xs
xsm
sm
md
lg

ชำแหละเล่ห์ “ZMT-KUB” ปั๊มวอลุ่มเทียม-ให้ดอกสูงล่อตาล่อใจ เตือนเม่าระวังตกหลุมพราง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส่องพฤติกรรมโทเคนไทย “ZMT-KUB” พบปริมาณธุรกรรมที่สูงส่วนใหญ่มาจากการยื่นผลประโยชน์ล่อตาล่อใจ ทั้งให้ดอกเบี้ยฝากในระดับสูงกว่า 10% การเชิญชวนเล่นเกมเพื่อแจกเหรียญ หวังปั่นธุรกรรมดึงดูดเม็ดเงิน ขณะที่วอลุ่มเทรดยังกระจุกตัวในไทยมากกว่า 90% แม้จะเปิดเทรดกระดานต่างประเทศ ด้าน ก.ล.ต.ชี้ความเสี่ยงสูงจากการสร้างราคาและใช้ข้อมูลภายในหาผลประโยชน์ หลายรายเรียกร้องความเป็นธรรม พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อประเทศ หรือเพื่อตัวเอง

การล่มสลายของ FTX Trading Ltd. หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า FTX ที่ผ่านมา หลายคนเชื่อว่าเรื่องราวนี้เริ่มต้นจากการประกาศขาย Exchange Token ของ FTX ที่รู้จักกันในชื่อ “FTT” โดยผู้ถือรายใหญ่รายหนึ่ง จนทำให้ราคาเหรียญตกลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความตื่นตระหนกของลูกค้าของ FTX จนแห่กันถอนสินทรัพย์ดิจิทัลออกจาก FTX จำนวนมาก นำไปสู่การประสบปัญหาสภาพคล่องของบริษัท และเกิดการระงับการไถ่ถอนในที่สุด

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถือเป็นบทเรียนที่น่าสนใจสำหรับนักลงทุน โดยควรที่จะศึกษาข้อมูลก่อนว่า Exchange Token คืออะไร แล้วทำไมนักลงทุนจึงควรทำความรู้จักกับ Exchange Token ให้ดีก่อนที่จะเข้าไปซื้อขาย เก็งกำไร และลงทุน

รูปที่ 1
ปัจจุบัน Exchange Token เป็น Token ที่ออกโดย Exchange หรือศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเมื่อเดือน กรกฎาคม 2020 บริษัท Binance ได้ออก BNB Token และเปิดการซื้อขายเป็นครั้งแรกในตลาดของตัวเอง ปัจจุบัน BNB ถือเป็น Exchange Token ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลกทั้งมูลค่าการตลาดราว 45,000 ล้านเหรียญ และปริมาณการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันที่มีมูลค่าหลายร้อยล้านเหรียญ โดยมีผู้ใช้ BNB เพื่อชำระและเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียม ได้สูงสุดถึง 25% ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ถูกนำไปใช้งานมากที่สุด ขณะแข่งรายสำคัญที่เพิ่งประสบปัญหาจนต้องยื่นขอล้มละลายอย่าง FTX ที่ออกเหรียญ FTX Token (FTT) มีมูลค่าการตลาดมากกว่า 9,600 ล้านเหรียญ เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2564

ส่วนผู้ให้บริการฝั่งไทยก็ไม่น้อยหน้า เพราะมี Exchange และโบรกเกอร์ ที่ออก Exchange Token ของตัวเองมา 3 รายด้วยกันได้แก่ 1.Zipmex ออก ZMT โดย Zipmex Asia Pte Ltd และเปิดให้ซื้อขายบนศูนย์ซื้อขาย Zipmex ในไทย สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2563

2. Bitkub ออก KUB Coin โดย บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ในประเทศไทยเปิดให้เริ่มซื้อขายบน บิทคับ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 2564 และ 

3. Bitazza ออก BTZ โดย Bitazza International Limited จดทะเบียนในประเทศหมู่เกาะบริติชเวอร์จิ้น นำเข้าซื้อขายครั้งแรกเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 บนศูนย์ซื้อขาย Bitazza Global (รูป1)

