xs
xsm
sm
md
lg

ค่าไฟแพง! เทรนด์รักษ์โลกหนุนติดโซลาร์ฯ ปี 66 ร้อนแรงต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) ของไทยที่ร้อนแรงรับปี 2566 สวนทางเศรษฐกิจที่ยังเปราะบางจากเศรษฐกิจโลกเริ่มถดถอย (Recession) ที่ล่าสุดคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ทบทวน Ft งวด ม.ค.-เม.ย. 66 สำหรับประเภทอัตราค่าไฟอื่นๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ธุรกิจบริการ โรงแรม ฯลฯ ใหม่เหลือ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย จากเดิมจะต้องปรับไปอยู่ 190.44 สตางค์ต่อหน่วย หรือจ่ายค่าไฟเฉลี่ยรวมเป็น 5.33 บาทต่อหน่วยจากเดิมที่ 5.69 บาทต่อหน่วย ขณะที่ประเภทบ้านอยู่อาศัยอัตราคงเดิมที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย หรือเฉลี่ยรวมที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ตัวเลขดังกล่าวในสายตาคนไทยโดยรวมยังมองว่าสูงเกินไปโดยเฉพาะจากภาคเอกชน

ขณะที่การค้าโลกกำลังมุ่งสู่พลังงานสะอาดเพื่อลดภาวะโลกร้อนที่เริ่มจะนำมาเป็นกติกากีดกันการค้าโดยเฉพาะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ของสหภาพยุโรป (อียู) ที่ล่าสุดได้ขยายขอบเขตการบังคับใช้ CBAM จากเดิม 5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย และไฟฟ้า ให้เพิ่มเป็น 7 กลุ่มสินค้า โดยรวมไฮโดรเจนและสินค้าปลายน้ำบางรายการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566…เหล่านี้ได้ผลักดันให้ประชาชนและภาคธุรกิจหันมาติดตั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) มากขึ้น ทั้งประหยัดรายจ่ายและรับมือกติกาโลกที่เปลี่ยนไป

 


ปี 66 กระแสโซลาร์ฯ ยังร้อนแรง

นายพลกฤต กล่ำเครือ นายกสมาคมผู้ประกอบการและช่างพลังงานแสงอาทิตย์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท ดราก้อนเอ็นเนอร์จี เทคโนโลยี แอนด์ ออแกไนท์เซอร์ จำกัด กล่าวว่า ปี 2566 การติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปยังคงร้อนแรงต่อเนื่องด้วยปัจจัยที่ค่าไฟฟ้าแพง ประกอบกับสถาบันการเงินต่างๆ เริ่มออกแคมเปญเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจูงใจติดตั้งมากขึ้น รวมไปถึงเทคโนโลยีแบตเตอรี่เริ่มมีราคาต่ำลง

“ไทยเรามีแสงอาทิตย์ที่เข้มข้นทำให้เหมาะต่อการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบต่างๆ ทั้งโซลาร์รูฟท็อป โซลาร์ฟาร์ม ซึ่งค่าไฟที่แพงขึ้นประชาชนประหยัดอย่างเดียวไม่ไหวทำให้ต้องหันมาผลิตไฟใช้เองพึ่งพาตนเองมากขึ้นเพื่อประหยัดรายจ่ายที่สูง ขณะที่ธุรกิจมีความจำเป็นเพราะนอกจากลดรายจ่ายยังต้องมองถึงการลดก๊าซเรือนกระจกที่เป็นกติกาของโลกที่มากขึ้นเพื่อก้าวไปสู่ความยั่งยืน และเทคโนโลยีโซลาร์ฯ ทั่วโลกเขายอมรับจึงถือเป็นเมกะเทรนด์ที่สำคัญ และที่สุดผมเชื่อว่าใน 2-3 ปีเมืองไทยคนที่ไม่ติดตั้งจะกลายเป็นคนส่วนน้อย” นายพลกฤตกล่าว

