xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ จ่อเปิดสำรวจแหล่งปิโตรเลียมรอบใหม่ในปีนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมเชื้อเพลิงฯ เตรียมเปิดให้ยื่นสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกรอบที่ 25 ภายในปีนี้ เพื่อเร่งหาปิโตรเลียมรองรับความต้องการใช้ของประชาชน คาดประกาศผู้ได้สิทธิสำรวจฯ แหล่งอ่าวไทยรอบ 24 ในเดือน ก.พ. โดย ปตท.สผ.ได้ยื่นชิง 2 ใน 3 แปลง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ตามที่กรมเชื้อเพลิงฯ ได้ออกประกาศพื้นที่แปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยสำหรับการให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบ 24 จำนวน 3 แปลง ประกอบด้วย แปลง G1/65 G2/65 และ G3/65 เป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้เคียงกับแนวท่อก๊าซฯ ที่มีอยู่เดิมและอยู่ใกล้กับพื้นที่ผลิตหลักที่ปัจจุบันมีการผลิตก๊าซธรรมชาติอยู่ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่อไปได้ ซึ่งมีผู้ยื่นเสนอ 2 ราย ขณะนี้อยู่ขั้นตอนการพิจารณา คาดว่าจะประกาศรายชื่อผู้ได้รับสิทธิในเดือนกุมภาพันธ์นี้

นอกจากนี้ กรมเชื้อเพลิงฯ ได้เร่งพิจารณาเปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 25 เป็นพื้นที่บนบกภายในปีนี้ โดยได้หารือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่าจะวางแนวทางอย่างไร หากเปิดสำรวจไปแล้ว พื้นที่ปิโตรเลียมเป็นพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่อนุรักษ์ป่าไม้ และพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) พื้นที่เหล่านี้จะดำเนินการอย่างไร เพราะที่ผ่านมาเกิดปัญหาเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบต่อผู้ลงทุน อย่างไรก็ตาม การประกาศให้ยื่นขอสิทธิฯรอบที่ 25 อาจจะเลือกพื้นที่ที่ไม่มีปัญหามาเปิดก่อน เพื่อให้ประเทศไทยมีทรัพยากรมาบริหารจัดการ ช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน และลดผลกระทบจากการนำเข้าพลังงานที่มีราคาสูง

นอกจากนี้ ได้ผลักดันการเจรจากับกัมพูชาเพื่อพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา โดยคาดว่าจะมีการหารือร่วมระหว่างคณะทำงานของ 2 ประเทศภายใน 2 เดือนข้างหน้านี้ เพื่อที่ร่วมกำหนดแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนให้เกิดประโยชน์ต่อ 2 ประเทศต่อไป รองรับความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้รายงานเรื่องการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังจาก เดือน ธ.ค. 2565 ฝ่ายไทยได้มีการหารือกับนายซุย แซม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเหมืองแร่และพลังงานกัมพูชา เพื่อพัฒนาพื้นที่ปิโตรเลียมทับซ้อนไทย-กัมพูชา (Overlapping Claims Area : OCA) พื้นที่ประมาณ 26,000 ตารางกิโลเมตร โดยใช้โครงสร้างของคณะกรรมการร่วม (Joint Committee : JC) ระหว่างไทย-กัมพูชา


นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า บริษัทได้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบที่ 24 จำนวน 2 แปลง ซึ่งเป็นแปลงที่อยู่ใกล้กับแท่นผลิตของ ปตท.สผ.ในปัจจุบัน โดยหากได้รับสิทธิก็จะดำเนินการสำรวจและผลิตได้ภายใน 3-4 ปีข้างหน้า เร็วกว่าการผลิตในแหล่งใหม่ที่ไม่ใกล้พื้นที่เดิมที่จะต้องใช้เวลาในการสำรวจกว่า 3 ปีและใช้เวลาผลิตอีก 2 ปี รวมกว่า 5 ปี

ในขณะเดียวกัน หากกรมเชื้อเพลิงฯ เปิดสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมบนบกในรอบที่ 25 ทาง ปตท.สผ.พร้อมที่จะร่วมยื่นขอสิทธิด้วย โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้แหล่งสินภูฮ่อม จ.อุดรธานี ที่จะหมดอายุสัมปทานในอีก 8 ปีข้างหน้า โดยพื้นที่นี้มีความสำคัญที่จะต้องผลิตก๊าซธรรมชาติเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าขอนแก่นที่มีกำลังผลิตราว 600 เมกะวัตต์ ปัจจุบันแหล่งสินภูฮ่อมมีกำลังผลิตราว 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน
กำลังโหลดความคิดเห็น