xs
xsm
sm
md
lg

เปิดผลสอบเปลี่ยนป้าย 33 ล้าน "สถานีกลางบางซื่อ" โยนบอร์ด รฟท.ตัดสินปมจ้างเฉพาะเจาะจง แนะใช้ของเก่าช่วยลดงบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดผลสอบฯ เปลี่ยนป้าย "สถานีกลางบางซื่อ" 33 ล้านบาท พบเทคนิค วัสดุ เป็นไปตามมาตรฐาน ติงวิธีเฉพาะเจาะจง ส่อไม่เข้าเกณฑ์ พ.ร.บ.จัดซื้อฯ ปี 60 เหตุไม่ใช่งานที่มีผู้ผลิตได้รายเดียว โยนบอร์ด รฟท.เร่งทบทวน แนะใช้ของเดิมบางส่วนช่วยลดงบ

วันที่ 24 ม.ค. 2566 นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมเจ้าท่า ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบข้อเท็จจริงการก่อสร้างในโครงการปรับปรุงป้ายชื่อสถานีกลางบางซื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และตราสัญลักษณ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากที่นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงฯ โครงการปรับปรุงป้ายสถานีกลางบางซื่อ วงเงิน 33 ล้านบาท คณะกรรมการตรวจสอบฯ ซึ่งมีผู้แทนภายนอก ทั้งสภาวิศวกร สภาสถาปนิก และนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.) เข้าร่วม

โดยคณะกรรมการฯ ได้ประชุมทั้งสิ้น 3 ครั้ง (วันที่ 10 ม.ค. วันที่ 11 ม.ค. วันที่ 18 ม.ค.) ตรวจสอบใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. ความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง 2. ความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง พร้อมทั้งได้ให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ส่งเอกสารชี้แจงรวม 11 ข้อ เพื่อประกอบการตรวจสอบฯ


@ งานด้านเทคนิค วัสดุ งานด้านวิศวกรรม เป็นไปตามมาตรฐานวิศวกรรม

ซึ่งในประเด็นความเหมาะสมของขอบเขตงานและราคากลาง คณะกรรมการตรวจสอบฯ ได้พิจารณาเอกสารหลักฐาน ตลอดจนการชี้แจงของ รฟท.ได้ว่าการกำหนดขอบเขตงาน ซึ่ง รฟท.อ้างอิงแบบโครงสร้าง รายละเอียด เทคนิควิธีการ และวัสดุจากงานที่กำหนดไว้เดิม ไม่พบการดำเนินการที่เชื่อได้ว่า รฟท.ดำเนินการ นอกเหนือจากขอบเขตงานแต่อย่างใด เนื่องจากเป็นไปตามรายละเอียดของงานติดตั้งป้ายเดิมที่ รฟท.ได้รายงานว่ามีการตรวจสอบและรับรองทางวิศวกรรม รวมทั้งมีการติดตั้งไปแล้ว ซึ่งปรากฏว่ามีความปลอดภัยและแข็งแรงตามมาตรฐาน ดังนั้น การกำหนดขอบเขตการดำเนินการ และการกำหนดราคากลางของ รฟท.ของการดำเนินโครงการครั้งนี้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาชีพที่สามารถตรวจสอบได้

โดยเปรียบเทียบป้ายเดิม มีอักษรภาษาไทย 13 ตัว (ไม่รวมวรรณยุกต์) ภาษาอังกฤษ 19 ตัว ป้ายใหม่ มีอักษรภาษาไทย 19 ตัว (ไม่รวมวรรณยุกต์) ภาษาอังกฤษ 31 ตัว และขนาดตัวอักษรใหญ่กว่าป้ายเดิม ผลิตจากอะคริลิกสีขาวนม ยกขอบ และซ่อนไฟด้านหลัง ทำให้ต้องขยายโครงสร้างเพื่อรองรับตัวอักษรที่เพิ่มอีก 20 เมตร นอกจากนี้ยังต้องติดตั้งกระเช้า Gondolas, รื้อกระจกเดิมออก โครง Frame อะลูมิเนียม ยึดกระจกและที่หุ้มโครงเหล็กออก, ติดตั้งขา Support Frame ด้วยวิธีการเชื่อมโครงสร้างเหล็กเดิม นอกจากนี้ยังต้องติดตั้ง Frame อะลูมิเนียม ยึดแผ่นอะคริลิกใส่ชั่วคราวแทนกระจกถาวรในระหว่างรื้อถอน กรณีที่ต้องรอตัวอักษร


