xs
xsm
sm
md
lg

BGRIM อัดงบ 7 หมื่นล้านลุยผลิตไฟฟ้าแตะ 1 หมื่น MW ปี 73

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บี.กริม เพาเวอร์ อัดงบ 7 หมื่นล้านบาทดันเป้าหมายเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 10,000 เมกะวัตต์ในปี 73 เน้นพลังงานหมุนเวียน ส่งผลรายได้ทะยานกว่า 100,000 ล้านบาท พร้อมชูยุทธศาสตร์ Green Leap เพื่อก้าวสู่องค์กร Net-Zero ในปี 2593 แจงไม่นำเข้า LNG ช่วงนี้ รอราคาตลาดโลกต่ำกว่าราคาก๊าซฯ Pool ไทย

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (BGRIM) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าแตะ 10,000 เมกะวัตต์ (MW) ในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 3,300 เมกะวัตต์ ส่งผลบริษัทมีรายได้เติบโตขึ้นกว่า 100,000 ล้านบาท จากการลงทุนโรงไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศ โดยเน้นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก

สำหรับเงินลงทุนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 นั้นจะใช้เงินรวมทั้งสิ้น 425,400 ล้านบาท แต่เป็นการกู้ยืม 70-75% ของเงินลงทุน ที่เหลือเป็นเงินลงทุนส่วนของผู้ถือหุ้น โดยเป็นการลงทุนของบริษัทราว 70,000 ล้านบาท มาจากกระแสเงินสด 10,000 ล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 45,000 ล้านบาท และการหา Fund Raising อีก 15,000 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้บริษัทมีแผนจะออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิหรือ Perpetual bond ในช่วงปลายไตรมาส 1 นี้


ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการแสวงหาการลงทุนโรงไฟฟ้าใหม่เพิ่มเติมในหลายประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น จีน รวมถึงยุโรป เพื่อกระจายความเสี่ยงจากต้นทุนพลังงาน โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงพลังงานรูปแบบอื่น ส่งผลให้พอร์ตโฟลิโอในปี 2573 มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ 25% ที่เหลือมาจากก๊าซธรรมชาติ 75%

นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า บริษัทได้วางแผนยุทธศาสตร์ Green Leap เพื่อสนับสนุนลูกค้าภาคอุตสาหกรรมในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตของพลังงานคาร์บอนต่ำ การสนับสนุนและขยายโครงการพลังงานหมุนเวียน โดยการจัดหาพลังงานที่สะอาดยั่งยืน มีเสถียรภาพในระดับสูง และราคาที่เข้าถึงได้ ในขณะเดียวกันบริษัทยังคงรักษาอัตรากำไรของบริษัทอย่างมั่นคงควบคู่ไปกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“บริษัทมีเป้าหมายในการเพิ่มกำลังการผลิตจาก 3,379 เมกะวัตต์ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2565 เป็น 4,700 เมกะวัตต์ ในปี 2567 และเพิ่มขึ้นเป็น 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 ภายใต้ยุทธศาสตร์ใหม่ Green Leap โดยบริษัทมองหาการยกระดับความร่วมมือทางธุรกิจระดับโลกกับพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อขยายธุรกิจสู่การจัดหาวัตถุดิบ (Upstream value chain) เพื่อให้แน่ใจว่ามีการจัดหาเชื้อเพลิงและผลักดันเทคโนโลยีของเชื้อเพลิงสังเคราะห์”


สำหรับยุทธศาสตร์ GreenLeap - Global and Green ประกอบด้วยแผนเชิงกลยุทธ์ 3 ประการ
1. Industrial Solutions มีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาพลังงานให้กับภาคอุตสาหกรรมภายใต้อัตราค่าไฟฟ้าที่หลากหลาย เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม แบตเตอรี่ รวมถึงการเตรียมพร้อมในการรองรับยานยนต์ไฟฟ้า และเครื่องมือดิจิทัลขั้นสูง เช่น ระบบที่สามารถรองรับการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานทางเลือกที่สะอาดที่กระจายอยู่ทั่วไป (distributed energy source) เพื่อรักษาความสมดุลของโครงข่ายไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนลูกค้าด้านการชดเชยคาร์บอนและการเพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานเพื่อที่จะให้บริการด้านพลังงานแบบครบวงจรแก่ลูกค้า

2. Independent Power Producer มีจุดมุ่งหมายเพื่อขยายโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนของ บี.กริม เพาเวอร์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเตรียมพร้อมพอร์ตในประเทศสู่การลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น Flexible Power ปรับปรุงประสิทธิภาพของพอร์ตโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม การบริหารจัดการระบบสำรองไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม เพื่อสร้างสมดุลในการรองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานหมุนเวียน, Renewable Power เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก โดยบริษัทจะใช้ประสบการณ์ในการดำเนินโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งใน ไทยและต่างประเทศ ความร่วมมือระดับโลกกับพันธมิตร เพื่อกระจายความเสี่ยงและยกระดับการลงทุน

3. Sustainable Fuels ยุทธศาสตร์นี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อให้แน่ใจว่าการจัดหาก๊าซผ่านสัญญาการจัดหาระยะยาวโดยใช้ใบอนุญาตผู้จัดหาและค้าส่งของ บี.กริม แอลเอ็นจี โดยขณะนี้บริษัทมีความพร้อมในการจัดหา LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าในกลุ่มบริษัทเพียงแต่รอให้ราคา LNG ในตลาดโลกลดต่ำลงกว่าราคาก๊าซธรรมชาติ (Pool) ซึ่งต้องเป็นระดับราคาที่ต่ำกว่าการซื้อก๊าซฯ จาก ปตท. ดังนั้น ในปีนี้บริษัทจึงไม่มีแผนในการนำเข้า LNG จากเดิมที่เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะนำเข้า LNG ในต้นปี 2566

“เป้าหมายของ บี.กริม เพาเวอร์ คือการบรรลุอัตราการเติบโตของ EBITDA ต่อปีแบบทบต้นในระดับ 10% ควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามแนวทางควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 2 องศา ของประเทศในกลุ่ม Non-OECD (2C Non-OECD) ที่กำหนดโดย International Energy Agency (IEA) ด้วยสัดส่วนโรงไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สูงกว่า 50% ภายในปี 2573 และสู่เป้าหมายในการเป็นผู้ผลิตพลังงานชั้นนำระดับโลก บรรลุเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ภายในปี 2593”
กำลังโหลดความคิดเห็น