โดยโทเคนที่ออกโดยศูนย์ซื้อขายส่วนใหญ่จะออกมาเพื่อใช้ชำระค่าธรรมเนียม เป็นส่วนลดหรือแลกคะแนนลดค่าธรรมเนียม และการฝากเพื่อรับดอกเบี้ย ทำให้มูลค่าการตลาดของโทเคนก็เป็นไปตามความนิยม ตั้งแต่ 35 ล้านดอลลาร์ (Zipmex) จนถึง 62,000 ล้านดอลลาร์ (Binance) หรือ 1,150 ล้านบาท หรือ 2 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว

รูปที่ 2
ว่ากันว่ามูลค่าตลาดของโทเคนจะดูจากการนำโทเคนไปใช้เพื่อทำธุรกรรมบนเครือข่าย ดังนั้นโทเคนที่มีปริมาณการใช้งานสูงก็จะเป็นที่ต้องการสูง ทำให้ราคาโทเคนสูงขึ้นตามลำดับ  นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่น่าสนใจดังนี้

1.ประโยชน์ของโทเคนของศูนย์ซื้อขาย กล่าวคือ โทเคนสามารถนำมาใช้ชำระ เป็นส่วนลด หรือแลกเป็นคะแนนส่วนลด ค่าธรรมเนียมของศูนย์ซื้อขายฯ รวมถึงสามารถฝากเพื่อรับดอกเบี้ย ดังนั้นหากจะพอคำนวณหามูลค่าของโทเคน ก็พอจะประเมินได้จากมูลค่าส่วนลด ค่าธรรมเนียม และหักดอกเบี้ยจ่ายออก

2.โทเคนของศูนย์ซื้อขาย มักจะมีปริมาณการซื้อขายส่วนใหญ่บนศูนย์ซื้อขายของตนเอง เช่น Binance มียอดซื้อขาย BNB มากกว่า 99 % ขณะที่ ZMT ก่อนประกาศระงับการถอน มีปริมาณการซื้อขายหลักบน Zipmex Thailand Singapore Indonesia และ Australia รวมกันกว่า 90% ส่วน KUB Coin มีปริมาณซื้อขายบน Bitkub สูงกว่า 90% แม้จะพยายามประกาศลิสต์เหรียญในตลาดอื่นเช่น XT.co, Gate.io ก็ตาม และ BTZ นั้นยังไม่มีการซื้อขายในศูนย์ซื้อขายหรือผ่านตัวแทนในประเทศไทยแต่อย่างใด แต่ก็มีการซื้อขายผ่าน BTZ Global 100%

3.กระเป๋า (Wallet Address) ที่ใช้เก็บโทเคน ซึ่งอุปมาได้ถึงกระเป๋าที่มีผู้ใช้งานโดยการนำโทเคนไปทำธุรกรรมนั้น พบว่า BNB มีกระเป๋ามากกว่า 3 แสนกระเป๋า FTT มีราว 26,000 ใบ ZMT มี 392 กระเป๋า KUB 100 กระเป๋า และ BTZ มีเพียง 7 กระเป๋า (รูป 2)

อย่างไรก็ตามมีรายงานถึง KUB Chain Explorer ที่ www.bkcscan.com ได้พบข้อมูลว่า KUB Chain Explorer มีจำนวนกระเป๋าที่ใช้งานถึง 2,120,681 กระเป๋า โดยมีธุรกรรมเกิดขึ้นกว่า 340 ล้านรายการ หรือเฉลี่ยวันละกว่า 15,000 รายการ!! และสิ่งที่น่าสนใจคือ กระเป๋าส่วนใหญ่ของ KUB Chain Explorer แทบไม่เคยใช้งานหรือมีรายการน้อยมาก ขณะที่ 43 กระเป๋าแรกก็ถือเหรียญเกินกว่า 99% รายการ

