xs
xsm
sm
md
lg

AOT- BA ผลประกอบการฟื้น THAI-AAV อ่วมเหตุค่าเงินและน้ำมันพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ท่าอากาศยานไทย –บางกอกแอร์เวย์ส ” ขาดทุนลด จากการกลับมาเปิดบริการเที่ยวบินของสายการบินต่าง ๆ ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารเดินทางเพิ่ม อีกทั้งมีส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนในบริษัทร่วมและเงินลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุน ด้าน “แอร์เอเชีย- การบินไทย” อ่วม เหตุขาดทุนค่าเงินและราคาน้ำมันพุ่ง รวมถึงผลขาดทุนจากด้อยค่าสินทรัพย์

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา เพราะตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัสดังกล่าวช่วงและการปิดประเทศเพื่อป้องกันการระบาด ทำให้ช่วงนั้นสายการบินแต่ละแห่งเร่งเพิ่มทุน ปรับโครงสร้างรองรับธุรกิจ หวังรับกับการหวังการเปิดประเทศอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 11 ต.ค.64 รัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุม โดยให้น้ำหนักกิจกรรมทางเศรษฐกิจช่วงปลายปี พร้อมกับการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติตั้งแต่ 1 พ.ย. 64 จากประเทศเสี่ยงต่ำ (ที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว) เดินทางเข้าประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว ตลอดจนอนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารและเปิดสถานบันเทิง เริ่มตั้งแต่ 1 ธ.ค. เป็นต้นไป ทำให้การเดินทางทั้งในและต่างประเทศคึกคักและกลับมามีสีสันอีกครั้ง หลังจากอัดอั้นจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยืดเยื้อ

บริษัทจดทะเบียนที่ดำเนินธุรกิจสายการบินและสนามบินคืออีกหนึ่ง ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่า "กระทบหนัก" เพราะเมื่อคนไม่เดินทางรายได้ย่อมเท่ากับศูนย์ ซึ่งนั่นก็พบว่าผลประกอบการขาดทุนอย่างหนักแทบทั้งสิ้น ทว่า หลังเปิดประเทศกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ตัวเลขผลประกอบการจึงเริ่มฟื้นกลับมาแม้จะยังไม่มีกำไรแต่ผลขาดทุนที่ลดลง ทำให้ประเมินได้ว่าเริ่มสดใสแล้ว ขณะบางแห่งอาจได้รับผลกระทบกับอัตราแลกเปลี่ยนและต้นทุนน้ำมันที่พุ่งขึ้น แต่เชื่อว่าน่าจะหาทางแก้ปัญหาเพื่อรับมือเพื่อให้ผลประกอบการฟื้นอย่างชัดเจน

การจราจรทางอากาศคึก ดัน AOT ขาดทุนลด

บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT แจ้งงบไตรมาสขาดทุนสุทธิ 11,087.86 ล้านบาท ลดลงจากงวดนี้ในปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 16,322.01 ล้านบาท ลดลง 5,234.15 ล้านบาทหรือลดลง 32.06% เนื่องจากปริมาณการจราจรทางอากาศของ AOT ระหว่างเดือนตุลาคม 2564 – กันยายน 2565 มีจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารรวมเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก รวมถึงไทยมีแนวโน้มดีขึ้นและไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาประกอบกับนโยบายการเปิดประเทศของ รัฐเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจควบคู่กับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขของทุกภาคส่วนที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลดีต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก และเมื่อ 23 กันยายน 2565 ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มีมติยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร โดยมีผลในวันที่ 30 กันยายน 2565 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั่วโลก มีแนวโน้มของจำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรงและอัตราการเสียชีวิตลดลง รวมถึงการแพร่ระบาดและความรุนแรงของโรคก็ลดลงเช่นกัน ประกอบกับจำนวนวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในประเทศมีเพียงพอต่อความต้องการ และประชาชนได้รับวัคซีนในระดับความครอบคลุมสูง ส่งผลให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันโรคเพิ่มขึ้นตามไปด้วย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ประกาศยกเลิกโรคโควิด-19 ออกจากโรคติดต่ออันตราย และกำหนดให้เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะเริ่มคลี่คลายและมีแนวโน้มดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา แต่ AOTยังคงมาตรการเพื่อพยุงความช่วยเหลือสายการบินและผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบดำเนินงานของ AOT ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของสายการบินและผู้ประกอบการ ซึ่งเป็นห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของธุรกิจการบินและท่าอากาศยานสามารถดำเนินต่อไปได้ โดย AOT ได้ขยายระยะเวลามาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการและสายการบิน จากเดิมสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2565 เป็นสิ้นสุด ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 รวมทั้งขยายระยะเวลาการอนุญาตประกอบกิจการให้แก่ผู้ประกอบการ ซึ่งประกอบกิจกรรมเชิงพาณิชย์ ณ ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ ทอท.ออกไปอีก 1 ปี นับจากวันสิ้นสุดการให้สิทธิประกอบกิจการเดิม

