xs
xsm
sm
md
lg

"บีทีเอส" สวนกลับ "กรุงเทพธนาคม" ชี้ใส่ร้ายทำให้บริษัทเสียหาย ยันสัญญาจ้างเดินรถ "สายสีเขียว" ถูกกฎหมาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นายสุรพงษ์  เลาหะอัญญา  กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC
บีทีเอสตั้งโต๊ะตอบโต้ "กรุงเทพธนาคม" ชี้ใส่ร้าย ทำให้บริษัทเสียหาย ยันทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายถูกต้อง วอนเห็นใจเอกชนต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเดินรถกว่า 4 ปีแล้ว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ได้แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ “การทำสัญญาจ้างเดินรถ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว” ประเด็นที่ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ได้เผยแพร่ข้อมูล และประเด็นของคำให้การที่กรุงเทพธนาคมจะยื่นต่อศาลปกครอง เกี่ยวกับคดีที่ 2 ที่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ฟ้องให้ กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม ชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายสำหรับเดือนมิถุนายน 2564 ถึงเดือนตุลาคม 2565 เป็นจำนวนกว่า 11,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ กรุงเทพธนาคมได้กล่าวอ้างว่าสัญญาจ้างเดินรถที่กรุงเทพธนาคมทำกับรถไฟฟ้าบีทีเอส “เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ” พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่าการใช้สิทธิฟ้องคดีของ BTSC “เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ (กล่าวคือ กรุงเทพธนาคม) ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคมเป็นคดี

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ BTSC กล่าวว่า ข้อมูลที่กรุงเทพธนาคมเผยแพร่ออกมานั้นทำให้บริษัทฯ ได้รับความเสียหาย เพราะทำให้ประชาชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของบริษัทฯ ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าบริษัทฯ ไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถฯ โดยรับทราบอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

โดยยืนยันว่าบริษัทฯ ไม่มีสิทธิหรือเกี่ยวข้องใดๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหรือข้อบัญญัติของกรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม และเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่า กทม. และกรุงเทพธนาคมได้ปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบ และหรือข้อบัญญัติที่เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วน และถูกต้องแล้ว

ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้าง และการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย และกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน เป็นไปโดยสุจริต ซึ่งมีผลทำให้สัญญามีความชอบด้วยกฎหมาย และผูกพันคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตั้งแต่ปี 2555

แต่เกือบ 4 ปีหรือตั้งแต่ พ.ค. 2562 ที่ กทม. และกรุงเทพธนาคม ค้างชำระค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายต่อบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ ได้พยายามอย่างดีที่สุดที่จะทำให้ประชาชนไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาการค้างชำระค่าจ้างดังกล่าว โดยบริษัทฯ ต้องอาศัยเงินทุนและการเงินกู้ยืมของบริษัทฯ มาดำเนินการ และชำระค่าใช้จ่ายในการเดินรถ

และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารของ กทม. และกรุงเทพธนาคมตั้งแต่กลางปี 2565 บริษัทฯ ก็หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากภาครัฐในการชำระเงินค่าจ้างเดินรถ เพื่อให้บริษัทฯ สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง และบริษัทฯพร้อมเจรจากับ กทม.และกรุงเทพธนาคม

ในขณะที่ศาลปกครองกลางได้พิพากษาให้ กทม. และกรุงเทพธนาคมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้แก่บริษัทฯ ตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขแดงที่ 1926/2565 บริษัทฯ ก็ยังไม่ได้รับชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายครบถ้วน


ดังนั้น การอ้างความเห็นว่ายังไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถให้แก่บริษัทฯ เพราะเห็นว่าสัญญาจ้างเดินรถไม่ชอบด้วยกฎหมาย ความเห็นดังกล่าวก็ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายที่ศาลปกครองสูงสุดในคดีหมายเลขแดง ที่ 356/2565 ได้เคยวางหลักไว้ว่า ตราบใดที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้สัญญาเป็นโมฆะ ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าสัญญาเป็นโมฆะ และคู่สัญญาฝ่ายรัฐต้องชำระหนี้ตามสัญญาให้กับคู่สัญญาฝ่ายเอกชน

ซึ่งการที่ กทม.และกรุงเทพธนาคมยังคงไม่ชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย จะยิ่งสร้างความเสียหายมากขึ้นให้แก่กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคมจากดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละวัน

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 มีค่าใช้จ่ายในการเดินรถประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน ที่ผ่านมาบริษัทได้เพิ่มทุน ออกหุ้นกู้ เพื่อมาใช้บริหารการเดินรถ จึงอยากให้เข้าใจเอกชน ส่วนรายได้ที่ กทม.จัดเก็บในส่วนต่อขยายที่ 1 จำนวน 15 บาท ปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่ 2-3 ล้านบาทต่อวัน

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)
พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันศาลปกครองอยู่ระหว่างอุทธรณ์ในคดีฟ้องทวงหนี้สายสีเขียว ครั้งแรก จำนวน 12,000 ล้านบาท (หนี้ช่วง พ.ค. 62 -พ.ค. 64) โดยคาดว่าภายในปี 2566 คำพิพากษาจะได้ข้อสรุปแล้ว โดยเมื่อปลายปี 2565 บริษัทได้ยื่นศาลปกครองสูงสุดในการจัดทำคำร้องให้ศาลฯ พิจารณาคดีดังกล่าวเป็นกรณีเร่งด่วนตาม พ.ร.บ.ศาลปกครอง หากเรื่องนี้มีการพิจารณาล่าช้าอาจกระทบต่อการให้บริการระบบขนส่งสาธารณะต่อประชาชนได้ หากศาลรับเรื่องแล้วจะมีการพิจารณาว่าเข้าเงื่อนไขหรือไม่

ส่วนค่าจ้างติดตั้งระบบการเดินรถไฟฟ้า จำนวน 2 หมื่นล้านบาทยังไม่ฟ้อง แต่ได้ทำหนังสือทวงถามไปช่วงปลายปี 65 ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น