รูปที่ 3
ทั้งนี้ เมื่อตรวจสอบต่อไปในเมนู Transaction พบว่าธุรกรรมส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากเกมส์ MorningMoon Village เกม Play to Earn หรือ GameFi ที่ให้รางวัลโทเคนเป็นรางวัลให้กับผู้เล่นเกม โดยมีบิทคับเวนเจอร์ส (บริษัทในกลุ่ม Bitkub) เป็นผู้ลงทุน

นอกจากนี้เมื่อเข้าไปสืบค้นในอินเตอร์เน็ต พบว่ามีเนื้อหาชักชวนคนมาเล่นเกมแล้วได้เงิน และแนะนำโปรแกรมช่วยเล่นเพื่อให้ได้รางวัลไปขายแลกเงินได้ง่ายขึ้น กลายเป็นว่า ธุรกรรมที่ดูเหมือนเยอะ จริงๆ แล้วเกิดจากปริมาณธุรกรรมที่เหมือนจะจ้างคนมาเล่น เพื่อจะได้สร้างธุรกรรม!!! (https://morningmoonvillage.com) (รูป 3) 

ดังนั้น จากข้อมูลของโทเคนที่ออกโดยผู้เกี่ยวข้องกับศูนย์ซื้อขายดังกล่าว จะพบลักษณะร่วมกันในทุกโทเคนคือ

1.การใช้งานจริงๆ เพื่อทำธุรกรรม มีปริมาณธุรกรรมน้อยเกินกว่าที่จะทำให้เกิดมูลค่าของระบบนิเวศน์สูงขึ้น หรือถูกทำให้สูงขึ้นโดยเป็นการให้แรงจูงใจ ไม่ว่าจะเป็นการให้ดอกเบี้ยจากการฝาก (Staking) หรือการให้ผลตอบแทนผ่าน Play to earn หรือ GameFi

2.การกระจายของโทเคน เป็นไปอย่างกระจุกตัว และ 

3.ธุรกรรมการซื้อขายของโทเคนมากกว่า 90% เกิดขึ้นบนศูนย์ซื้อขายที่เกี่ยวข้องกับผู้ออกเหรียญเอง นั่นเป็นเหตุผลที่  นายสนธิ ลิ้มทองกุล ได้เคยแสดงความเห็นถึงการออกเหรียญและเทรดบนศูนย์ซื้อขายของตนเองไว้หลายครั้งว่า ไม่ต่างจากเจ้าของบ่อนที่เห็นไพ่ เห็นหน้าตักของผู้เล่นทุกคน แล้วลงมาเล่นเอง

ขณะที่หน่วยงานกำกับดูแลอย่างคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้เคยออกประกาศที่ กธ18/2564 และประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2564 โดยมีสาระสำคัญ ได้แก่ การออกข้อกำหนดที่จะไม่คัดเลือกโทเคนดิจิทัล หรือคริปโทเคอร์เรนซี่ โดยเฉพาะข้อ 4 . นั่นคือ โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยผู้ประกอบธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเอง หรือบุคคลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ดังนี้

(ก) กรรมการ ผู้บริหาร หรือผู้มีอำนาจควบคุมกิจการ
(ข) คู่สมรสหรือผู้ที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยาของบุคคลตาม(ก)
(ค) นิติบุคคลซึ่งบุคคลตาม (ก) มีอำนาจควบคุมกิจการ
(ง) บริษัทใหญ่ บริษัทย่อย หรือบริษัทร่วม ทั้งนี้ตามลักษณะที่กำหนดในประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ว่าด้วยการกำหนดลักษณะของกิจการในกลุ่มของผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัล โดยอนุโลม

แต่ประกาศนี้ไม่มีผลย้อนหลังต่อโทเคนดิจิทัลที่ออกไปก่อนหน้าแล้วทำให้ให้ ZMT และ KUB เป็นเพียงโทเคนดิจิทัลของศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่สามารถซื้อขายบน Zipmex Thailand และ Bitkub Exchange ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ภายหลังจากที่ออกประกาศได้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมายบนสื่อโซเชียล ซึ่งส่วนใหญ่ไปในแนวไม่เห็นด้วยกับสำนักงานฯ รวมถึงการเลือกปฎิบัติของสำนักงานฯ ที่ยังคงให้สองรายดำเนินการต่อไปได้แต่ห้ามรายใหม่

