xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : รู้จัก Daily Max Fare รถเมล์-เรือไทยสมายล์กรุ๊ป นั่งเหมาจ่ายตลอดวัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หลังจากรถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้า ไทยสมายล์บัส กับเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า ไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ ควบรวมกิจการสำเร็จเมื่อปลายปี 2565 ก็ถึงเวลาที่ไทยสมายล์กรุ๊ป จะได้ออกโปรโมชันค่าโดยสารเหมาจ่ายที่เรียกว่า เดลิ แมกซ์ แฟร์ (Daily Max Fare) สำหรับผู้โดยสารที่ใช้บัตร HOP (สีเขียวเข้ม) หรือบัตร Bangkok Smile Card (สีขาว)

Ibusiness Review พามาทำความรู้จักกับค่าโดยสารเหมาจ่ายราคาพิเศษ เมื่อใช้บริการเฉพาะรถโดยสารไทยสมายล์บัส ชำระค่าโดยสารในบัตร 40 บาทแล้ว จะไม่คิดค่าโดยสารเพิ่ม โดยเดินทางได้ไม่จำกัดเที่ยว แต่ถ้าใช้บริการรถโดยสารไทยสมายล์บัส และเรือโดยสารไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ ชำระค่าโดยสารในบัตร 50 บาทแล้ว จะไม่คิดค่าโดยสารเพิ่มเช่นกัน


พร้อมกันนี้ บริษัท ดิไวน์ คอนเน็ค จำกัด ได้ออก บัตร HOP (สีเขียวเข้ม) โฉมใหม่ ซึ่งจะจำหน่ายผ่านบัสโฮสเทส และท่าเรือต่างๆ ใบละ 20 บาท โดยได้เปลี่ยนวิธีการเติมเงินจากการสแกนคิวอาร์โค้ด เป็นระบบเติมเงินของดิไวน์ คอนเน็ค รองรับการเติมเงินผ่านแอปฯ SCB EASY ธนาคารไทยพาณิชย์, Krungthai NEXT ธนาคารกรุงไทย และพร้อมเพย์คิวอาร์โค้ด
ปัจจุบัน ไทยสมายล์กรุ๊ป มีพอร์ตรถโดยสารประจำทางอยู่ในมือ 122 เส้นทาง ประกอบด้วย ไทยสมายล์บัส 71 เส้นทาง ลงทุนร่วมกับผู้ประกอบการเดิม 8 เส้นทาง ร่วมกับสมาร์ทบัสที่ซื้อกิจการอีก 37 เส้นทาง ซึ่งจะเปลี่ยนเป็นรถเมล์ไฟฟ้าทั้งหมดตั้งแต่ปี 2566 และกำลังซื้อกิจการ 2 บริษัท 6 เส้นทาง พร้อมกับเรือไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ 3 เส้นทาง และเรือท่องเที่ยว Boat 4U


สำหรับวิธีการใช้งานเดลิ แมกซ์ แฟร์ จะต้องซื้อบัตร HOP (สีเขียวเข้ม) ก่อน ในราคา 20 บาท หรือมีบัตร Bangkok Smile Card (สีขาว) ซึ่งแจกให้กับผู้โดยสารไปเมื่อช่วงเทศกาลปีใหม่ 2566 ที่ผ่านมา จากนั้นสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อเติมเงิน เมื่อเติมเงินไปแล้ว เงินจะยังไม่เข้าระบบ ต้องทำการอัปเดตยอดเงินในบัตรที่เครื่อง AVM (เครื่องสีเหลืองบนรถ) หรือบัสโฮสเตส

จากนั้นให้ใช้บัตร HOP (สีเขียวเข้ม) หรือบัตร Bangkok Smile Card (สีขาว) แตะเข้าที่เครื่อง E60 ที่ประตูทางขึ้นก่อน โดยต้องมีเงินขั้นต่ำ 45 บาท ก่อนขึ้นรถเมล์ทุกครั้ง เมื่อถึงปลายทาง ให้แตะบัตรเข้าที่เครื่อง E60 ที่ประตูทางลงทุกครั้ง เครื่องจะคิดเงินตามระยะทางค่าโดยสาร แล้วคืนยอดเงินส่วนต่างจาก 45 บาทที่หักตอนแรก