ปัจจุบันเทคโนโลยีโซลาร์ฯ ที่ได้รับความนิยมทั่วโลกทำให้กลไกตลาดทำหน้าที่ส่งผลให้แผงโซลาร์ และอุปกรณ์ต่างๆ ต่ำลงมากโดยในรอบ 10 ปีได้ต่ำลงถึง 60% และมีความคุ้มทุนเร็วขึ้น เช่น การติดตั้งขนาด 10 Kwh ติดตั้งกับบ้านรวมอดีตต้องจ่าย 8 แสนบาทคุ้มทุนใน 10 ปี ขณะนี้เหลือแค่ 3 แสนบาทคุ้มทุนใน 4 ปี อย่างไรก็ตาม จากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนแปลงทำให้วัตถุดิบต่างๆ และเซมิคอนดักเตอร์ราคาแพงและขาดตลาดกระทบแผงโซลาร์ฯ และตัวแปลงไฟฟ้า (Inverter) มีราคาแพงขึ้น โดยเฉพาะ Inverter อาจขาดตลาดได้ที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ แต่การติดตั้งกับบ้านที่อยู่อาศัยจะกระทบต่ำ

จับตา ก.มหาดไทยเร่งดัน Net Metering

นายพลกฤตกล่าวว่า มาตรการจากภาครัฐปัจจุบันมีการปรับปรุงระเบียบต่างๆ เอื้อให้ดีขึ้นตามลำดับ แต่ประเด็นที่ต้องจับตาคือ มาตรการ Net Metering หรือระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ ระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตจากระบบโซลาร์เซลล์บนหลังคาของเรากับไฟฟ้าที่เราใช้จากการไฟฟ้า (Grid) โดยผู้ใช้ไฟฟ้าจะเสียค่าไฟตามจำนวนหน่วยไฟฟ้าที่หักลบกันแล้ว ที่ล่าสุดกระทรวงมหาดไทยได้ทำหนังสือถึง 3 การไฟฟ้าให้เร่งพิจารณาดำเนินการ ซึ่งหากทำได้เป็นรูปธรรมจะตอบโจทย์ไฟฟ้าภาคครัวเรือนให้พึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

“ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (PDP 2022) จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนเพิ่มโดยเฉพาะโซลาร์ฯ ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ Net Metering จะตอบโจทย์ให้กับภาคครัวเรือนมากสุดในการสร้างรายได้และการพึ่งพาตนเอง ซึ่งตอนนี้ตลาดบ้านที่อยู่อาศัยโครงการใหม่ๆ จะติดตั้งให้มาเลยเป็นโปรโมชัน นโยบายต่างๆ เราถือว่าดีขึ้นมากและที่สุดเราหนีไม่พ้นยิ่งการมาของยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ก็ยิ่งจะหนุนให้คนหันมาติดเพื่อชาร์จรถไปใช้ฟรี แต่อุปสรรคสำคัญคือ เรากำลังขาดแคลนช่างฝีมือในการติดตั้งมากขึ้นเช่นกัน” นายพลกฤตกล่าว

“กกพ.” รับติดโซลาร์ฯ พุ่งเร่งปรับกติกาเอื้อ

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวยอมรับว่าค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากผลกระทบของต้นทุนเชื้อเพลิงที่แพงจากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนมีส่วนสำคัญทำให้มีการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะจากภาคโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องหาวิธีการลดต้นทุนการผลิต ประกอบกับความจำเป็นที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการตอบโจทย์เป้าหมายขององค์กรและประเทศในการก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission)

