xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯ หนุนภาคการผลิตรับมือค่าไฟแพงหันพึ่งพลังงานทดแทนลดต้นทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กระทรวงอุตสาหกรรมเผยผลกระทบค่าไฟฟ้าภาคธุรกิจ อุตฯ ที่ปรับมาอยู่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วยในงวด ม.ค.-เม.ย. 66 ดันต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.88% แนะทางออกหันพึ่งพิงพลังงานทดแทน ทั้งแสงอาทิตย์ ลม ไฮโดรเจน ฯลฯ ที่เป็นพลังงานสะอาดรับมือ

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบหมายให้สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ทำการศึกษาผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมจากกรณีที่ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวด ม.ค.-เม.ย. 66 ประเภทธุรกิจอุตสาหกรรมที่ปรับขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ยรวม 5.33 บาทต่อหน่วย ซึ่งพบว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.88% ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า รองลงมา ได้แก่ ซีเมนต์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เครื่องแต่งกาย และเซรามิก

“ราคาพลังงานที่ทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวเพิ่มขึ้น และเป็นการเร่งอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงส่งผลให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยลดลง โดยคาดว่าสถานการณ์ราคาพลังงานจะมีผลกระทบในระยะยาว ดังนั้นผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือด้วยการหาแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่มีราคาต่ำและเป็นพลังงานสะอาดที่ตอบโจทย์เทรนด์ของโลก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ น้ำ ลม ไฮโดรเจน ฯลฯ” นายสุริยะกล่าว


นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า สศอ.ได้ศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าต่อภาคอุตสาหกรรม โดยใช้ข้อมูลจากตารางปัจจัยการผลิตและผลผลิตของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จากการศึกษาพบว่าการขึ้นค่าไฟฟ้ามาอยู่ที่อัตรา 5.33 บาทต่อหน่วย จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าเพิ่มขึ้น 12.41% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมซีเมนต์เพิ่มขึ้น 9.47% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมสิ่งทอเพิ่มขึ้น 8.96% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์คอนกรีตเพิ่มขึ้น 8.14% ต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเครื่องแต่งกายเพิ่มขึ้น 7.98% และต้นทุนการผลิตอุตสาหกรรมเซรามิกเพิ่มขึ้น 6.49%

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยใช้ข้อมูลดัชนีการส่งสินค้ารายเดือน (Shipment Index) ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 พบว่าอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ มีอัตราการขยายตัวของดัชนีการส่งสินค้าในแต่ละเดือนค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอุตสาหกรรมสิ่งทอ จำเป็นต้องปรับตัวอย่างมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอื่นๆ

“แนวทางการลดผลกระทบจากการขึ้นค่าไฟฟ้า ผู้ประกอบการจำเป็นต้องหาแหล่งพลังงานทดแทนการนำเข้าพลังงาน ได้แก่ การพึ่งพาพลังงานสะอาด และพลังงานทางเลือก เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar cell พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานไฮโดรเจน เป็นต้น รวมถึงจำเป็นต้องใช้พลังงานในสถานประกอบการอย่างประหยัด และบริหารการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในสถานประกอบการอย่างมีประสิทธิภาพ โดยวางแผนการใช้งานพื้นที่ให้เหมาะสมกับการจัดเก็บ เช่น การใช้แสงจากธรรมชาติ การใช้ไฟ LED เปิด-ปิดอัตโนมัติด้วยระบบเซ็นเซอร์ ติดตั้งพัดลมระบายอากาศ และสร้างพื้นที่จัดเก็บไว้เหนือสำนักงานเพื่อใช้พื้นที่ทุกจุดอย่างคุ้มค่า” นางวรวรรณกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น