นั่นทำให้สำนักงานฯ นำโดย “รื่นวดี สุวรรรณมงคล” เลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ออกมาชี้แจงประเด็นดังกล่าว สามารถพอสรุปได้ดังนี้

1.ความเสี่ยงจากการสร้างราคา
: เพราะราคาตลาดเกิดจากราคาที่ผู้เสนอซื้อหรือขาย (Maker) ได้รับการตอบรับจากผู้ขายหรือผู้ซื้อจากคำเสนอดังกล่าว (Taker) หาก Maker และ Taker เป็นคนๆเดียวกันหรือมีที่มาเดียวกัน ย่อมอาจจะสามารถสร้างราคาตลาดให้เป็นไปตามที่ต้องการได้

2.ความเสี่ยงจากการใช้ข้อมูลภายใน
: มักจะสังเกตจากปริมาณการซื้อขายก่อนและหลังประกาศข่าวสำคัญที่มีผลต่อราคา โดยหากพบว่าปริมาณการซื้อขายไม่ปกติ ก็ควรตรวจสอบผู้ทำรายการว่าผิดปกติ เช่น ไม่เคยซื้อมานานก็มาซื้อ ไม่เคยขายมานานก็ขาย

ดังนั้นเพื่อจำกัดความเสี่ยงดังกล่าว ก.ล.ต. จึงจำเป็นต้องออกประกาศ ขณะที่ศูนย์ซื้อขายที่ทำไปแล้วสองรายคือ Zipmex และ Bitkub ก็ได้รับข้อยกเว้นเนื่องจากหลักกฎหมายที่ไม่สามารถบังคับใช้ย้อนหลังได้ และประกาศของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ยังมีเนื้อหาที่สำคัญอีกว่า

“ข้อ 39/2 ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลต้องจัดให้มีข้อกำหนดในกรณีที่มีการนำโทเคนดิจิทัลที่ออกโดยผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเองหรือโดยบุคคล ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมาซื้อขายในศูนย์ซื้อขายฯที่ตนให้บริการ ว่าหากผู้ออกโทเคนดิจิทัลดังกล่าวไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน ไวท์เปเปอร์ (white paper) และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสาระสาคัญ จะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบธุรกิจการเป็นศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพิกถอนโทเคนดิจิทัลดังกล่าวออกจากการซื้อขายในศูนย์ซื้อขาย สินทรัพย์ดิจิทัลได้” (รูป 4)

ดังนั้นเมื่อนำข้อความดังกล่าวมาพิจารณาในกรณีของ ZMT และ KUB บน Zipmex และ Bitkub ตามลำดับจะพบข้อเท็จจริงที่น่าสนใจ

รูปที่ 4
Zipmex โทษชาวบ้านไม่โทษตัวเอง

สำหรับ Zipmex Token (ZMT) เป็นโทเคนที่สร้างขึ้น บนพื้นฐานของ Etheruem จริงๆ โทเคน ZMT ไม่ได้ถูกนำมาใช้ทำธุรกรรมมากนักหากตรวจดูจาก Etherscan.io จำนวนกระเป๋าก็มีอยู่เพียง 392 กระเป๋า แต่ลูกค้าที่ซื้อ ZMT ซื้อโทเคนนี้เพราะสามารถนำมาฝากกับบริการ ZipUp และ ZipLock ในอดีต หรือ ZipUp+ (ก่อนที่ Zipmex จะยื่นขอศาลล้มละลายสิงคโปร์เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟู) เพื่อรับดอกเบี้ย