“สถานประกอบการโรงงาน ธุรกิจต่างๆ ได้แจ้งขอติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปพีกสุด 500 คำขอต่อเดือน ส่วนโซลาร์ภาคประชาชนปี 2565 กลุ่มบ้านอยู่อาศัยที่มีอัตรารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกิน 2.20 บาทต่อหน่วย โดยรับซื้อ 10 เมกะวัตต์ผ่านการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซึ่งพบว่ามีการยื่นเกินเป้าหมาย กกพ.กำลังพิจารณาที่จะนำเอาส่วนที่เหลือของปีอื่นๆ ที่ไม่ครบมาให้ยื่นเพิ่มในปี 2566 ซึ่งก่อนหน้านี้ กกพ.เองได้มีการปรับปรุงขั้นตอน ที่ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายโดยให้ตรวจสอบการเชื่อมต่อไฟและใช้งานอุปกรณ์ภายใน 30 วันจากที่แจ้งจากเดิม 90-135 วัน และเป้าหมายต่อไปเราจะลดขั้นตอนต่างๆ ลงอีก” นายคมกฤชกล่าว

เดินหน้า UGT ขับเคลื่อนพลังงานสะอาด

นายคมกฤชกล่าวว่า ปี 2566 กกพ.เตรียมกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียว (Utility Green Tariff : UGT) เพื่อตอบสนองความต้องการใช้พลังงานสะอาดให้กับบริษัทที่ดำเนินกิจการการค้ากับต่างประเทศและต้องการยกเว้นภาษี จากการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามมาตรการที่ไม่ใช่การกีดกันทางการค้า และยังช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero ในปี ค.ศ. 2065
เบื้องต้น อัตรา UGT แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีอยู่เดิมในระบบไฟฟ้า (ไม่เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการนำใบรับรอง REC ของโรงไฟฟ้าเดิมที่รัฐมีกรรมสิทธิ์มาให้บริการร่วมกับการให้บริการพลังงานไฟฟ้า และเป็นการให้บริการในลักษณะที่ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่ต้องเจาะจงแหล่งที่มาของไฟฟ้าและ REC ในการขอรับบริการ โดยมีอัตราค่าบริการส่วนเพิ่ม (Premium) เพิ่มเติมจากอัตราค่าไฟฟ้าตามปกติที่ครอบคลุมต้นทุนค่า REC รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ.จะกำหนดต่อไป ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้มีข้อจำกัดว่าเป็นไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบอยู่แล้ว จึงอาจไม่ช่วยเรื่องของไฟฟ้าสีเขียวได้มากนัก

2. อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเดิมในระบบไฟฟ้าทั้งของรัฐและเอกชน (เจาะจงที่มา) ซึ่งเป็นการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ซึ่งมาจากแหล่งเดียวกัน โดยผู้ใช้ไฟฟ้าต้องเจาะจงกลุ่มโรงไฟฟ้า (Portfolio) ในการรับบริการ และอัตราค่าบริการกำหนดจากต้นทุนการให้บริการพลังงานไฟฟ้าและ REC ของแต่ละ Portfolio รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ ตามที่ กกพ.จะกำหนดต่อไป

ทั้งนี้ อัตราค่าไฟฟ้าในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะเป็นโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบใหม่ 5,203 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าฯ และเป็นที่สนใจของหลายบริษัทที่ต้องการซื้อไฟฟ้าสีเขียว โดยไฟฟ้าในส่วนนี้จะถูกแบ่งกลุ่มตามความต้องการของผู้ใช้ไฟฟ้า เช่น โซลาร์ล้วน, โซลาร์ผสมแบตเตอรี่ หรือลม เป็นต้น ซึ่งต้นทุนจะมาจากพลังงานนั้นๆ บวกกับใบรับรองฯ และค่าบริการของระบบรวมถึงคืนกำไรให้ผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วไปด้วย และน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแข่งขันของประเทศ เพราะเท่าที่ประเมินจากอัตราการรับซื้อไฟฟ้าเข้าระบบ ถือว่าเป็นอัตราที่ไม่แพง คาดว่า UGT จะแล้วเสร็จภายในครึ่งแรกของปี 2566

