xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.ลั่นปีนี้ "แหล่งแคช-เมเปิล" ได้ข้อสรุป ชี้ขาด “ขายทิ้งหรือพัฒนาร่วมกับโครงการอื่น”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปตท.สผ.ลั่นปีนี้ชัดเจนว่าจะขายการลงทุนหรือพัฒนาร่วมในโครงการแคช-เมเปิลที่ออสเตรเลีย หลังพบต้นทุนการผลิตก๊าซฯสูง เหตุโครงการห่างจากชายฝั่งทะเลร่วม 800 กม. แย้มโครงการโมซัมบิกจ่อเดินหน้าก่อสร้างในปีนี้ หลังหยุดดำเนินการจากความไม่สงบในพื้นที่มาตั้งแต่ปี 64

นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) หรือปตท.สผ. เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.สผ.อยู่ระหว่างพิจารณาตัดสินว่าจะขายการลงทุนในแปลงสำรวจ AC/RL7 (แคช-เมเปิล) ประเทศออสเตรเลีย หรือจะพัฒนาร่วมกับโครงการอื่นที่อยู่ใกล้เคียง คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปี 2566

ยอมรับว่าต้นทุนในการพัฒนาแปลงปิโตรเลียมแคช-เมเปิลค่อนข้างสูง เนื่องจากเป็นแปลงที่อยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลถึง 800 กิโลเมตร ซึ่งเดิมบริษัทเคยมีการศึกษาการออกแบบด้านวิศวกรรมเบื้องต้น (Preliminary Front End Engineering Design หรือ Pre-FEED) เพื่อพัฒนาโครงการเรือผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (FLNG) ในแหล่งดังกล่าว เนื่องจากพบว่ามีปริมาณสำรองก๊าซฯ ประมาณ 3.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไม่ทำคุ้มการลงทุน ปัจจุบันต้นทุนการทำ FLNG ยิ่งสูงมากขึ้นหลังจากยุโรปขาดแคลนพลังงาน

แปลง AC/RL7 ตั้งอยู่ในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลีย ห่างจากเมืองดาร์วินไปทางทิศตะวันตกประมาณ 700 กิโลเมตร โดย พีทีทีอีพี เอเอเอ ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ปตท.สผ.ถือสิทธิในแปลงดังกล่าวร้อยละ 100 โดยก่อนหน้านี้ ปตท.สผ.ได้ขายการลงทุนแหล่งมอนทารา ประเทศออสเตรเลียในสัดส่วนร้อยละ 100 ให้กับบริษัท เจดสโตน เอนเนอร์ยี่ (อีเกิ้ล) พีทีวาย จำกัด (Jadestone Energy (Eagle) Pty Ltd) มีมูลค่าการขาย 195 ล้านดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2561 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการลงทุนของ ปตท.สผ.ให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ที่มุ่งเน้นการลงทุนในพื้นที่ยุทธศาสตร์ที่บริษัทมีความเชี่ยวชาญ มีศักยภาพปิโตรเลียมสูง มีต้นทุนและความเสี่ยงต่ำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เมียนมา มาเลเซีย และตะวันออกกลางอย่างโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เป็นต้น


นายมนตรีกล่าวถึงความคืบหน้าโครงการโมซัมบิก แอเรีย วันว่า ขณะนี้บริษัท TOTAL E&P Mozambique Area 1 Limitada ในฐานะผู้ดำเนินการ (Operator) เตรียมกลับเข้ามาดำเนินการก่อสร้างต่ออีกครั้งภายในปีนี้ หลังจากมีกองกำลังทหารเพื่อความมั่นคงในพื้นที่ ซึ่งโครงการดังกล่าวได้ประกาศหยุดการดำเนินการก่อสร้างด้วยเหตุสุดวิสัย (Force Majeure) เมื่อเดือนเมษายน 2564 จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นที่เมือง Palma ประเทศโมซัมบิก ซึ่งอยู่ห่างจากที่ตั้งโครงการพัฒนาและก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว Mozambique LNG ประมาณ 20 กิโลเมตร

โครงการ Mozambique LNG มีบริษัท PTTEP Mozambique Area 1 Limited ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ถือสัดส่วนการลงทุนในโครงการร้อยละ 8.5 ซึ่งโครงการนี้เดิมมีเป้าหมายในระยะแรกในการผลิต LNG รวม 12.88 ล้านตันต่อปีให้แก่ลูกค้าตามสัญญาซื้อขายก๊าซฯ LNG ในระยะยาว ซึ่งเดิมคาดว่าเริ่มการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวได้ในปี 2567 คงต้องเลื่อนผลิตออกไปกว่า 1 ปีจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

ส่วนโครงการพัฒนาแหล่ง M3 ในประเทศเมียนมาก็ต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากเดิมบริษัทมีแผนจะนำก๊าซฯ จากแหล่งดังกล่าวมาใช้ผลิตไฟฟ้าป้อนให้ประชาชนในเมียนมาภายใต้โครงการ Gas to Power แต่เนื่องจากปัญหาทางการเมืองภายในประเทศเมียนมาทำให้บริษัทตัดสินใจชะลอโครงการดังกล่าวออกไปไม่มีกำหนด ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.โฟกัสเฉพาะแหล่งยาดานา และแหล่งซอติก้า ที่เมียนมา ซึ่งป้อนก๊าซฯ คิดเป็นสัดส่วน 17% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งหมดในประเทศไทย และคิดเป็น 50% ของปริมาณความต้องการใช้ก๊าซฯ ทั้งหมดในเมียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า
กำลังโหลดความคิดเห็น