xs
xsm
sm
md
lg

ดีเลย์เพียบ! วันแรกย้ายรถไฟทางไกล "ศักดิ์สยาม" สั่งเก็บข้อมูลผู้โดยสารเร่งแก้ปัญหาบริการ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ศักดิ์สยาม” ตัดริบบิ้นย้ายรถไฟทางไกลวันแรก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ชี้เปลี่ยนแปลงเพื่อเป็นฮับระบบรางของอาเซียน เร่งพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ ดันเพิ่มรายได้ 40% เผยผู้โดยสารกว่า 6,000 คน แต่ยังสับสนป้ายไม่ชัดเจน หลายขบวนดีเลย์อ่วม

วันที่ 19 ม.ค. 2566 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เส้นทางสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-ที่หยุดรถมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ว่า เป้าหมายในการก่อสร้างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพื่อเป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เพื่อเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการเดินทางทางรางทุกเส้นทาง โดยระยะแรกได้เปิดให้บริการเชิงพาณิชย์รถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน และ บางซื่อ-รังสิต) อย่างเต็มรูปแบบเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ซึ่งมีจำนวนผู้โดยสารใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือร่วมกันมากว่า 2 ปี โดยมีการปรับแผนให้เหมาะสมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การเป็นศูนย์กลางการขนส่งระบบรางที่สามารถเชื่อมโยงทุกจุดหมายทั่วประเทศ และเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางแก่ประชาชน จึงกำหนดวันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ในการย้ายขบวนรถไฟทางไกลมาให้บริการ ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพื่อลดภาระความแออัดการให้บริการของสถานีกรุงเทพ (หัวลำโพง ) และลดปัญหาการจราจรติดขัดในพื้นที่ชั้นในของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดทางรถไฟ รวมทั้งลดปัญหามลภาวะทางสิ่งแวดล้อม PM 2.5 และเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถไฟให้มีความตรงต่อเวลามากยิ่งขึ้น


โดยในระยะแรก ตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค. 2566 ย้ายรถไฟทางไกลจำนวน 52 ขบวน แบ่งเป็น รถไฟสายเหนือ 14 ขบวน รถไฟสายใต้ 20 ขบวน และรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือ 18 ขบวน

คาดการณ์ว่าภายหลังการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล จะส่งผลให้มีผู้ใช้บริการสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เพิ่มขึ้นอีก 10,000 คนต่อวัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมมีมาตรการรองรับและมีความพร้อมในการให้บริการแก่ผู้โดยสารรถไฟทางไกล ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ทั้งป้ายบอกทาง จุดพักคอยผู้โดยสาร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวก

ด้านองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) จัดรถโดยสารปรับอากาศ เป็น Shuttle Bus ให้บริการเส้นทางระหว่างสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์และสถานีหัวลำโพง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย โดยใช้ตั๋วรถไฟทางไกลนำมาแสดงเพื่อใช้บริการต่อได้ ซึ่งมีความถี่ทุกๆ 30 นาที หรือตามจำนวนเที่ยวที่ขบวนรถไฟมาถึงสถานี และการเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนอื่น

โดย Shuttle Bus ให้บริการฟรี เป็นเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าฯ รฟท.ทำแบบสอบถามประชาชนในการใช้บริการ เพื่อนำความเห็นมาปรับปรุงบริการทั้งที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และบริการ Shuttle Bus เพื่อปรับปรุงในอนาคต และยืนยันว่าสถานีหัวลำโพงจะยังคงสภาพการใช้ประโยชน์สถานีที่มีประวัติศาสตร์และจะมีการพัฒนาเพื่อให้ใช้ประโยชน์คุ้มค่ามากขึ้น

“เหตุผลที่ต้องย้ายขบวนรถไฟทางไกลมาที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เพราะที่นี่ก่อสร้างโดยใช้งบประมาณมากกว่า 30,000 ล้านบาท ดังนั้นจะต้องใช้ประโยชน์ให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด อีกทั้งสถานีมีค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการมาก หากไม่นำมาใช้ประโยชน์ก็จะถูกตั้งคำถามได้ ขณะที่หลายประเทศมีการพัฒนาพื้นที่สถานีเพื่อหารายได้เชิงพาณิชย์ เช่นประเทศญี่ปุ่นสามารถดำเนินการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในสถานีรถไฟทั้ง โอซากา โตเกียว โยโกฮามา สร้างรายได้ สัดส่วนถึง 40% จากรายได้ทั้งหมด ซึ่งนั่นคือเป้าหมายที่การรถไฟฯ จะพยายามไปให้ถึง ขณะนี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่จะต้องสร้างความรับรู้ให้ประชาชนเข้าใจถึงการใช้บริการที่เปลี่ยนไป และนำความคิดเห็นเพื่อนำมาปรับปรุงการให้บริการต่อไป”

