xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” บินพบบิ๊กสหภาพยุโรป ตั้งเป้าประกาศเจรจา FTA ไทย-อียู

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“จุรินทร์” นำคณะเยือนกรุงบรัสเซลส์ 25-26 มี.ค.นี้ พบคณะกรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป (อียู) ตั้งเป้าประกาศเจตจำนงสองฝ่ายเจรจาทำ FTA ไทย-อียู เผยหากเห็นพ้องต้องกันจะเริ่มต้นนับหนึ่งการเจรจา และดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการของแต่ละประเทศ เชื่อหากทำสำเร็จไทยได้ประโยชน์เพียบ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จะนำคณะเดินทางไปเยือนกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พบกับนายวัลดิส ดอมโบรฟสกิส รองประธานคณะกรรมาธิการด้านการค้าของสหภาพยุโรป หรือตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีการค้าของรัฐบาลสหภาพยุโรป ในวันที่ 25-26 ม.ค. 2565 เพื่อพบและประชุมร่วมกันในการแสดงเจตจำนงทางการเมืองทั้งสองฝ่ายในการเจรจาจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ไทย-สหภาพยุโรป (อียู)

ทั้งนี้ เรื่อง FTA ไทย-สหภาพยุโรป เป็นเรื่องที่คาดหวังกันมายาวนาน แต่ยังไม่บรรลุผล เพราะติดขัดเรื่องการเจรจามาตั้งแต่ช่วงปี 2557 ก่อนที่รัฐบาลชุดนี้และตนจะมารับผิดชอบกระทรวงพาณิชย์ โดยในครั้งนี้จะเป็นตัวแทนประเทศไทยแจ้งความจำนงว่าประเทศไทย รวมทั้งกระทรวงพาณิชย์ของไทยมีความพร้อมที่จะทำ FTA ระหว่างไทย-สหภาพยุโรป ถ้าสหภาพยุโรปเห็นพ้องต้องกัน แต่ละประเทศจะได้กลับมาดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการของแต่ละประเทศ

“จะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับการประชุมและการเจรจาที่ผมจะเดินทางไป ซึ่งตั้งความหวังว่าจะสำเร็จ และจะได้เริ่มนับหนึ่ง FTA ไทย-อียู เพราะเป็น FTA ที่ภาคเอกชนมีความประสงค์และต้องการมานาน แต่ยังไม่บรรลุผล ถ้าประสบความสำเร็จจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปได้มากขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโอกาสทางการค้า จะส่งออกสินค้าไปยังประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปมีตัวเลขที่ดีขึ้น เป้าหมายภาษีระหว่างกันเป็นศูนย์ ทำให้ได้แต้มต่อประเทศคู่แข่งที่ไม่มี FTA กับสหภาพยุโรป 27 ประเทศ โดยจะพยายามทำให้ดีที่สุด ให้มีโอกาสสำเร็จ จะเป็นการสร้างอนาคตให้แก่ประเทศต่อไป” นายจุรินทร์กล่าว

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศระบุว่า ในปี 2565 อียูเป็นคู่ค้าสำคัญของไทยอันดับที่ 5 รองจากอาเซียน จีน สหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกัน 41,038.06 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.46 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 6.95% ของการค้าไทยกับโลก โดยไทยส่งออกไปอียู 22,794.40 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8.10 แสนล้านบาท สินค้าส่งออกหลัก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง และแผงวงจรไฟฟ้า และนำเข้าจากอียู มูลค่า 18,243.66 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.48 แสนล้านบาท สินค้านำเข้าหลัก ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องมือเครื่องใช้เกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ การแพทย์
กำลังโหลดความคิดเห็น