ผู้โดยสารพุ่ง หนุน BA ขาดทุนลด

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA ผู้ให้บริการสายการบิน บางกอกแอร์เวย์ส แจ้งไตรมาส 3 ขาดทุนสุทธิ 392.86 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 6,976.90 ล้านบาท ขณะงวด 9 เดือนขาดทุนสุทธิ 2,260.35 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 8,408.45 ล้านบาท

โดย BA มีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีเงินได้ บวกด้วยค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) 502.6 ล้านบาท ปรับปรุงดีขึ้น 188.4 % เทียบกับปี 2564 ขณะที่ EBITDA งวด 9 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 486.2 ล้านบาท ปรับปรุงดีขึ้น 149.9 % เทียบกับปี2564 บริษัทฯ มีผลขาดทุนสุทธิสำหรับงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 เท่ากับ 2,274.5 ล้านบาท ซึ่งเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ 2,260.40 ล้านบาทและมีผลขาดทุนต่อหุ้น 1.08 บาท

โดยไตรมาส 3 ของปี 2565 รายได้รวมของบริษัทฯ 3,941.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 486.3% เทียบกับปี 2564 รายได้ส่วนใหญ่มาจากรายได้บัตรโดยสารจากธุรกิจสายการบิน 2,677.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,969.2 % เพราะจำนวนผู้โดยสารที่เดินทางเพิ่มมากขึ้น โดยไตรมาสที่ 3 ปี 2565 บริษัทฯขนส่งผู้โดยสาร 0.8 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้น 2,950.8% เทียบกับปี 2564 มีอัตราส่วนการขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 77.2 % และมีราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 3,304.1 บาท เพิ่มขึ้น 55.1%

บริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการซึ่งเป็นรายได้จาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน 662.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้น331.3 ล้านบาทหรือ 99.9% เทียบกับปีก่อนหน้า รายได้จากการขายและบริการส่วนใหญ่มาจากรายได้ของบริษัท บริการภาคพื้น การบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด 360.4 ล้านบาท และรายได้จากบริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด 288.1 ล้านบาท และมีรายได้อื่น 177.6 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยเทียบกับปี 2564 จากกการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมบัตรโดยสารหมดอายุ

ขณะงวด 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯมีรายได้รวม 8,121.8 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน รายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน และธุรกิจสนามบิน ะ 63.7 % 20.9% และ 2.1% ของรายได้รวมตามลำดับ ซึ่งบริษัทฯมีรายได้จากบัตรโดยสารของธุรกิจการบิน 5,173.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,595.5 ล้านบาท หรือ 794.8 % จากจำนวนผู้โดยสารที่มาใช้บริการเพิ่มมากขึ้นอันเป็นผลจากการที่รัฐบาลยกเลิกมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม 2565

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 บริษัทฯ ขนส่งผู้โดยสาร 1.7 ล้านคนมีจำนวนเที่ยวบิน 19,648 เที่ยวบิน บริษัทฯ มีปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 376.1 % และอัตราขนส่งผู้โดยสารอยู่ที่ 74.2 % โดยมีราค่าบัตรโดยสารเฉลี่ย 2,972.7 บาทต่อผู้โดยสาร เพิ่มขึ้น 48.9% เมื่อเทียบกับปี 2564 รวมทั้งจากการขายและบริการซึ่งเป็นรายได้จากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจสนามบิน 1,696.4 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีก่อน 63.2 % โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของรายได้ บริษัท ครัวการบินกรุงเทพ จำกัด 414.5 ล้านบาทและบริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด 217.7 ล้านบาท จากการกลับมาปฏิบัติการบินของสายการบินต่าง ๆ อีกทั้งมีส่วนแบ่งกำไรเงินลงทุนในบริษัทร่วมใน 123.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14.2 % ส่วนใหญ่มาจากส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินการบินกรุงเทพ อีกทั้งบริษัทฯมีส่วนแบ่งกำไร 330.6 ล้านบาท ลดลง 20.0 % เป็นผลจากการยกเลิกสัญญาเช่ากองทุนรวมสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์สนามบินสมุยและส่วนแบ่งขาดทุนจาก บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด 25.8 ล้านบาท