นายศักดิ์สยามกล่าวว่า ขณะนี้ รฟท.เร่งปรับปรุงตู้โดยสาร ห้องน้ำระบบปิด ซึ่งเหลือประมาณ 60% ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเนื่องจากขบวนรถไฟมีจำนวนมาก

โดยในวันนี้ (19 มกราคม 2566) ซึ่งเป็นวันแรกในการย้ายรถไฟทางไกล เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 น. จึงมีขบวนรถไฟเข้า-ออก สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จำนวน 27 ขบวน แบ่งเป็น สายเหนือ และตะวันออกเฉียงเหนือ ขาออก จำนวน 10 ขบวน ขาเข้า จำนวน 7 ขบวน และรถไฟสายใต้ ขาเข้า จำนวน 1 ขบวน ขาออก จำนวน 9 ขบวน มีผู้โดยสารประมาณ 6,200 คน


@วันแรก ผู้โดยสารยังสับสนป้ายบอกทาง พบมีดีเลย์หลายขบวน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประชาชนได้มีการเดินทางมาใช้บริการที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์วันแรกคึกคัก โดยจากการสอบถามประชาชนจำนวนมากพอใจ สถานีมีความกว้างขวาง สะอาด แต่มีความเห็นในเรื่องความไม่สะดวกในการเดินทางเข้าสู่สถานี เช่น ต้องต่อรถหลายต่อ ใช้เวลามากขึ้น และมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม อีกทั้งรู้สึกสับสนในป้ายบอกทางต่างๆ

นอกจากนี้ ยังพบว่าขบวนรถทางไกลที่ให้บริการในวันนี้เกิดความล่าช้าหลายขบวน เช่น ขบวน 109 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ที่กำหนดออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เวลา 14.15 น. แต่พบว่าขบวนออกจากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ล่าช้าถึง 120 นาที นอกจากนี้ยังพบว่ามีอีกหลายขบวนที่ออกจากสถานีล่าช้ากว่าเวลาที่ตารางเดินรถ เช่น ขบวน 985 (กรุงเทพฯ-สุไหงโก-ลก) ล่าช้า 95 นาที ขบวนที่ 7 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ล่าช้า 52 นาที เป็นต้น


ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2566 เป็นต้นไป ขบวนรถไฟสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ ทุกขบวน ได้ปรับมาใช้การเดินรถบนโครงสร้างทางยกระดับเช่นเดียวกับรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ - รังสิต) ตั้งแต่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์จนถึงสถานีดอนเมือง โดยยกเลิกการให้บริการรับ - ส่ง ผู้โดยสารป้ายหยุดรถไฟ กม.11 สถานีบางเขน ที่หยุดรถไฟทุ่งสองห้อง สถานีหลักสี่ และที่หยุดรถการเคหะ กม.19 ซึ่งผู้ใช้บริการขบวนรถด่วนพิเศษ รถด่วน รถเร็ว รถธรรมดา และตั๋วเดือน สามารถใช้ตั๋วโดยสารเข้าใช้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ภายในระยะเวลา 1 ปี ตามเงื่อนไขที่ระบุบนตั๋วโดยสาร สำหรับขบวนรถธรรมดา รถชานเมือง และขบวนรถนำเที่ยว จำนวน 62 ขบวน ยังคงให้บริการที่สถานีต้นทางและสถานีปลายทางที่สถานีหัวลำโพงตามเดิม

ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์เปิดให้บริการรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-ตลิ่งชัน) และรถไฟชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) เพื่อยกระดับคุณภาพในการให้บริการของรถไฟชานเมืองในการบริการขนส่งผู้โดยสารที่อยู่อาศัยในพื้นที่ชานเมืองให้สามารถเข้าสู่ใจกลางกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็ว รวมทั้งเชื่อมโยงการเดินทางไปยังทุกภูมิภาคทั่วประเทศด้วยการเปิดให้บริการขบวนรถไฟทางไกล และในอนาคตเตรียมเปิดให้บริการรถไฟความเร็วสูง นอกจากนี้ มีแผนพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ตามหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) โดยพัฒนาเมืองควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคมและการขนส่งทางรางของประเทศ ซึ่งเป็นเป้าหมายที่กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการอย่างบูรณาการ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ




กำลังโหลดความคิดเห็น