xs
xsm
sm
md
lg

กทท.ลุยแผนตั้ง "สายเดินเรือแห่งชาติ" ชงคมนาคม มี.ค.นี้ รัฐร่วมทุน 25% นำร่องเปิด 3 เส้นทางในประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กทท.สรุปแผนจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เสนอ "คมนาคม" ใน มี.ค.นี้ ผลศึกษาชี้คุ้มค่าร่วมทุนเอกชน รัฐถือไม่เกิน 25% เพื่อคล่องตัว นำร่องเปิดเดินเรือในประเทศ 3 เส้นทาง “ทลฉ.-มาบตาพุด” ชิฟต์โหมดจากถนนแก้ปัญหาจราจร ตั้งเป้าเริ่มต้น 1 ล้านทีอียู/ปี 
 
นายเกรียงไกร ไชยศิริวงศ์สุข ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเผยแพร่ผลการศึกษาโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย ว่า จากที่ กทท.ได้จ้างบริษัท ทรานส์คอนซัลท์ จำกัด และศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและแนวทางการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย โดยจะสรุปการศึกษาภายในเดือน ก.พ.นี้ จากนั้นจะนำเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กทท.เพื่อเสนอกระทรวงคมนาคมได้ภายในเดือน มี.ค. 2566 เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติต่อไป

ทั้งนี้ หลังจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ เป้าหมายในปีแรกจะเปิดให้บริการเดินเรือประจำในเส้นทางชายฝั่งของไทย และเปิดให้บริการขนส่งสินค้าด้วยเรือไม่ประจำเส้นทางในเส้นทางระหว่างประเทศให้ได้ภายใน 4 ปี

ผลการศึกษาพบว่า รูปแบบการบริหารสายการเดินเรือแห่งชาติที่เหมาะสม รัฐควรถือหุ้นในสัดส่วนไม่เกิน 25% เอกชน 75% จะทำให้มีความคล่องตัวในการบริหารงาน สามารถตัดสินใจได้รวดเร็ว ซึ่งรูปแบบนี้มีกลุ่มผู้ประกอบการและนักลงทุนให้ความสนใจร่วมลงทุนจำนวนหลายราย


ซึ่งเปิดเดินเรือเส้นทางภายในประเทศ การศึกษาพบว่ามี 9 เส้นทางที่มีความเหมาะสม มีทั้งเส้นทางเก่าที่มีการเดินเรืออยู่แล้ว และเส้นทางใหม่ที่ยังไม่มีการเดินเรือ ซึ่งจะนำร่อง 3 เส้นทางใหม่ คาดมีผลตอบแทนทางการลงทุนอยู่ที่ 7.71%

ได้แก่ 1. เส้นทางท่าเรือมาบตาพุด (ระยอง)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีศักยภาพ เนื่องจากมาบตาพุดมีปริมาณสินค้าประมาณ 4 แสนทีอียู/ปี ปัจจุบันต้องขนส่งทางถนนทั้งหมด เส้นทางเดินเรือนี้จะทำให้เกิดการชิฟต์โหมดจากทางถนนสู่ทางน้ำและทำให้มีการเพิ่มปริมาณสินค้าได้อีกตามไปด้วย

2. เส้นทางท่าเรือไฟร์ซัน (สมุทรสงคราม)-ท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี) และ 3. เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง (ชลบุรี)-ท่าเรือสุราษฎร์ธานี

ส่วนอีก 6 เส้นทาง เป็นเส้นทางที่มีการเดินเรืออยู่แล้ว จะพิจารณาลำดับต่อไป โดยจะเป็นรูปแบบที่จะส่งเสริมเพิ่มประสิทธิภาพ ไม่ใช่การแข่งขัน


ด้านเส้นทางการเดินเรือต่างประเทศนั้นได้พิจารณารูปแบบการให้บริการออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 (First Phase) เป็นบริการเดินเรือไม่ประจำเส้นทาง (Tramp Service) ให้บริการขนส่งสินค้าประเภทเทกอง (Bulk Cargo) คาดการณ์ส่วนแบ่งปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการสายการเดินเรือแห่งชาติ 2% คิดเป็น 1.2 ล้านตัน ขีดความสามารถในการให้บริการจำเป็นต้องจัดหาเรือประเภท (1) เรือขนาด Handy Max ขนาด 32,000 เดทเวทตัน จำนวน 3 ลำ ให้บริการปีละ 8 รอบ (2) เรือขนาด Supra Max ขนาด 50,000 เดทเวทตัน จำนวน 2 ลำ ให้บริการปีละ 5 รอบ

ระยะที่ 2 (Second Phase) เป็นการให้บริการเดินเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ (Container Service) ให้บริการในเส้นทางเอเชียตะวันออก (จีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง) อาเซียน (อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม) และกลุ่มประเทศ BIMSTEC (อินเดียและเมียนมา) ประเภทสินค้าที่ส่งออกจากไทย รวมปริมาณส่งออก 20.0 ล้านตัน สำหรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศรวมปริมาณนำเข้า 9.1 ล้านตัน เบื้องต้นคาดการณ์ปริมาณสินค้าที่จะมาใช้บริการเรือบรรทุกตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ของบริษัทสายการเดินเรือแห่งชาติร้อยละ 2 ของการส่งออกและนำเข้า คิดเป็นจำนวนสินค้าคอนเทนเนอร์ 31,005 TEUS ขนาดของเรือที่จะเข้ามาให้บริการเป็นเรือตู้สินค้าคอนเทนเนอร์ขนาด 1,500 TEUS (Feeder Size) จำนวน 4 ลำ แต่ละลำทำรอบหมุนเวียน 8 รอบต่อปี


ผอ.กทท.กล่าวว่า กทท.เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งตาม พ.ร.บ.การท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 ซึ่งพบว่าไม่สามารถจัดตั้งบริษัทลูกสายเดินเรือแห่งชาติได้ เนื่องจากการเดินเรือจัดเป็นกิจการอื่นที่ไม่เกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับการประกอบกิจการท่าเรือตามมาตรา 6 ดังนั้น ในการจัดตั้งบริษัท สายการเดินเรือแห่งชาติ ช่วงแรกจะต้องพิจารณาให้กระทรวงการคลังหรือหน่วยงานรัฐเข้าถือหุ้น อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.การท่าเรือฯ หากแล้วเสร็จจะทำให้ กทท.สามารถตั้งบริษัทลูก หรือถือหุ้นในบริษัทฯ ได้ในอนาคต

"เชื่อมั่นว่าในปี 66 การจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติและการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทยจะเกิดขึ้นได้จริง ส่วนมูลค่าการลงทุนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมถึงการจัดหาเรือใหม่ หรือใช้เรือมือสอง หรือเรือของผู้ร่วมทุนที่มีอยู่”

โดยคาดหมายว่าช่วงแรกจะมีปริมาณการขนส่งสินค้าทางน้ำภายในประเทศที่ 10% (1 ล้านทีอียู) ของปริมาณทั้งสิ้น 10 ล้านทีอียู/ปี และมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 1 เท่าตัวใน 5-10 ปี"

ปัจจุบันการขนส่งในประเทศ ถนนมากสุดที่ 85% ทางราง 10% ทางน้ำ 5% การตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติมีเป้าหมายตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการขนส่งทางชายฝั่งและทางทะเลได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย จะเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางน้ำเป็น 7% และ 10% ตามลำดับ และยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภายในประเทศ เกิดการจ้างงานในธุรกิจการเดินเรือและกำไรที่ได้จากผลประกอบการ ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางอ้อมไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อเรือ การประกันวินาศภัยทางทะเล เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น