xs
xsm
sm
md
lg

สำรวจทักษะการเงิน พ่อค้า แม่ค้า SME ไทย โดย มูลนิธิไทยเครดิต กับภารกิจเพื่อสังคม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย เหล่าพ่อค้า แม่ค้า ถือว่าเป็นอีกหนึ่งแรงขับเคลื่อนที่สำคัญของประเทศไทย ครั้งนี้ มาดูกันว่าปัจจุบันผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้ มีทักษะทางการเงินอย่างไรหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดย มูลนิธิไทยเครดิต ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) ผ่านโครงการตังค์โต Know-how เพื่อเสริมสร้างพลังแกร่งสู่กลุ่มเป้าหมายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ


ผลสำรวจคนไทยเงินไม่พอใช้กว่า 80%


นายรอย ออกุสตินัส กุนารา รองประธานมูลนิธิไทยเครดิต เปิดเผยว่า ธนาคารไทยเครดิต เพื่อรายย่อย จำกัด (มหาชน) เปิดตัว มูลนิธิไทยเครดิต ภายใต้แนวคิดหลัก EMpower เสริมพลังแกร่งสู่สังคม ขยายบทบาทการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมในทุกมิติ และเพื่อตอกย้ำถึงการเสริมสร้างความรู้ทางการเงินจะตอบโจทย์การสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นทางมูลนิธิฯ ได้ทำการสำรวจเหล่าพ่อค้า แม่ค้า SMEs ไทยพบว่า “จากผลสำรวจ 844 ตัวอย่างทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 10 ธันวาคม 2022 – 3 มกราคม 2023 ตามมาตรฐานการสำรวจระดับทักษะทางการเงินของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) พบว่าคนไทยมีทักษะทางการเงินอยู่ที่ 79.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 60.5%

อย่างไรก็ดี เมื่อวิเคราะห์ในเชิงลึก กลับพบว่าคนไทยมีพฤติกรรมด้านการออมเงินที่เหมาะสมเพียง 55.7% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 70.4% ในขณะที่คนไทย 80.7% ประสบปัญหาเงินไม่พอใช้ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 35.3% นอกจากนี้คนไทยอีก 54.6% มักจะมีการกู้ยืมเงินเมื่อเงินไม่พอใช้ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ที่ 25.8%


กู้นอกระบบลดลงเหลือ 11% จากเดิมสูงถึง 60%

ทั้งนี้ นายรอย กล่าวว่า จากการสำรวจยังพบว่า เงินกู้ยืมของเหล่าผู้ประกอบการรายย่อย จากเดิมที่เคยใช้เงินกู้นอกระบบสูงถึง 60% จากปี 2018 ที่รัฐบาลกำหนดให้สถาบันการเงินภาครัฐปล่อยเงินกู้ยืมให้เหล่าผู้ประกอบการรายย่อย ส่งผลให้เงินกู้นอกระบบลดลงเหลือเพียง 11% โดยวงเงินเงินกู้จากสถาบันการเงินประมาณ 400,000 บาทต่อคน และเงินกู้นอกระบบอยู่ที่ 45,000 บาทต่อคน ซึ่งพ่อค้า แม่ค้ารายย่อยส่วนใหญ่มากกว่า 88.9% มีการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินและเงินกู้นอกระบบ สำหรับวัตถุประสงค์ของการกู้ยืมเงิน หลักเพื่อลงทุนทำประโยชน์ในการทำธุรกิจถึง 67.5% ส่วนที่เหลือก็เป็นการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อรถ ที่อยู่อาศัย และใช้ในครัวเรือน การศึกษาบุตร ฯลฯ

โดยภาระหนี้สินของผู้ประกอบการรายย่อย ที่มีรายได้น้อยกว่า 13,000 บาท/เดือน มีภาระหนี้สินสูงถึง 75% ที่เหลือภาระหนี้สินของผู้ประกอบการรายย่อย รายได้ตั้งแต่ 25,000-40,000 บาท/เดือน และ ผู้ประกอบการรายยย่อย รายได้ 120,000 บาท ขึ้นไป / เดือน ตามลำดับ และจากการสำรวจ 3 เดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2564 พบว่า รายได้ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 20% จากผู้ประกอบการายย่อยที่ทำการสำรวจพบว่ารายได้ลดลง 10% และผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 50% รายได้ลดลงเกือบ 40% ส่วนผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 6% รายได้ลดเกือบ 100% หรือ แทบจะไม่มีรายได้เลย


ที่มาการจัดตั้งมูลนิธิไทยเครดิต

นายวิญญู ไชยวรรณ ประธานมูลนิธิไทยเครดิต กล่าวว่า จากผลสำรวจดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่า ควรให้ความสำคัญเรื่องการส่งเสริมความรู้ทางการเงินให้แก่ประชาชน โดยมุ่งเน้นให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการออม รู้จักวิธีการออมเงินที่เหมาะสม รู้จักวิธีการบริหารจัดการรายได้ให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย จัดสรรเงินก่อนใช้และใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น ไม่ก่อหนี้สินจนเกินตัว เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ

