xs
xsm
sm
md
lg

SME D Bank หนุน “เรือนไหม-ใบหม่อน” ยกระดับ “ผ้าไหม” สู่ “ผ้าไหมยีนส์” สานต่อภูมิปัญญาชาวบ้าน จ.สุรินทร์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุรินทร์ถิ่นช้างใหญ่ ผ้าไหมดี มากมีปราสาท ผักกาดหวาน ข้าวสารหอม พร้อมวัฒนธรรม” คำขวัญของจังหวัดสุรินทร์ ที่บ่งบอกถึงเอกลักษณ์ได้เป็นอย่างดี พร้อมเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติอีกครั้ง หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ต้อนรับเข้ามาเรียนรู้ประเพณีและวัฒนธรรมอันเก่าแก่ พร้อมสัมผัสการทำธุรกิจของคนในชุมชน ที่ร่วมแรงร่วมใจพัฒนา “ผ้าไหม” ก้าวหน้าขึ้นไปอีกระดับสู่ “ผ้าไหมยีนส์” ที่ได้รับการสนับสนุนจากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank สามารถคงคุณค่าความเป็นไทยและแฟชั่นร่วมสมัยได้เป็นอย่างดี


SME D Bank ธนาคารเพื่อเอสเอ็มอีไทย ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลังและกระทรวงอุตสาหกรรม นอกจากบริการด้าน “เติมทุน” พาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนแล้ว ยังดำเนินการควบคู่การ “พัฒนา” ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร ทั้งภาครัฐและเอกชน จัดอบรม สัมมนา ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อยกระดับธุรกิจ เพิ่มศักยภาพกิจการ พร้อมลงพื้นที่เยี่ยมชมกิจการลูกค้า เพื่อให้กำลังใจและให้คำปรึกษาและแนะนำการทำธุรกิจตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด ช่วยให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน


และครั้งนี้ นายโมกุล โปษยะพิสิษฐ์ รองกรรมการผู้จัดการ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ SME D Bank และคณะสื่อมวลชน ร่วมลงพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ เยี่ยมชมกิจการลูกค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด เรือนไหม-ใบหม่อน ผู้ประกอบธุรกิจจำหน่ายผ้าไหม เส้นไหม และอุปกรณ์ทอผ้าไหม แบบครบวงจร โดยได้รับการสนับสนุน จาก SME D Bank พาเข้าถึงแหล่งทุน นำเงินไปลงทุนซื้อเครื่องจักร พร้อมรับซื้อเส้นไหมจากชุมชน ช่วยให้ชาวบ้านมีรายได้อีกทางหนึ่ง โดยมีนายอาทร แสงโสมวงศ์ และนางสาวทัศนีย์ สุรินารานนท์ เจ้าของกิจการ เรือนไหม-ใบหม่อน จังหวัดสุรินทร์ ให้การต้อนรับ


นายอาทร แสงโสมวงศ์ เจ้าของกิจการ เรือนไหม-ใบหม่อน เล่าถึงจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ว่า จากมนุษย์เงินเดือนในเมืองกรุง เลือกเส้นทางเดินใหม่อีกครั้ง เดินทางกลับบ้านเกิดจังหวัดสุรินทร์ สานต่อกิจการครอบครับที่รับซื้อเส้นไหมจากชาวบ้านและนำส่งให้กับโรงงานทอผ้า แต่ช่วงเวลานั้น พบว่าปริมาณการผลิตเส้นไหมธรรมชาติลดลงอย่างน่าตกใจ เพราะช่วงเวลานั้น ชาวบ้านเลือกซื้อเส้นไหมสำเร็จรูปที่ผลิตจากโรงงานอุตสาหกรรมมาใช้แทน ส่งผลให้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมนั้นลดลง จึงกลับมาย้อนคิดและเป็นจุดเริ่มต้นของธุรกิจผ้าไหมแบบครบวงจร เพื่อคงภูมิปัญญาของไทยไว้ดังเดิม


