xs
xsm
sm
md
lg

“ศักดิ์สยาม” เร่ง "แลนด์บริดจ์-สีแดงส่วนต่อขยาย" มั่นใจชง ครม.ทันรัฐบาล "ประยุทธ์" โค้งสุดท้าย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ศักดิ์สยาม” มั่นใจชงบิ๊กโปรเจกต์ รถไฟสีแดงส่วนต่อขยาย “รังสิต-ม.ธรรมศาสตร์” และ "แลนด์บริดจ์" เข้า ครม.เคาะทันรัฐบาลชุดนี้ พร้อมเร่งผลศึกษาพัฒนาย่านพหลฯ แปลง A และ E ในปีนี้ เผยเอกชนญี่ปุ่น 18 บริษัทสนใจ

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางด้วยระบบราง ซึ่งปัจจุบันมีการเปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดงแล้ว และวันนี้ (19 ม.ค.) มีบริการรถไฟทางไกล ในอนาคตจะมีการให้บริการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน และรถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน ซึ่งการเป็นศูนย์กลางอาเซียนได้ จะต้องเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง ไทย-ลาว-จีน  และลงด้านใต้ เชื่อมกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ซึ่ง 5 ประเทศที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความเห็นตรงกันในแนวคิดที่จะให้มีการเชื่อมระบบราง และได้มีการตั้งคณะกรรมการร่วมกัน เพื่อวาง Action Plan ในการดำเนินโครงการแล้ว

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการศึกษาพัฒนาระบบราง และมีโครงการที่ศึกษาแล้วเสร็จ อยู่ในขั้นตอนพร้อมนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้แก่ โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดง ส่วนต่อขยาย 5 เส้นทาง วงเงินรวมกว่า 6.88 หมื่นล้านบาท 

ขณะนี้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้สรุปรายละเอียดโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท มาที่กระทรวงคมนาคมแล้ว และกระทรวงฯ กำลังเร่งสรุป และคาดว่าจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้แน่นอน และหลังจากเห็นชอบก็จะนำเข้าสู่ขั้นตอนการประกวดราคาต่อไป

ส่วนรถไฟสายสีแดงที่เหลือ ได้แก่  ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงิน 4,695.36 ล้านบาท ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.76 กม. และช่วงบางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 20.14 กม. ซึ่งเป็นช่วง Missing Link ระยะทางรวม 25.9 กม. คาดว่าจะนำเสนอ ครม.ได้ในลำดับต่อไป 


นอกจากนี้ ยังมีโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอ่าวไทย-อันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชุมพร-ระนอง ที่ได้สรุปผลการศึกษาเบื้องต้นเพื่อนำเสนอ ครม.ได้ภายในรัฐบาลชุดนี้เช่นกัน ซึ่งเป็นอีกโครงการที่มีทั้งระบบราง มอเตอร์เวย์ และท่าเรือน้ำลึก โดยหลังจากได้รับความเห็นชอบจะนำโรดโชว์นักลงทุนต่อไป

@เร่งสรุปผลศึกษาพัฒนาย่านพหลฯ นำร่องแปลง A และ E ในปีนี้

นายศักดิ์สยามกล่าวถึงการพัฒนาพื้นที่ศูนย์คมนาคมพหลโยธิน ซึ่งมีพื้นที่รวม 2,325 ไร่ว่า ขณะนี้บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) ได้มีการศึกษาแผนแม่บทการพัฒนา โดยประเมินว่าจะสามารถนำพื้นที่แปลง A ขนาดเนื้อที่ 32 ไร่ และพื้นที่แปลง E เนื้อที่ประมาณ 140 ไร่ ออกมานำร่องพัฒนาได้ก่อน โดยจะสรุปผลการศึกษาภายในปีนี้

และจากการไปโรดโชว์ที่ประเทศญี่ปุ่น พบว่าภาคเอกชนประเทศญี่ปุ่นให้ความสนใจในการเข้ามาพัฒนาอย่างมาก เบื้องต้น ประมาณ 18 บริษัท เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีการลงทุนอยู่ในประเทศไทยในด้านอสังหาริมทรัพย์อยู่แล้ว โดยกำลังรอให้ผลศึกษาที่ทำร่วมกับทางองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR) ซึ่งประสบความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของญี่ปุ่น แต่ก็ต้องใช้เวลามากกว่า 40 ปี ขณะนี้ประเทศไทยถือว่ากำลังจะเริ่มนับหนึ่งแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น