ประธานมูลนิธิ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา ธนาคารไทยเครดิต ได้ให้ความสำคัญกับแนวทางการให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการรายย่อยเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง ผ่านโครงการ ตังค์โต Know-how อบรมผู้ประกอบการพ่อค้า แม่ค้าไปแล้ว 118,555 ราย และผู้ติดตามทางหน้าเพจเฟสบุ๊ก กว่า 66,000 คน จัดอบรมพ่อค้าแม่ค้า รายย่อยมาแล้ว 6 ปี ผู้ประกอบการกว่า 90% ผ่านการอบรมมีการปรับพฤติกรรมการใช้เงินทำให้ชีวิตดีขึ้น มีการวางแผนการใช้เงิน และสามารถใช้หนี้ได้ ด้วยเหตุนี้ ธนาคารฯ เล็งเห็นว่าถ้าอย่างนั้นควรจะเปิดให้คนทั่วไปที่ไม่ได้เป็นลูกค้าธนาคารได้เข้าถึงโครงการ ตังค์โต Know-how ด้วยการเปิดเป็นมูลนิธิไทยเครดิตขึ้นมา


เป้าหมายมูลนิธิฯ องค์กรสาธารณกุศลฯ
ช่วยพ่อค้าแม่ค้า หนี้สินลดลง

ทั้งนี้ ในปีแรกของการดำเนินการ มูลนิธิฯ มีแผนจะพัฒนาหลักสูตรเดิมของผู้ประกอบการรายย่อย ให้เท่าทันการณ์ปัจจุบัน และแบ่งเป็นหลายระยะ จากพื้นฐานสู่ขั้นแอดวานซ์ เพื่อเป็นการต่อยอด และรู้เชิงลึกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังได้สร้างสรรค์หลักสูตรใหม่ๆ ด้านการเงิน เพื่อให้เหมาะสมกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายและอาชีพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถเรียนรู้เรื่องการบริหารการเงินส่วนบุคคล รวมถึงเตรียมความพร้อมสู่วัยเกษียณ โดยมีเป้าหมายให้ผู้เข้าอบรมทั้งผู้ประกอบการรายย่อย พ่อค้าแม่ค้า ตลอดจนบุคคลทั่วไป รวมถึงเยาวชน และผู้ด้อยโอกาส ให้มีรายได้สูงขึ้น มีหนี้สินลดลง และมีการต่อยอดธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ มูลนิธิฯ มีเป้าหมายสำคัญในการขึ้นทะเบียนเป็น องค์กรสาธารณกุศล ภายใน 3 ปีข้างหน้าอีกด้วย


โดยมูลนิธิฯ จะดำเนินโครงการ “EMpower เพื่อชุมชนที่ยั่งยืน” ในพื้นที่นำร่อง ในจังหวัดสมุทรปราการ และนครปฐม แบบบูรณาการครบทุกมิติ ทั้งการเสริมสร้างความรู้ทางการเงิน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ รวมถึงการส่งเสริมศิลปะ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างชุมชนที่ดี แข็งแกร่ง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามเป้าหมายหลักในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ สร้างสรรค์เนื้อหาส่งเสริมความรู้ทางการเงินที่น่าสนใจ เข้าใจง่าย ทันเหตุการณ์; กลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงความรู้ทางการเงินได้โดยง่าย ผ่านการอบรมทั้งในรูปแบบชั้นเรียน และออนไลน์; และพัฒนาเนื้อหาและหลักสูตรความรู้ทางการเงิน เพื่อเสริมแกร่งทางการเงิน พัฒนาอาชีพ และสร้างรายได้


สำหรับในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา 2-3 ปี พ่อค้า แม่ค้า ต้องเผชิญกับวิกฤติการเงิน กันถ้วนหน้า ซึ่งการช่วยเหลือส่วนหนึ่งมาจากสถาบันการเงินทั้งของภาครัฐ และเอกชน ไม่ว่าจะเป็นการพักชำระหนี้ การปล่อยให้กู้เพิ่ม เพื่อนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งพอมาถึงเวลาที่สถานการณ์โควิดคลี่คลายผู้ประกอบการพ่อค้า แม่ค้า ต้องระมัดระวัง และมีวินัยในการใช้เงิน ส่วนหนึ่งต้องปลดหนี้ และเก็บเงินออมเพื่ออนาคตด้วย รองรับการเปลี่ยนแปลงความไม่แน่นอนในอนาคต

ติดต่อ www.thaicreditfoundation.org

FB Page: ตังค์โต Know-how by Thai Credit โทร. 0 2697 5388 

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
กำลังโหลดความคิดเห็น