@เชื่อลดราคาได้อีก แนะใช้ตัวอักษรเดิม "สถานีกลาง" ลดค่าออกแบบและ Provisional Sum

ส่วนราคากลางนั้น คณะกรรมการฯ ได้สอบถามที่มาของมูลค่างาน 33,169,726.39 บาท ซึ่ง รฟท.ชี้แจงว่า แบ่งงานเป็น 4 ส่วน ประกอบด้วย 1. งานโครงสร้างวิศวกรรม วงเงิน 6,228,521.51 บาท 2. งานสถาปัตยกรรม วงเงิน 24,394,841.39 บาท 3. งานออกแบบรายละเอียดพร้อมรายการคำนวณ วงเงิน 918,700.89 บาท และ 4. งานเผื่อเลือก (Provisional Sum) วงเงิน 1,627,662.60 บาท ซึ่งสัญญาเขียนไว้ว่า Provisional Sum จะจ่ายเท่าที่ทำหมายความว่าไม่ได้ทำก็ไม่ต้องจ่าย

คณะกรรมการตรวจสอบฯ มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมแก่ รฟท.เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพ และประหยัดงบประมาณลง เช่น 1. ทบทวนรายละเอียดทั้งในส่วนของวัสดุ เทคนิค ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้การออกแบบ เลือกใช้วัสดุ และวิธีการจัดทำ และทบทวนค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน และจำนวนและเวลาที่ใช้งานของกระเช้าอีกครั้ง

2. พิจารณาความเป็นไปได้ในการใช้ตัวอักษรเดิม “สถานีกลาง” ที่ติดตั้งอยู่แล้ว มาปรับปรุงใช้ต่อแทนที่จะทำขึ้นใหม่ทั้งหมด เนื่องจากตัวอักษรยังอยู่ในสภาพดี

3. ทบทวนค่างานออกแบบ ที่น่าจะสามารถกำหนดอัตราส่วนของราคางานได้ต่ำกว่างานปกติ เนื่องจากเป็นงานที่ได้ออกแบบไว้เดิมอยู่แล้ว รวมทั้งการทบทวนปรับลดงาน Provisional Sum เช่น ความจำเป็นที่จะต้องมีวัสดุมาปิดไว้ทดแทนกระจกในขณะที่มีการรื้อถอน เนื่องจากงานดำเนินการในช่วงฤดูหนาว และอาคารสถานีบางส่วนเป็นพื้นที่ที่ไม่มีกระจกอยู่แล้ว เป็นต้น


@หวั่นไม่เข้าเกณฑ์ประมูลวิธีเฉพาะเจาะจง เหตุมีผู้ผลิตได้หลายราย

สำหรับประเด็นความถูกต้องของกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจงหรือไม่ รฟท.อ้างเหตุผลของการจ้างด้วยเหตุตามนัยมาตรา 56 (2) (ค) แห่ง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดไว้ว่าเป็น “การจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่มีผู้ประกอบการซึ่งมีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุจากผู้ประกอบการซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายหรือตัวแทนผู้ให้บริการโดยชอบด้วยกฎหมายเพียงรายเดียวในประเทศไทยและไม่มีพัสดุอื่นที่จะใช้ทดแทนได้”

ซึ่ง รฟท.ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีเฉพาะเจาะจง ว่า งานต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ติดตั้งบนความสูง 28 เมตร รู้จักโครงสร้างอาคารเป็นอย่างดี, พื้นที่ปรับปรุงป้ายเป็นพื้นที่ให้บริการประชาชน ที่ผู้รับจ้างรายเดิมต้องมีการรับประกันความชำรุดบกพร่อง เนื่องจากมีความเสี่ยงที่กระทบต่อโครงสร้าง และเป็นภารกิจที่กระทรวงคมนาคมมอบหมาย มีความจำเป็นเร่งด่วน รฟท.จึงใช้ดุลยพินิจภายใต้กรอบกฎหมาย อย่างรอบคอบในทุกมิติ

