xs
xsm
sm
md
lg

ย้ายรถไฟทางไกล "สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์" ผ่าน 9 วัน ดีเลย์รวม 119 ขบวน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดสถิติ 9 วันย้ายรถไฟทางไกลไปให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ดีเลย์รวม 119 ขบวน วันแรกสุดป่วน เจอปัญหาเพียบ ป้ายบอกทางไม่ชัดเจน ผู้โดยสารสับสน ผ่านสัปดาห์แรกล่าช้าลดลง ด้าน รฟท.เร่งแก้ปัญหาทุกจุด

หลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ย้ายการให้บริการต้นทาง/ปลายทาง ขบวนรถไฟทางไกล จากสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง) มาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 จำนวน 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน ซึ่งวันแรก พบว่ามีปัญหาความไม่พร้อมในการอำนวยความสะดวกหลายเรื่อง ทั้งความไม่สะดวกในการเดินทางเข้าสู่สถานี ที่ผู้โดยสารต้องใช้เวลามากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม ป้ายบอกทางต่างๆ ไม่ชัดเจน สับสน เป็นต้น


ซึ่งในวันแรก (19 ม.ค. 2566) เริ่มดำเนินการในช่วงบ่าย ทำให้มีบริการจำนวน 16 ขบวน (ขาออก) ซึ่งพบว่ามีความล่าช้าถึง 13 ขบวน เฉลี่ย 5 นาที มากสุด 260 นาที (4 ชม. 20 นาที) เป็นขบวนรถเร็ว 167 (กรุงเทพฯ-กันตัง)

วันที่ 20 ม.ค. 2566 (ถือเป็นวันแรกที่ขบวนรถไฟทางไกลทั้ง 52 ขบวนจะให้บริการต้นทาง/ปลายทางที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์) โดยมีขาออกจำนวน 25 ขบวน พบว่าล่าช้าจำนวน 23 ขบวน เฉลี่ย 2 นาที มากสุด 245 นาที (4 ชม. 5 นาที) เป็นขบวนรถเร็ว 139 (กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี)

วันที่ 21 ม.ค. 2566 ให้บริการขาออก 25 ขบวน มีความล่าช้า 16 ขบวน เฉลี่ย 1 นาที มากสุด 182 นาที เป็นขบวนรถเร็ว 139 (กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี)

วันที่ 22 ม.ค. 2566 ให้บริการขาออก 25 ขบวน มีความล่าช้า 15 ขบวน เฉลี่ย 2 นาที มากสุด 55 นาที เป็นขบวนรถเร็ว 171 (กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก)

วันที่ 23 ม.ค. 2566 ให้บริการขาออก 25 ขบวน มีความล่าช้า 17 ขบวน เฉลี่ย 6 นาที มากสุด 133 นาที เป็นขบวนรถด่วน 51 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่)

วันที่ 24 ม.ค. 2566 ให้บริการขาออก 25 ขบวน มีความล่าช้า 20 ขบวน เฉลี่ย 3 นาที มากสุด 155 นาที เป็นขบวนรถเร็ว 171 (กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก)

วันที่ 25 ม.ค. 2566 ให้บริการขาออก 25 ขบวน มีความล่าช้า 6 ขบวน เฉลี่ย 3 นาที มากสุด 35 นาที เป็นขบวนรถเร็ว 139 (กรุงเทพฯ-อุบลราชธานี)

วันที่ 26 ม.ค. 2566 ให้บริการขาออก 25 ขบวน มีความล่าช้า 6 ขบวน เฉลี่ย 2-3 นาที

วันที่ 27 ม.ค. 2566 ให้บริการขาออก 25 ขบวน มีความล่าช้า 3 ขบวน เฉลี่ย 9-10 นาที


หลังผ่านสัปดาห์แรกพบว่าภาพรวมการให้บริการของขบวนรถเริ่มตรงเวลามากขึ้น ซึ่งรายงานข่าวแจ้งว่า วันแรกๆ รฟท.มีปัญหาในเรื่องการตั้งขบวนรถ เนื่องจากมีขั้นตอนที่ยุ่งยากและมากกว่าการให้บริการที่สถานีหัวลำโพง รวมถึงปัญหาการหมุนเวียนรถโดยสารและหัวรถจักรที่ยังมีจำนวนจำกัด

นอกจากนี้ ระยะเวลาในการเข้าเทียบชานชาลาสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ กำหนดที่ 20 นาที/ขบวนเท่านั้น ในขณะที่ัมื่อจัดขบวนรถในย่านสถานีบางซื่อแล้วจะต้องวิ่งรถออกจากย่านสถานี วิ่งไปบนโครงสร้างยกระดับจนถึงสถานีจตุจักร จากนั้นจึงจะถอยเข้าสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพื่อตั้งขบวน ทำให้ต้องใช้เวลาในการเตรียมขบวนนาน


นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า กรมรางได้ติดตามการให้บริการ ลงพื้นที่สังเกตการณ์การให้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. โดยพบว่ามีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องแก้ไข เช่น การประกาศภายในสถานีมีความถี่ไม่เหมาะสม ไม่ทันต่อสถานการณ์ และเนื้อหาบางส่วนไม่ครบถ้วน เช่นกรณีมีการเปลี่ยนแปลงกำหนดเวลาเดินรถ พบว่า ไม่มีการประกาศซ้ำ ไม่มีการประกาศแจ้งถึงสาเหตุการเปลี่ยนเวลาเดินรถใหม่ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ บางครั้งเสียงประกาศเบาจนไม่ได้ยินโดยเฉพาะเวลารถไฟเข้าเทียบชานชาลา

สำหรับป้ายบอกตารางเวลาเดินรถซึ่งเป็นจอขนาดใหญ่บริเวณโถงทางเข้าประตู 4 พบว่ามีข้อมูลภาษาไทยเท่านั้น ป้ายนำทางภายในสถานีไม่ชัดเจน และยังไม่มีการกำหนดจุดให้บริการรถเข็นสัมภาระและวีลแชร์ที่ชัดเจน

บริเวณที่พักคอยของผู้โดยสารก่อนขึ้นชั้นชานชาลาไม่มีจอแสดงข้อมูลการเดินทางเช่นเวลาเข้าออกของขบวนรถ และหมายเลขชานชาลา

จำนวนเก้าอี้พักคอยแต่ละจุดไม่สมดุลกับจำนวนผู้โดยสาร จำนวนถังขยะมีน้อย จำนวนร้านอาหารเครื่องดื่มมีน้อย แสงสว่างบางจุดมีน้อย เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยมีจำนวนน้อย ทำให้ดูแลความปลอดภัยบนชานชาลาไม่ทั่วถึง

ขณะที่ด้านบนชั้นชานชาลา มีช่องว่างห่าง ระหว่างตัวรถระหว่างรถไฟกับชานชาลาที่อาจจะเกิดอุบัติเหตุได้


อย่างไรก็ตาม ตามข้อเสนอสังเกตของกรมราง ทาง รฟท.ได้ทยอยดำเนินการปรับปรุงแก้ไขแล้ว เช่น เพิ่มเก้าอี้พักคอย ติดตั้งจอทีวีบอกสถานะขบวนรถบริเวณที่พักคอย และติดป้ายแนะนำเพิ่ม เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น