รับผลไทยแอร์เอเชีย 100 % ฉุด AAV ทรุด

บริษัท เอเชีย เอวิเอชั่น จำกัด ( มหาชน) หรือ AAV ผู้ให้บริการสายการบินแอร์เอเชีย แจ้งงบไตรมาส 3 ปีนี้ขาดทุนสุทธิ 4,050.23 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ขาดทุนสุทธิ 2,098.28 ล้านบาท ขณะงวด 9 เดือนปีนี้ ขาดทุน 11,144.38 ล้านบาท เพิ่มจากงวดนี้ปีก่อนที่ขาดทุน 5,654.74 ล้านบาท เพราะถูกกดดันจากขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่รับรู้ แม้ AAV มีขนส่งผู้โดยสาร 2.75 ล้านรายในไตรมาสนี้ โดยคงความเป็นผู้นำในตลาดภายในประเทศจากจำนวนเครื่องบินที่มากกว่าคู่แข่ง และได้ขยายเส้นทางบินระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งในตลาดอาเซียนและเอเชียใต้ ทำให้ปริมาณที่นั่งรวมในไตรมาสนี้ฟื้นตัวได้ 48 % ของช่วงก่อนโควิด-19 โดยบริษัทรายงานรายได้รวมอยู่ที่ 4,892.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 969 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 76 % เทียบกับไตรมาสก่อน จากอัตราขนส่งผู้โดยสารที่สูงถึง 87% บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการบริหารต้นทุน ทำให้ต้นทุนต่อปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (CASK) ลดลง 18 % จากไตรมาสก่อนมาอยู่ที่ 2.62 บาท ในไตรมาสนี้

อย่างไรก็ดี บริษัทยังมีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 4,050.2 ล้านบาท แต่หากไม่รวมผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนและกำไร/ขาดทุนจากตราสารอนุพันธ์ บริษัทมีขาดทุนก่อนดอกเบี้ย ภาษีค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 601.1 ล้านบาท

อีกด้านหนึ่งจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศที่ไม่รวมประเทศจีนฟื้นตัว 43 % ของช่วงก่อนโควิด-19 จากการเพิ่มจำนวนเที่ยวบินในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียใต้ โดยเฉพาะเวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ และอินเดีย ทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) เพิ่มขึ้นเป็น 2,863 ล้านที่นั่ง หรือเติบโต 2,791 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและ 58 % เทียบกับไตรมาสก่อน ขณะที่มีรายได้รายได้จากการขายและบริการ 4,811.2 ล้านบาท

ทั้งนี้ บริษัทมีค่าน้ำมันเชื้อเพลิงอยู่ที่ 2,490.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5,357 % จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 60% จากไตรมาสก่อน โดยต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนเป็นผลจากปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้น 53 % ค่าเงินบาทที่อ่อนค่า และราคาอ้างอิงน้ำมันอากาศยานที่ยังคงเพิ่มขึ้น 5% มาอยู่ที่ 143.8 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ บริษัทไม่มีสถานะในสัญญาป้องกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน ขณะที่มีค่าใช้จ่ายพนักงานเพิ่มขึ้น 266% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 30% เทียบกับไตรมาสก่อนจากจำนวนพนักงานปฏิบัติการที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนเครื่องบินปฏิบัติการ ตลอดจนค่าซ่อมบำรุงอากาศยาน และต้นทุนบริการอื่น อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารล้วนขยับขึ้น ในไตรมาสนี้ จากผลการดำเนินงานหลักที่ดีขึ้น ทำให้บริษัทมีขาดทุน EBITDA ลดลงมาอยู่ที่ 601.1 ล้านบาท ซึ่งลดลงจากขาดทุน 665.9 ล้านบาท และ 1,046.5 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ตามลำดับ ขณะที่มีต้นทุนทางการเงินอยู่ที่ 625.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 31 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และ 13 % เทียบกับไตรมาสก่อน จากค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของหนี้สินตามสัญญาเช่า (TFRS 16) และต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น

โดยสรุป AAV แจ้งผลขาดทุนส่วนที่เป็นของผู้ถือหุ้นของบริษัทสำหรับงวด 4,050.2 ล้านบาท เทียบกับผลขาดทุน 2,098.3 ล้านบาท ในช่วงเดียวกันของปีก่อน และผลขาดทุน 4,723.6 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นขาดทุนต่อหุ้นขั้นพื้นฐานและปรับลดอยู่ที่ 0.35 บาท โดยบริษัทรับรู้ผลขาดทุนของ บจ. ไทยแอร์เอเชียที่ 100 % ในไตรมาสนี้สูงกว่างวดนี้ปีก่อนที่ขาดทุน 55% 