ส.อ.ท.ย้ำธุรกิจมุ่งสู่สินค้า Green แนะรัฐปรับกติกาเอื้อ

นายกิตติ ตั้งจิตรมณีศักดา รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานกฎหมายและภาษี กล่าวว่า พลังงานหมุนเวียน (RE) เช่น โซลาร์ฯ ลม เทคโนโลยีเหล่านี้มาแล้วและไทยเองหนีไม่พ้นที่จะต้องหันมาพิจารณาโดยเฉพาะกับภาคธุรกิจส่งออกด้วย เพราะมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (CBAM) กำลังเร่งให้ทุกส่วนต้องปรับตัวที่ไม่ใช่แค่องค์กรขนาดใหญ่ในการมุ่งไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และนั่นหมายถึงตลอดห่วงโซ่อุปทานต้องตอบโจทย์เหล่านี้ด้วย

“องค์กรของไทย และระดับโลกได้ปักหมุดหมายก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ทำให้บริษัทลูกและซัปพลายเชนต่างๆ ต้องรับนโยบายเหล่านั้นมาปฏิบัติ ซึ่งรายใหญ่ศักยภาพปรับตัวพอไปได้ แต่ที่เราห่วงคือเอสเอ็มอีที่ทุกฝ่ายต้องมามองแนวทางขับเคลื่อนร่วมกัน และหนึ่งในกลไกหลักคือ การแสวงหาพลังงานสีเขียว หรือการซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพ” นายกิตติกล่าว

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ไม่ควรมองข้ามคือบรรจุภัณฑ์ ที่เมื่อตรวจสอบย้อนกลับจะต้องเป็นสีเขียวที่ประเทศพัฒนาแล้วเริ่มมีกติกาทางกฎระเบียบให้มีการเน้นพลาสติกใช้ซ้ำ หรือรีไซเคิล ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นและยกเลิกใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้ง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนกดดันต่อสินค้าส่งออกของไทย ปัญหาเหล่านี้จำเป็นต้องแก้ไขผ่านการคัดแยกขยะอย่างเร่งด่วนเพื่อนำมาสู่ระบบรีไซเคิลให้มากขึ้น

“ผมคิดว่าระบบการซื้อขายพลังงานหมุนเวียนและการผลิตเอกชนมีศักยภาพมากกว่ารัฐ จะทำอย่างไรให้การซื้อขาย RE 100% ที่ผลิตจากที่หนึ่งแล้วส่งไปยังอีกที่หนึ่งไกลๆ ผ่านระบบสายส่งรัฐได้สะดวกและมีการคิดค่าสายส่งที่ไม่แพง เหล่านี้เป็นเรื่องที่รัฐต้องปรับปรุง โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เรามีอยู่ดีแล้วแต่อาจจะไม่ใช่คำตอบในระยะต่อไปต้องปรับสู่ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานยุคใหม่รองรับ เช่น ระบบดิจิทัล ไฟฟ้าซื้อขายกันเอง ท่องเที่ยวแบบรักษ์โลก ฯลฯ เพราะสุดท้ายสิ่งเหล่านี้คือความยั่งยืนที่เป็นเมกะเทรนด์กำลังมา สินค้า Green จะเป็นตลาดใหญ่หากไทยปรับตัวได้เร็วเราจะก้าวต่อไปแบบยั่งยืน อย่าปล่อยให้ไฟลนก้น” นายกิตติกล่าวย้ำ

ปี 66 โลกกำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงหลายด้าน และปัจจัยส่วนใหญ่ก็ล้วนเป็นปัจจัยภายนอกที่ไทยต้องเตรียมพร้อมรองรับ.... ความเข้มแข็งจากทุกภาคส่วนทั้ง รัฐ ประชาชนทั่วไป และภาคเอกชนคือความอยู่รอดของเศรษฐกิจไทย ทุกฝ่ายจึงต้องทำงานร่วมกันเพื่อเป็นแรงสนับสนุนซึ่งกันและกัน ไม่ใช่เป็นตัวฉุดรั้งหรือเป็นอุปสรรคให้อีกฝ่าย
กำลังโหลดความคิดเห็น