xs
xsm
sm
md
lg

'ศักดิ์สยาม' ชง ครม.เพิ่มงบมอเตอร์เวย์ 'บางปะอิน' 4,900 ล้านบาท จ่ายค่างานปรับแบบ 12 ตอน เร่งเปิดทดลองวิ่งปลายปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“คมนาคม” ชง ครม.ขอเพิ่มงบมอเตอร์เวย์ "บางปะอิน-โคราช" 12 ตอน 4,900 ล้านบาท จากเดิมมี 16 ตอน “ศักดิ์สยาม” เผยขอเฉพาะที่ยังไม่ได้สร้าง ส่วน 4 ตอน 1,700 ล้านบาททำไปแล้วขออนุมัติให้ไม่ได้ คาดอนุมัติ ม.ค.เดินหน้างานโยธา ตั้งเป้าปลายปี 66 เปิดทดลองวิ่ง ปี 68 บริการเต็มรูปแบบ  

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน-นครราชสีมา หรือมอเตอร์เวย์ (M6) ว่า กรณีที่มีการปรับแบบก่อสร้างจำนวน 16 ตอน และทำให้ต้องเพิ่มวงเงินขึ้นกว่า 6,000 ล้านบาท ซึ่งตนได้มอบหมายให้กรมทางหลวง (ทล.) ตรวจสอบและสรุปรายละเอียดงานก่อสร้างเพิ่มเติมจากการปรับแบบดังกล่าว โดยล่าสุดพบว่าวงเงินที่จะขอปรับเพิ่มเหลือประมาณ 4,900 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากเดิม เนื่องจากเป็นการขอเพิ่มวงเงินในส่วนของงานที่ยังไม่ได้ก่อสร้าง ส่วนงานที่ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 1,700 ล้านบาทนั้น ไม่สามารถขอเพิ่มงบประมาณได้ เนื่องจากไม่เป็นไปตามขั้นตอนของงานเพิ่มเติม ซึ่งผู้รับเหมาอาจต้องเข้าทางกระบวนการทางศาล 

โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอเรื่องไปที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในเดือน ม.ค.นี้  


“เรื่องงานเพิ่มเติมหรือ VO ในงานก่อสร้างมีได้ แต่ต้องดำเนินการตามระเบียบ ขั้นตอนข้อกฎหมาย คือต้องได้รับอนุมัติตามขั้นตอนก่อน จึงจะทำงานส่วนที่เพิ่มนั้นได้ หากไม่ทำตามขั้นตอนระเบียบที่กำหนด งานนั้นก็ไม่เข้าข่าย VO ไม่สามารถจ่ายเงินได้” นายศักดิ์สยามกล่าว

รายงานข่าวเปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายบางปะอิน-สระบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กิโลเมตร กรอบวงเงิน 84,600 ล้านบาท โดยแบ่งการก่อสร้างงานโยธาออกเป็น 40 ตอน เริ่มต้นสัญญาก่อสร้างในปี 2559 ปัจจุบันก่อสร้างเสร็จแล้ว 24 ตอน ภาพรวมงาน ณ สิ้นเดือน พ.ย. 2565 มีความคืบหน้ารวม 87.67% ล่าช้ากว่าแผน 2% ส่วนงานติดตั้งระบบ O&M ปัจจุบันมีคืบหน้าประมาณ 6%

สำหรับการก่อสร้างมีปัญหาอุปสรรคในบางตอน ทำให้ต้องมีการแก้ไขปรับปรุงแบบก่อสร้างให้มีความเหมาะสม เนื่องจากสภาพพื้นที่ก่อสร้างเปลี่ยนไปจากเดิม รวมถึงความจำเป็นของหน่วยงานรัฐที่เส้นทางตัดผ่านพื้นที่และลดผลกระทบตามข้อเรียกร้องของประชาชนในพื้นที่ ทำให้ต้องปรับรูปแบบก่อสร้างจำนวน 16 ตอน มีค่าก่อสร้างงานโยธาเพิ่มประมาณ 6,755 ล้านบาท ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีงานที่ได้มีการก่อสร้างไปแล้ว 4 ตอน วงเงินประมาณ 1,784 ล้านบาท ทำให้มีการเสนอ ครม.ขออนุมัติเพิ่มงบประมาณก่อสร้าง 12 ตอนที่ยังไม่ได้ดำเนินการงานส่วนเพิ่ม วงเงินประมาณ 4,970 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจาก ครม.อนุมัติในการปรับเพิ่มวงเงินงบประมาณและขยายระยะเวลาก่อหนี้ผูกพันฯ กรมทางหลวงจะเร่งดำเนินการแก้ไขสัญญากับผู้รับเหมาทั้ง 12 ตอนต่อไป เพื่อเร่งรัดการก่อสร้างงานโยธาที่เหลือ และส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้เอกชนคู่สัญญาในการดำเนินการดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) คือ กลุ่มกิจการร่วมค้า BGSR 6 ซึ่งประกอบด้วย บมจ.บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STECON) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เร่งติดตั้งระบบ

โดยกำหนดแผนเริ่มเปิดทดลองการให้บริการตลอดเส้นทางภายในปลายปี 2566 และเปิดให้บริการเต็มรูปแบบ (เก็บค่าผ่านทาง) ปลายปี 2568


กำลังโหลดความคิดเห็น