คณะกรรมการตรวจสอบฯ เห็นว่าตามกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างฉพาะเจาะจง ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนว่างานนี้มีคุณสมบัติโดยตรงเพียงรายเดียว หรือผู้ผลิตจำหน่ายรายเดียว รฟท.สามารถใช้ข้อนี้ได้หรือไม่ รฟท.สมควรหารือผู้เชี่ยวชาญด้านพัสดุกรมบัญชีกลางให้ชัดเจน นอกจากนี้ รฟท.ควรศึกษาทบทวนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างให้เหมาะสม รอบคอบ และสอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ พ.ศ. 2560 โดยอาจพิจารณาแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างตามหลักการของกฎหมาย ที่เห็นควรให้ใช้วิธีการพิจารณาเลือกใช้วิธีประกาศเชิญชวนทั่วไปเป็นลำดับแรกก่อน เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเปิดกว้าง ซึ่งจะทำให้เกิดความเชื่อมั่นถึงความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นที่ยอมรับของประชาชน

นอกจากนี้ รฟท.ควรพิจารณาทบทวนตรวจสอบกระบวนการสืบราคาให้เกิดความครบถ้วนชัดเจน และดำเนินการให้สอดคล้องกับคู่มือแนวทางการประกาศรายละเอียดข้อมูลราคากลางและการคำนวณราคากลางเกี่ยวกับการขอจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ตามหนังสือกรมบัญชีกลาง ด่วนที่สุด ที่ กค 0433.2/ว 206 ลงวันที่ 1 พ.ค. 2562


ผู้สื่อข่าวถามว่า รฟท.แจ้งเหตุผลว่า การเปลี่ยนป้ายเป็นงานเร่งด่วน จากภารกิจที่กระทรวงคมนาคมมอบหมายให้ทำโดยเร่งด่วน จึงต้องจัดซื้อจัดจ้างเฉพาะเจาะจง นายสรพงศ์กล่าวว่า คำว่าเร่งรัดเป็นเรื่องที่หน่วยราชการต้องปฏิบัติ แต่จะต้องปฏิบัติให้สอดคล้องกับระเบียบ กฎหมาย อย่างเคร่งครัดและคำนึงถึงระเบียบทุกๆ ด้าน ดังนั้น การที่กระทรวงคมนาคมสั่งเร่งรัด เรื่องนี้ไป คือให้เร่งดำเนินการให้สอดคล้องกับระเบียบกฎหมายและเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล

นายสรพงศ์กล่าวว่า ขณะนี้ได้รายงานผลการตรวจสอบฯ พร้อมข้อเสนอแนะต่อรมว.คมนาคมตามขั้นตอนแล้ว ส่วนจะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไปเป็นอำนาจของคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท.จะพิจารณาในฐานะผู้จัดซื้อจัดจ้าง กรรมการตรวจสอบฯ ไม่สามารถไปสั่งการได้ เพราะจะกระทบต่อคู่สัญญาฯ ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่กระทบต่อข้อกฎหมาย จะต้องอยู่ที่คู่สัญญา คือ รฟท.และเอกชน ทั้งนี้ หาก รฟท.พิจารณาเป็นอย่างไร ควรรายงานผลกลับมาที่กระทรวงคมนาคมโดยเร่งด่วนต่อไป

ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า ได้รับทราบข้อมูลต่างๆ จากที่มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนเท่านั้น ซึ่ง รฟท.จะต้องรอกระทรวงคมนาคมแจ้งผลการตรวจสอบฯ อย่างเป็นทางการก่อน เนื่องจาก รมว.คมนาคม ซึ่งเป็นผู้แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบฯ อาจจะมีข้อสั่งการ หรือความเห็นเพิ่มเติม ทั้งนี้ รฟท.จะมีการรายงานความคืบหน้ากรณีดังกล่าวต่อคณะกรรมการ รฟท.ตามขั้นตอนด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น