ทำให้บริการ ZipUp เหมือนบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ ที่ให้ดอกเบี้ยและจะฝากจะถอนเมื่อไหร่ก็ได้ โดยเสนอดอกเบี้ยมากกว่า 10% ขณะที่ดอกเบี้ยบัญชีออมทรัพย์ของธนาคารไม่ถึง 0.5% ต่อปี ซึ่ง ZipLock เหมือนบัญชีเงินฝากประจำโดยกำหนดระยะเวลาการฝาก และให้ดอกเบี้ยมากกว่า

คำถามคือ แล้วดอกเบี้ยที่นำมาชำระให้แก่ลูกค้าที่ฝากนั้นจะมาจากไหน หากไม่ใช่เงินที่ได้จากการขายโทเคนมาจ่าย พฤฒิกรรมที่เกิดขึ้นจึงมีความคล้ายคลึงกับแชร์ลูกโซ่ เพียงแต่ใช้ศัพท์แสงคริปโทฯมาทำให้ดูว่าเป็นเรื่องของธุรกิจเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่ ZMT จะล่มสลายเพราะหาเงินมาจ่ายดอกไม่ทัน กลับบังเอิญที่ Zipmex มาถึงจุดจบก่อน เพราะพยายามทำตัวเป็นธนาคารคริปโทฯ โดยนำเอาสินทรัพย์ดิจิทัล ที่ลูกค้าฝากผ่านบริการ ZipUp+ ที่ Zipmex Thailand ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการในไทย ไปปล่อยกู้ต่อที่ Celcius และ Babel Finance และหนี้สูญ ทำให้ไม่มีสินทรัพย์ดิจิทัลมาคืนลูกค้าไทย เหมือนกันกรณี Genesis กับ Gemini ที่ ก.ล.ต. สหรัฐอเมริกาเพิ่งดำเนินคดีไปอย่างกับแพะกับแกะ

มูลค่าตลาด 35 ล้านเหรียญ มากไปหรือน้อยไป : มูลค่าตลาดเกิดจากราคาตลาดที่ผู้ซื้อและผู้ขายตกลงทำรายการกัน ซึ่งผู้ที่เข้ามาซื้อขายโทเคนจะเก็งกำไรโดยการประเมินเชิงธุรกิจจากลักษณะและปริมาณการใช้โทเคนทำธุรกรรม รวมถึงการวิเคราะห์เชิงเทคนิค และสุดท้ายคือซื้อตามกระแส แต่ในเชิงธุรกิจ ZMT ไม่ได้ถูกใช้เป็นส่วนลดมากนัก ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่นำโทเคนมาฝากเพื่อหวังดอกเบี้ยมากกว่า ดังนั้นการซื้อเหรียญเพื่อหวังผลเชิงธุรกิจเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ก็เหลือแต่การซื้อจากการวิเคราะห์เชิงเทคนิค และซื้อตามกระแส อย่างไรก็ตาม ผู้บริหาร Zipmex กลับกล่าวโทษวิกฤตคริปโทฯ ว่าทำให้ Zipmex ล่มสลาย แต่ไม่โทษตัวเองที่ผิดพลาดเรื่องการบริหารความเสี่ยง หนี้เสียเพียงสองรายถึงกับพัง!

รูปที่  5
KUB ราคาพุ่งจากปั่นเกม

ขณะที่ กรณีของ KUB เป็นเหรียญที่มีดราม่ามากมาย เพราะเป็นเหรียญที่ “ท๊อป จิรายุส” บอกว่าจะมาเปลี่ยนโลกการเงิน เปลี่ยนประเทศและเปลี่ยนโลก!

โดยบริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด (ที่มีผู้ถือหุ้นร่วมกับ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ผู้ให้บริการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล ชื่อ Bitkub Exchange) ได้สร้าง Bitkub Chain ขึ้น โดยนำเอา Opensource Blockchain ของ Ethereum มาใช้สร้าง Blockchain ของตัวเองขึ้น แล้วตั้งชื่อว่า Bitkub Chain เป็น Mainnet เพื่อให้สามารถใช้ KUB จ่ายค่าธุรกรรมแทน ETH โดยเอาวิธีการทำ Consensus ที่ใช้ Proof-of-Authority (POA) แบบที่ VeChain, หรือ Palm Network ใช้มาก่อน และมาปรับให้เป็น PoSA เหมือนที่ Binance Smart Chain ใช้ในปี 2565

