xs
xsm
sm
md
lg

ยุบ 'ตำรวจรถไฟ' กระทบผู้โดยสารทั่วประเทศ"ผบช.ก." เสนอตั้ง 'ตำรวจราง' เพิ่มภารกิจดูแลรถไฟฟ้า-ไฮสปีด แต่ถูกเมิน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.)
“พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช” ผบช.ก.เผยไม่เห็นด้วย 'ยุบตำรวจรถไฟ' แต่ไร้อำนาจคัดค้าน เคยเสนอขยายภารกิจดูแลรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูงและปรับเป็น "ตำรวจราง" แต่ พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่เดินหน้าไปไกลแล้วแก้ไม่ได้ เร่งหารือ "ผู้ว่าฯ รฟท." จัดกำลังช่วยดูแลผู้โดยสารต่อหลังยุบ

พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า จากกรณีที่จะยุบเลิกกองบังคับการตำรวจรถไฟ (บก.รฟ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของสำนักงานตำรวจสอบสวนกลางภายใน 1 ปี หรือภายในเดือนต.ค. 2566 ตามราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2565 นั้น ส่วนตัวยอมรับว่าไม่อยากให้ยุบตำรวจรถไฟ เพราะที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งรถไฟมีเส้นทางไปทั่วประเทศ ดังนั้นกรณีเกิดเหตุหรืออาชญากรรมบนรถไฟ จึงให้ตำรวจรถไฟมีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวน 
 
ทั้งนี้ เมื่อตุลาคม 2564 ตนเข้ารับตำแหน่งผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ได้ทราบเรื่องยุบตำรวจรถไฟ จึงเสนอความเห็นต่อผู้ใหญ่ว่าให้คงตำรวจรถไฟไว้และควรให้มีการขยายขอบเขตหน้าที่ของตำรวจรถไฟในการสืบสวนสอบสวนครอบคลุมไปถึงรถไฟฟ้าและรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย โดยปรับเปลี่ยนชื่อจาก "ตำรวจรถไฟ" เป็น "ตำรวจรถราง" แต่ได้รับคำตอบจากผู้บริหารระดับสูงว่า พ.รบ.ตำรวจฉบับใหม่เรื่องยุบตำรวจรถไฟได้ดำเนินการมา 4-5 ปีแล้ว ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้แล้ว 

ปัจจุบันตำรวจรถไฟมีกรอบจำนวน 870 อัตรา โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานจำนวน 738 อัตรา ในฐานะผู้ปฏิบัติต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ตำรวจฉบับใหม่ ซึ่งได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแล หาตำแหน่งรองรับหลังยุบตำรวจรถไฟ โดยเปิดกว้างให้ตำรวจรถไฟสามารถเลือกการโอนย้ายโดยสมัครใจทั้งอยู่กับสอบสวนกลาง หรือย้ายไปสถานีตำรวจต่างๆ  

“ผมเสนอความเห็นไปแล้ว แต่ต้องบอกว่าเราไม่มีอำนาจที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เรื่องนี้ต้องอยู่ที่ความต้องการของสังคมและประชาชนด้วย หากเห็นว่าควรมีตำรวจรถไฟดูแลความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ใช้บริการรถไฟ ก็สามารถนำเสนอความเห็นให้ทางผู้บริหารระดับสูงได้รับทราบได้อีกทาง ส่วนข้อสรุปที่ออกมาว่าให้ยุบตำรวจรถไฟนั้น เชื่อว่าผู้ใหญ่ที่พิจารณาคงมองแล้วว่ามีข้อดี โดยทราบว่าแนวทางหลังยุบตำรวจรถไฟ ภารกิจความรับผิดชอบจะเป็นไปตามพื้นที่ เช่น กรณีเหตุเกิดในกรุงเทพฯ เป็นหน้าที่ของกองบัญชาการตำรวจนครบาล กรณีเกิดเหตุในพื้นที่ต่างจังหวัดก็จะเป็นความรับผิดชอบของตำรวจแต่ละพื้นที่ ส่วนในขบวนรถ ทางการรถไฟฯ คงต้องมีการเพิ่มเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย” พล.ต.ท.จิรภพกล่าว  


ทั้งนี้ ที่ผ่านมาตนได้หารือกับผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ซึ่งได้ขอให้ บช.ก.ช่วยดูแลความปลอดภัยต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชน ซึ่ง บช.ก.จะจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจรถไฟเดิมที่อยู่ภายใต้ บช.ก.ช่วยดูแลตามที่ รฟท.ร้องขอต่อไปจนกว่าจะมีแนวทางอื่นมาทดแทน นอกจากนี้ ทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งรับผิดชอบรถไฟฟ้า MRT ได้ประสานมาที่ตำรวจรถไฟ เพื่อขอให้จัดกำลังไปดูแลรักษาความปลอดภัยบนรถไฟฟ้าเช่นกัน แม้รถไฟฟ้าจะมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแต่การมีตำรวจรถไฟไปดูแลจะช่วยเพิ่มความอุ่นใจให้แก่ผู้โดยสารยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 14 พ.ย. 2565 บช.ก.และ รฟท.ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในเขตระบบรถไฟทั่วประเทศเพื่อดูแลยกระดับความปลอดภัย โดยเชื่อมข้อมูลอาชญากรรมเข้าในระบบของ รฟท. เช่น ระบบจองซื้อตั๋ว, กล้อง CCTV ต่างๆ ซึ่งจะสามารถตรวจสอบบุคคลที่มีหมายจับได้ก่อนขึ้นขบวนรถ และป้องกันก่อเหตุซ้ำ
กำลังโหลดความคิดเห็น