีทุนจดทะเบียนที่ชำระมูลค่าหุ้นแล้วไม่น้อยกว่า 5,000,000 บาท


การรถไฟฯ กำหนดเปิดขายเอกสารฯ ตั้งแต่วันที่ 7-22 กุมภาพันธ์ 2566 ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. และกำหนดชี้แจงรายละเอียดแก่ผู้ยื่นเสนอโครงการฯ ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 10.00 น. กำหนดยื่นซองเสนอโครงการฯ ในวันที่ 10 มีนาคม 2566 เวลา 10.00-10.30 น. ประกาศผลผู้ได้รับสิทธิการเช่าในวันที่ 31 มีนาคม 2566 เวลา 10.30 น. ณ งานการเช่าและบริหารสัญญา กองบริหารสัญญาธุรกิจด้านโดยสาร ชั้น 2 อาคารสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) โทรศัพท์ 0-2220-4628 หรือ 0-2621-8701 ต่อ 5286
สามารถดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1Y-eKT-zdBWa-sCedV7qYYGbYJYPbYaWX/view?usp=drivesdk


รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการดังกล่าวมีนายประสิทธิ์ ถาวร ผู้อำนวยการฝ่ายบริการโดยสารปฏิบัติการแทนผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นผู้ลงนามในประกาศ

โดยกำหนดให้ผู้ยื่นเสนอโครงการต้องเสนอราคาค่าเช่าเป็นรายเดือนที่จะชำระให้แก่การรถไฟฯ ไม่น้อยกว่าอัตราค่าเช่าที่กำหนดไว้

สายเหนือ รวม 4 ขบวน
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13/14 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ (มี 2 ขบวน ) กำหนดอัตราค่าเช่าต่อเดือน (ไม่รวมภาษี) ที่ขบวนละ 51,200 บาท

ขบวนรถด่วนที่ 51/52 ก.กรุงเทพฯ-เชียงใหม่-กรุงเทพฯ (มี 2 ขบวน ) กำหนดอัตราค่าเช่าต่อเดือน (ไม่รวมภาษี) ที่ขบวนละ 52,200 บาท

สายใต้ รวม 6 ขบวน

ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 37/38 กรุงเทพฯ-สุไหงโกลก-กรุงเทพฯ (มี 2 ขบวน) กำหนดอัตราค่าเช่าต่อเดือน (ไม่รวมภาษี) ที่ขบวนละ 58,800 บาท

ขบวนรถด่วนที่ 83/84 กรุงเทพฯ-ตรัง-กรุงเทพฯ (มี 2 ขบวน) กำหนดอัตราค่าเช่าต่อเดือน (ไม่รวมภาษี) ที่ขบวนละ 53,300 บาท

ขบวนรถด่วนที่ 85/86 กรุงเทพฯ-นครศรีธรรมราช-กรุงเทพฯ (มี 2 ขบวน) กำหนดอัตราค่าเช่าต่อเดือน (ไม่รวมภาษี) ที่ขบวนละ 53,600 บาท

ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาประกอบด้วย 1. การเสนอราคา 30 คะแนน 2. การเสนอโครงการ 20 คะแนน 3. สถานที่ประกอบการ 20 คะแนน 4. การสาธิต 30 คะแนน
โดยต้องได้คะแนนรวมทุกหัวข้อไม่น้อยกว่า 80 คะแนน ผู้ชนะจะต้องได้รับคะแนนรวมสูงสุด ทั้งนี้ หากมีคะแนนเท่ากันจะถือเอาคะแนนของข้อ 2, 3, 4 รวมกันสูงสุดจะได้รับสิทธิการเช่า


@กำหนดทุนจดทะเบียน ส่อล็อกสเปก

รายงานข่าวแจ้งว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2565 รฟท.ได้ประมูลโครงการจัดบริการ และเสนอราคาค่าเช่าสิทธิจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มบนขบวนรถ (ตู้เสบียง) กลุ่มขบวนรถด่วนพิเศษชุด 115 คัน เส้นทางสายเหนือ, สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายใต้ จำนวน 8 ขบวน 4 เส้นทาง โดยมีเอกชนซื้อซอง 3 ราย แต่เข้ายื่นซองเสนอราคาโครงการฯ จำนวน 2 ราย คือ บริษัท โบกี้ เอฟบี จำกัด และบริษัท แอ็ดวานซ์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิท จำกัด โดย บริษัท แอ็ดวานซ์ มาร์เก็ตติ้ง เซอร์วิท จำกัด ได้รับการคัดเลือกเสนอราคาอัตราค่าเช่าสิทธิฯ เป็นเงิน 662,000 บาท/เดือน กำหนดระยะเวลาให้เช่าสิทธิ 3 ปี (วันที่ 6 ธ.ค. 2565 และสิ้นสุดสัญญาเช่าวันที่ 5 ธ.ค. 2568 )

ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกต เรื่องบริษัทผู้ได้รับคัดเลือกว่า มีวัตถุประสงค์ตอนจดทะเบียน ประกอบกิจการร้านหนังสือ แต่กลับได้รับเลือกเป็นผู้ได้สิทธิเช่าบริการตู้เสบียงรถไฟ ในขณะที่บริษัทที่แพ้การประมูลจดทะเบียนมีวัตถุประสงค์การบริการด้านอาหารในภัตตาคาร/ร้านอาหาร

นอกจากนี้ การประมูลเช่าสิทธิตู้เสบียงมีข้อสังเกตเรื่องทีโออาร์ ที่กำหนดทุนจดทะเบียนไม่น้อยกว่า 5 ล้านบาท ซึ่งมีแนววินิจฉัยของคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กรมบัญชีกลาง ระบุกรณีทุนจดทะเบียนนั้นกำหนดไม่ได้ ดังนั้น รฟท.อาจเสี่ยงเรื่องการล็อกสเปกหรือไม่


@แนะปรับตัวขายตั๋วแพกเกจพ่วงอาหาร-รถขนส่ง

อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะว่าปัจจุบันรฟท.ควรพัฒนาปรับปรุงการให้บริการรูปแบบใหม่ๆ เช่น กรณีให้บริการอาหารบนขบวนรถไฟ จากการประมูลให้เอกชนเข้ามาประกอบการขายอาหารที่ตู้เสบียงแบบเดิมๆ ควรปรับมาเป็นการทำธุรกิจเชิงรุก เช่น ขายตั๋วพร้อมนำเสนอบริการอาหาร เหมือนสายการบินต้นทุนต่ำ ซึ่งเป็นการทำตลาดก่อนการผลิต เท่ากับ รฟท.จะได้ออเดอร์ และรับรายได้ก่อนการผลิต ไม่มีความเสี่ยง และยังบริการได้ตรงความต้องการของลูกค้า

อีกทั้งยังสามารถที่จะร่วมมือกับโอทอป ผู้ประกอบการท้องถิ่นในแต่ละพื้นที่ ในการใช้วัตถุดิบเพื่อช่วยสร้างาน กระจายรายได้ในพื้นที่ต่างๆ นอกจากแพกเกจตั๋วรถไฟพร้อมบริการอาหารแล้ว รฟท.ยังหาบริการเสริมอื่นๆ ได้อีก อาทิ ตั๋วรถไฟพร้อมรถขนส่ง จะช่วยยกระดับบริการที่จะสร้างความสะดวกสบายให้ผู้โดยสาร และจูงใจให้หันมาใช้รถไฟเดินทางมากขึ้น


กำลังโหลดความคิดเห็น