ทั้งนี้การนำเหรียญไปใช้ (Use Cases) เป็นประเด็นที่น่าสนใจ เพราะการออกเหรียญแล้วไม่มีคนเอาไปใช้เพื่อทำธุรกรรมจริงๆ คงไม่สามารถทำให้เกิดความมั่นใจได้ว่าเหรียญจะสามารถดำรงมูลค่าด้วยอุปสงค์(ความต้องการ)ที่เพิ่มขึ้นทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ จากเหรียญ KUB ที่เคยใช้แลกเครดิตส่วนลดค่าธรรมเนียมและมีส่วนลดสูงสุดเพิ่มถึง 20% อย่างเดียว คงไม่มีอุปสงค์มากพอที่จะดันให้เกิดการใช้ KUB ทำให้บิทคับต้องสร้าง Use Cases อื่นๆมา ไม่ว่าจะเป็น Miss Universe 2021 เอาไปสร้าง Fan Tokens เพื่อให้คนซื้อ KUB มาให้บรรดา Youtubers ทั้งหลาย (ทั้งๆที่ ใช้ PromptPay ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปซื้อ KUB แล้วส่ง KUB ไปให้ ในขณะที่ Youtuber ผู้รับก็คงไม่สามารถเอา KUB ไปซื้ออะไรได้ นอกจากขายเป็นเงินบาทเอาเข้าธนาคาร (หรือ “ท๊อป” ถือ KUB Coin แทนเงินสดในธนาคาร)

นอกจากนี้สิ่งที่กลุ่ม Bitkub ทำคือการไปลงทุนในบริษัท ผลิตเกม ให้สร้างเกม Morning Moon Village ที่กล่าวไปข้างต้น โดยใช้กลไก Play to earn (GameFi) หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆว่า “จ้างเล่นเกม” แถมมี “โปรแกรมช่วยเล่น” ที่เกมเมอร์เรียกว่า “บอท” มาทำให้ผู้เล่นไม่ต้องเล่นเอง เปิดบอท เล่นไป ผู้สร้างเกมนอกจากได้เงินลงทุนจากบิทคับแล้ว ไม่รู้มีรายได้จากไหน เพื่อเอามาให้เกมสามารถให้บริการต่อไปได้ สร้างผู้เล่นทิพย์ (บอท) บนโลกทิพย์ (virtual world) เพื่อสร้างธุรกรรม และดูเหมือนว่าปริมาณธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับเกมนี้จะกลายเป็นหลักของธุรกรรมบน KUB Chain ไปแล้ว

อีกทางหนึ่งที่บิทคับเริ่มทำคือออกบริการ Bitkub Next กระเป๋าคริปโท ที่สามารถเก็บ NFT และให้บริการฝากเหรียญ KUB โดยได้ผลตอบแทนเหมือนบัญชีเงินฝากประจำเพราะมี package ให้เลือกตั้งแต่ 30 วัน ถึง 365 วัน การเปิดบริการนี้ เพราะต้องการให้ผู้ถือเหรียญ ถึอเหรียญในระยะยาว ไม่เทขายทำให้ราคา KUB ไม่ลดลงจากแรงเทขาย ดอกเบี้ยที่ให้เริ่มต้นตั้งแต่ 8% เศษๆ ต่อปี สำหรับการฝาก 30 วัน และ 11% เศษๆ ต่อปีสำหรับการฝาก 365 วัน เพื่อรับดอกเบี้ยเป็น KUSDT 

สำหรับ KUSDT เป็นเหรียญ Wrapped Token คือเหรียญมาตรฐาน KAP-20 อย่างเป็นทางการของ Bitkub สามารถทํางานร่วมกับ Decentralized Exchange (DEX) หรือ Decentralized Finance (DeFi) บน Biktub Chain ได้ โดย KUSDT มีมูลค่าเท่ากับ USDT (รูป 5)

