xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : รามอินทราคึกคัก ส่องห้างพลิกโฉมใหม่ รับรถไฟฟ้าสายสีชมพู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



แม้โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร มีแผนจะเปิดให้บริการภายในปี 2566 แต่ก็พบว่ามีผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ ทยอยเปิดโครงการคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนคอนโดมิเนียมตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ที่ประมาณ 25,650 ยูนิต

ขณะเดียวกัน ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าตามแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู พบว่าแม้ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก และคอมมูนิตีมอลล์บางส่วน จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า ประกอบกับสถานการณ์โควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา แต่สำหรับศูนย์การค้าขนาดใหญ่ พบว่ามีการรีโนเวตปรับโฉมเพื่อต้อนรับการเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้


เริ่มจาก ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ของ บริษัท สยาม รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด นับตั้งแต่การก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพูเมื่อปี 2563 เป็นต้นมา ก็ได้ปรับโฉมพื้นที่ชั้น 2 ให้กลายเป็นโซนใหม่เรียกว่า แกรนด์สเตชั่น (Grand Station) ด้วยดีไซน์โครงสร้างแบบยุโรป บนพื้นที่ 30,000 ตารางเมตร รวมกว่า 500 ร้านค้า รองรับรถไฟฟ้าสีชมพู สถานีวงแหวนรามอินทรา

พร้อมกันนี้ ร้านมูจิ (MUJI) สาขาแฟชั่นไอส์แลนด์ ก็ได้ขยายพื้นที่ชั้น 1 โซนแกรนด์ สเตชั่น จากเดิม 359 ตารางเมตร เป็น 1,400 ตารางเมตร เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 ด้วยสินค้ามากกว่า 3,000 รายการ, ร้านกาแฟ MUJI Coffer Corner, บริการ MUJI Interior Consultation Service ที่ปรึกษาด้านออกแบบภายใน และบริการตัดขากางเกงฟรี


แฟชั่นไอส์แลนด์เปิดให้บริการเมื่อปี 2538 วางตำแหน่งศูนย์การค้าแบบวันสตอปเซอร์วิส ของคนโซนกรุงเทพฯ ตะวันออก ที่สามารถเลือกหาสินค้าและบริการได้ครบทุกความต้องการ โดยมีแมกเนตหลักได้แก่ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน พร้อมด้วยท็อปส์ เพาเวอร์บาย บีทูเอส, บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, โฮมโปร, สปอร์ตเวิลด์, โรงภาพยนตร์เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์, สวนสนุกฮาร์เบอร์แลนด์

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์การค้าสุดหรูหราสไตล์ยุโรปที่อยู่ติดกัน คือ เดอะพรอมานาด มีแมกเนตหลักคือ กรูเมต์ มาร์เก็ต ฟิตเนสเฟิสต์ สวนสนุกคิดซูนา โรงภาพยนตร์พรอมานาด ซีนีเพล็กซ์ และร้านอาหารชั้นนำ ที่ผ่านมาได้พัฒนาศูนย์การค้าอย่างต่อเนื่อง ทั้งการก่อสร้างอาคารจอดรถเพิ่มอีก 2,000 คัน การทำทางลอดและสะพานเข้า-ออกศูนย์การค้าเพื่อแก้ปัญหาจราจรติดขัด


อีกด้านหนึ่ง ศูนย์การค้าเซ็นทรัล รามอินทรา ของ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บนพื้นที่ขนาด 10 ไร่ ได้กลับมาเปิดให้บริการโฉมใหม่ในรอบ 30 ปี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2566 หลังปิดปรับปรุงไปเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ใช้เวลา 8 เดือน ด้วยงบลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท มีจำนวนร้านค้า 200 ร้านค้า พื้นที่ค้าปลีกรวม 49,000 ตารางเมตร ที่จอดรถ 1,000 คัน

แมกเนตหลักประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล ภายใต้คอนเซปต์ "เวทีใหม่ ช้อปท้าชน" โดยนำสินค้าแบรนด์ชั้นนำกว่า 400 แบรนด์ เช่น MAC, Bobbi Brown, Origins, Aveda, YSL และแบรนด์ใหม่ๆ เช่น Eclat, Attitude Mom, Soffin, Kindee, Oonew และ Geko รวมถึงเอ็กซ์คลูซีฟแบรนด์ เช่น Sanrio, Angel baby, Pigeon, Camera, Smiggle และอีกมากมาย


ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ตที่ครบครันด้วยสินค้าจากทั่วโลก พร้อมเปิดตัวโซนใหม่ Cuisine Masters รวมเครื่องปรุงนำเข้าจากทั่วโลก และ Frozen & Co. แบรนด์อาหารแช่แข็งของท็อปส์, ร้านซูเปอร์สปอร์ต พื้นที่รวม 769 ตารางเมตร ดีไซน์ออกมาในรูปแบบและบรรยากาศที่ทันสมัย เน้นไปที่กลุ่มรองเท้าออกกำลังกาย กลุ่มรองเท้าลำลอง อุปกรณ์กีฬาหลากหลายประเภท

โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ ซีเนม่า สาขาเซ็นทรัล รามอินทรา
จำนวน 6 โรงภาพยนตร์ รวม 1,383 ที่นั่ง ในคอนเซปต์ โฮม ซีนีมา สัมผัสประสบการณ์ความบันเทิงเหมือนอยู่บ้าน แต่ครบครันด้วยระบบภาพและระบบเสียงแห่งโลกภาพยนตร์ ด้วยเทคโนโลยีระบบภาพ Digital Cinema 4K, ระบบฉาย Digital Cinema 3D ร่วมกับระบบเสียง Dolby Digital Surround 7.1 เป็นต้น


ขณะที่ทำเลที่ตั้งของเซ็นทรัล รามอินทรา อยู่หน้า สถานีรามอินทรา 3 ถัดไปจะเป็น สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งนับจากนี้จะเชื่อมโยงผู้คนจากใจกลางเมืองเปลี่ยนเส้นทางที่นี่ เพื่อไปยังโซนถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทรา ซึ่งเป็นย่านที่มีการขยายตัวของที่อยู่อาศัยมาถึงปัจจุบัน

นอกจากแฟชั่นไอส์แลนด์ กับเซ็นทรัลรามอินทราแล้ว ยังมีกลุ่มทุนอีกหลายรายเตรียมที่จะปักหมุดการลงทุนบนทำเลแนวรถไฟฟ้าสายสีชมพู ทั้งรูปแบบมิกซ์ยูส คอนโดมิเนียม ศูนย์การแพทย์ คอมมูนิตีมอลล์ และศูนย์การค้า ซึ่งมีที่ดินอยู่ในมือแล้ว อาจเรียกได้ว่ารถไฟฟ้าสายสีชมพู สร้างโอกาสให้ความเจริญย่านถนนแจ้งวัฒนะ และถนนรามอินทราเติบโตมากขึ้นในอนาคต


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น