THAI อ่วม เหตุน้ำมันแพง-ต้นทุนเงินพุ่ง

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI แจ้งผลงานไตรมาส 3 ปีนี้ขาดทุนสุทธิ 4,785.17 ล้านบาท ขณะที่งวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 39,996.29 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 9 เดือนปีนี้ ขาดทุนสุทธิ 11,252.54 ล้านบาท ส่วนงวดนี้ปีก่อนมีกำไรสุทธิ 51,121.29 ล้านบาท

โดยผลการดำเนินงานไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียวในไตรมาส 3 ปีนี้ บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนต้นทุนทางการเงิน 3,920 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 9,230 ล้านบาท หรือ 173.8 % นับเป็นไตรมาสแรกตั้งแต่เกิดการระบาดโรคโควิด-19 ที่บริษัท ฯ กลับมามีผลกำไรจากการดำเนินงาน โดยมีรายได้ร่วมกันทั้งสิ้น 32,860 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 28,043 ล้านบาท หรือ 582.2% เนื่องจากรายได้จากการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าเพิ่มขึ้น 27,656 ล้านบาท หรือ 855.2% จากการที่บริษัทฯกลับมาเปิดเส้นทางบินในภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้นทั้งในยุโรป เอเชีย และออสเตรเลีย พร้อมทั้งยังมีการเพิ่มความถี่ของเที่ยวบินมากขึ้น โดยมีอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร(CabinFactor) เฉลี่ยอยู่ที่ 77.0% ประกอบกับ มีรายได้จากการบริการอื่นๆ เพิ่ม 378 ล้านบาท หรือ 25.5% จากเที่ยวบินลูกค้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะค่าใช้จ่ายรวม 28,940 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 18,813 ล้านบาทหรือ 185.8% จากค่าใช้จ่ายดำ เนินงานที่แปรผันตามปริมาณการผลิตและ/หรือปริมาณการขนส่งเพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าน้ำมันเครื่องบินที่สูงขึ้นมาก จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้นกว่าปีก่อนถึง 80.3% ขณะที่ค่าบุคลากรลดลงจากการดำ เนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการและมีการควบคุมการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังมีต้นทุนทางการเงิน 3,672 ล้าน บาท สูงกว่าปีก่อน 2,160 ล้านบาท หรือ 142.9% เนื่องจากปีก่อนมีการปรับปรุงดอกเบี้ยจ่ายตามแผนฟื้นฟูกิจการ

บริษัทฯและบริษัทย่อย มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว ส่วนใหญ่เกิดจากขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจากการตีมูลค่าทางบัญชีเนื่องจากการอ่อนค่าของเงินบาท และผลขาดทุนจากด้อยค่าของสินทรัพย์ถึงแม้จะมีกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้และกำไรจากการขายทรัพย์สิน 

โดยในไตรมาส 3 ปี 2565 มีรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว-สุทธิ เป็นค่าใช้จ่ายรวม 5,212 ล้านบาท ขณะที่ปีก่อนเป็นรายได้ 46,851 ล้านบาท ส่งผลให้บริษัทฯและบริษัทย่อยขาดทุนสุทธิ 4,780 ล้านบาท ขาดทุนสูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 44,774 ล้านบาท โดยเป็นขาดทุนสุทธิส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ 4,785 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 2.19 บาท

ขณะที่ปีก่อนกำไรต่อหุ้น 18.32 บาท แต่มี EBITDA หลังหักเงินสดจ่ายหนี้สินตามเงื่อนไขสัญญาเช่า เป็นกำไร 6,181 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9,281 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปี 2565 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีรายได้รวม (ไม่รวมรายการที่เกิดขึ้นครั้งเดียว) 32,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28,043 ล้านบาท หรือ 582.2%

สำหรับ  บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK ถูกขึ้นเครื่องหมาย SP (Suspension) ตั้งแต่ 12 ตุลาคม 65 กรณีไม่นำส่งงบการเงินประจำปี 2564 ภายในเวลาที่กำหนด อีกทั้งแขวน NP ตั้งแต่ 17 ตุลาคม 65 และล่าสุด แม้ NOK ได้นำส่งงบการเงินดังกล่าวมายังตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว แต่ NOK เข้าข่ายต้องปรับปรุงฐานะการเงินและการดำเนินงาน (NC ปีที่ 2) ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงยังคงเครื่องหมาย SP หลักทรัพย์ NOK ต่อไป ดังนั้น NOK จึงไม่มีงบการเงินไตรมาสล่าสุดที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น