สำหรับการใช้บริการเรือไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ 3 เส้นทาง ค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย จะต้องมีเงินในบัตรขั้นต่ำ 40 บาทก่อนขึ้นเรือทุกครั้ง เมื่อชำระค่าโดยสารในบัตร 40 บาทแล้ว จะไม่คิดค่าโดยสารเพิ่ม เหมาจ่ายตลอดวัน 40 บาท และเมื่อต่อรถเมล์ไทยสมายล์บัส จะต้องมีเงินในบัตรขั้นต่ำ 45 บาทก่อนขึ้นรถทุกครั้ง ซึ่งนั่งรถต่อเรือ เรือต่อรถ เหมาจ่ายตลอดวัน 50 บาท

ข้อควรระวังก็คือ ต้องแตะบัตรที่ประตูด้านหน้า 1 ครั้งเมื่อขึ้นรถ และแตะบัตรที่ประตูด้านหลัง 1 ครั้งเมื่อลงรถ หากแตะบัตรเพียงครั้งเดียว ระบบจะหักค่าโดยสารสูงสุด และจะไม่ได้รับสิทธิ์เดลิ แมกซ์ แฟร์

หากรถเมล์ไม่มีเครื่อง AVM ให้ติดต่อบัสโฮสเทส
เปิดเครื่องขายตั๋ว แล้วกดย้อนกลับตรงมุมซ้ายบน กดปุ่ม "Registration" ตรงแถวขวาของหน้าจอ บรรทัดที่ 2 จากนั้นให้นำบัตร HOP ที่เติมเงินแล้ว ไปแตะด้านบนเครื่องขายตั๋ว ที่มีสัญลักษณ์รูปคลื่นค้างไว้ แล้วให้พนักงานกดปุ่ม Registration ที่เป็นหน้าต่างเด้งขึ้นมาหลังจากแตะบัตร เพื่ออัปเดตยอดเงิน




อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนระบบค่าโดยสารเหมาจ่าย คือ บัตร HOP รุ่นเก่า ที่ออกโดยธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เร็วๆ นี้ จะไม่สามารถใช้กับเรือไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ ได้อีกต่อไป พร้อมกันนี้ การชำระเงินผ่านระบบ EMV ได้แก่ บัตร VISA และ MasterCard ทั้งเรือไมน์ สมาร์ท เฟอร์รี่ และรถโดยสารไทยสมายล์บัสบางเส้นทาง ก็จะใช้ไม่ได้เช่นกัน

ผู้โดยสารจะต้องซื้อบัตร HOP (สีเขียวเข้ม) แบบใหม่ ที่ออกโดยบริษัท ดิไวน์ คอนเน็ค จำกัด เพื่อใช้งานเท่านั้น


ขณะที่นโยบายกระทรวงคมนาคมที่ผ่านมา พยายามส่งเสริมการใช้บัตร EMV ได้แก่ บัตรเครดิต บัตรเดบิต บัตรเติมเงิน VISA / MasterCard เพื่อจ่ายค่าโดยสาร ทั้งรถประจำทาง ขสมก. รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ของ รฟม. รถไฟชานเมืองสายสีแดง ของการรถไฟฯ แต่กลับไม่สามารถจูงใจให้เอกชนใช้ระบบเดียวกันได้

จึงเป็นเรื่องที่ผู้โดยสารจะต้องลำบากในการพกบัตรหลายใบเพื่อจ่ายค่าโดยสาร แม้จะมีบัตรที่รองรับระบบ EMV แล้วยังคงต้องพกบัตรแรบบิท บัตรแอร์พอร์ตเรลลิงก์ และบัตร HOP เพราะระบบขนส่งมวลชนในกรุงเทพฯ ยังเป็นแบบ "ต่างคนต่างทำ"


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น