เป็นที่น่าสังเกตว่าการฝาก KUB นี้เปิดให้บริการตั้งแต่ 1 กันยายน 2564 หยุดให้บริการตั้งแต่สิงหาคมปี 2565 โดยมีมูลค่าการฝากเหรียญ KUB กว่า 200 ล้านบาท ซึ่งน่าจะเกิดจากผลกระทบเชิงลบของ Zipmex ที่เกิดปัญหา

ปัจจุบัน มูลค่าการตลาดของ KUB มีมูลค่าราว 211 ล้านดอลลาร์ หรือ เกือบ 7,000 ล้านบาท บริษัท บิทคับ บล็อคเชน เทคโนโลยี จำกัด ผู้ออกเหรียญ KUB ยังไม่ได้ยื่นงบการเงิน ซึ่งถือเป็นหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในสาระสำคัญ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด ในฐานะศูนย์ซื้อขายควรส่งหนังสือทวงถามและกำหนดเส้นตายไปยังผู้ออกเหรียญส่งงบการเงิน และออกคำเตือนให้แก่ลูกค้าทราบถึงสาระสำคัญที่ผู้ออกเหรียญไม่ได้ส่งงบการเงิน เพราะอาจจะเป็นเหตุให้เพิกถอนเหรียญออกจากศูนย์ซื้อขายได้ และการไม่ดำเนินการดังกล่าวอาจจะเป็นเหตุให้ บริษัท บิทคับ ออนไลน์ จำกัด มีความผิดเรื่องการจัดการความขัดแย้งกันของผลประโยชน์

สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าไม่มีใครปฏิเสธว่าเทคโนโลยี เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการก้าวไปข้างหน้าของมวลมนุษยชาติ ดังนั้นมนุษย์ทุกคนมักจะตื่นเต้นเมื่อเกิดเทคโนโลยีใหม่ๆ แต่มันจะเป็นเรื่องที่น่าเศร้าหากมีคนอาศัยช่องว่างของความไม่รู้เอาคำว่า เทคโนโลยี มาเอาเปรียบผู้อื่น

จึงมีคำถามที่ทุกคนต้องถามตนเองว่า Bitkub หรือ Zipmex ออกเหรียญ ออกโทเคนดิจิทัลขึ้นมา เป็นการสร้างเทคโนโลยีอะไรที่เป็นประโยชน์จริงๆ ต่อบริการทางการเงินหรือธุรกิจหรือประชาชนในประเทศไทย? นอกจากสร้างกระแสให้คนแห่ไปซื้อ KUB ซื้อ ZMT ที่เสกขึ้นแล้วสร้างภาพ สร้างจินตนาการให้คนเข้าใจว่าจะได้รับผลตอบแทน

นั่นเพราะทุกคนในประเทศไทยอยากเห็นคนรุ่นใหม่สัญชาติไทยไปสร้างเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก แต่ขอเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์จริงๆ อยากทำเกมก็ทำเกมที่สนุก คนจะได้มาเล่น แล้วเกิดระบบเศรษฐกิจในเกม ไม่ต้องจ้างคนมาเล่นอยากทำโทเคนให้คนใช้ก็เอามาแก้ไขปัญหาที่วิธีการทั่วไปแก้ไม่ได้ ก็อย่าใช้สินทรัพย์ดิจิทัลเป็นช่องทางระดมเงินฝาก โดยไม่ได้เป็นธนาคาร

ที่ผ่านมามี นักเรียนนักศึกษา จำนวนมากเข้ามาเทรดคริปโตฯ ด้วยกระแสที่ถูกปั่น เห็นเพื่อนได้เงินอยากได้บ้าง จนพ่อแม่ผู้ปกครองเดือดร้อน ตอนนี้ความจริงเริ่มทยอยปรากฏว่าคนหนุ่มสาวหลายคนที่อ้างว่าร่ำรวยจากคริปโต อาจจะเป็นคำโอ้อวด เพื่อปกปิดเงินสกปรกที่มาจากธุรกิจผิดกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น