“กระบวนการที่เราทำอยู่ คือ ตั้งแต่ปลูกต้นหม่อนเพื่อที่จะเอาใบไปเลี้ยงไหม ก่อนขยับขยายสู่การเตรียมเส้นไหม และมีการฟอก ย้อมสีเส้นไหมต่าง ๆ จากเดิมที่เราใช้แรงงานชาวบ้านในพื้นที่ แต่ด้วยระยะเวลาการทำที่นานไม่ทันต่อความต้องการ ทำให้เรายกระดับธุรกิจ นำเครื่องจักรเข้ามาใช้ในการผลิต โดยได้รับการสนับสนุนจาก SME D Bank ที่ได้เข้าไปปรึกษาขอเงินทุน และเริ่มมีเครื่องจักรเมื่อปี 2543 เป็นต้นมา ช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลให้ยอดขายเติบโตต่อเนื่อง เพราะการปรับตัวเข้าสู่อุตสาหกรรม ทำให้เราลดเวลาการผลิต มีสินค้าที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า สร้างยอดขายได้กว่า 20 ล้านบาทต่อปี และขยับขึ้นมาเป็น 60 ล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว” นายอาทร กล่าว


แต่ก็เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝัน สถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ยอดขายและรายได้ลดลงทันที สวนทางกับรายจ่ายที่ยังคงมีอยู่ แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดี เพราะก่อนที่จะเกิดโควิด-19 มีคำสั่งซื้อจากกลุ่มนักธุรกิจจีนที่สั่งซื้อไส้ผ้าห่มใยไหม ทำให้มีรายได้กลับคืนมาบ้าง ช่วยประคับประคองธุรกิจในยามที่ยากลำบากมาได้ด้วยดี


“ช่วงเวลานั้นไม่ได้ทำให้เราท้อถอย แต่เลือกที่จะสานต่อจุดแข็งที่มีด้วยการวิจัยและพัฒนาสินค้า เพื่อต่อยอดกลายเป็น “ผ้าไหมยีนส์” เพื่อขยายฐานลูกค้า ตอบโจทย์กลุ่มคนรุ่นใหม่ และคงภูมิปัญญาพื้นบ้านในขั้นตอนการย้อมใช้สีธรรมชาติและสีเคมีที่ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความแตกต่าง ด้วยคุณภาพของเส้นไหมที่มีแอนตี้แบคทีเรียในตัว เมื่อสวมใส่แล้วจะช่วยรักษาความสมดุลของสภาพผิวเอาไว้ รวมถึงความชุ่มชื้นของผิวไว้ได้เป็นอย่างดี โดยปัจจุบันตั้งราคาผ้าไหมยีนส์ไว้ที่เมตรละ 1,800 บาท สร้างมูลค่าเพิ่มของผ้าไหมไทยเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว เมื่อเทียบกับผ้าไหมธรรมดาสีเคมีเริ่มต้นที่เมตรละ 500 บาทเท่านั้น” นายอาทร ระบุ


นอกจากนี้ ยังยกระดับธุรกิจเปิดเป็น “ศูนย์เรียนรู้วิถีชุมชนคนกับไหม” เพื่อจัดแสดงกระบวนการผลิตผ้าไหม ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งแต่ปลูกหม่อน เลี้ยงไหม ทอผ้าไหม จนถึงการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไหมถ่ายทอดและส่งต่อภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าสู่คนรุ่นใหม่ และร่วมกับโรงเรียนในพื้นที่ จัดการเรียนการสอนให้นักเรียน ระดับประถมศึกษา ทั้งทฤษฏีและปฏิบัติ พร้อมต่อยอดอาชีพสู่การถักทอผ้าไหม สร้างรายได้ให้กับนักเรียนอีกทางหนึ่งด้วย


ขณะเดียวกัน ยังเยี่ยมชมกิจการผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่จะเข้ามาเป็นลูกค้า SME D Bank ในอนาคต ซึ่งเกิดจากความเชื่อมโยง ตั้งแต่รุ่นคุณพ่อ บริษัท ทรัพย์อนันต์ค้าข้าว จำกัด ผู้ประกอบกิจการจำหน่ายปลีก-ส่งข้าวสารแพ็คถุงทุกชนิด ที่ได้รับการสนับสนุนสินเชื่อเสริมสภาพคล่องจากธนาคาร ส่งต่อมายังรุ่นลูก น.ส.นันทการ์ วังอมรมิตร ที่แตกไลน์ธุรกิจ แยกตัวออกมาประกอบกิจการร้าน 361 THREE SIX ONE ที่รับรู้และเข้าใจในบริการสินเชื่อของ SME D Bank เป็นอย่างดี




สำหรับ 361 THREE SIX ONE ปัจจุบันถือเป็นร้านกาแฟและร้านอาหาร ร้านชาบูครบวงจร แห่งใหญ่ของ จ.สุรินทร์ บนเนื้อที่กว่า 30 ไร่ ด้วยการออกแบบที่มีเอกลักษณ์ใช้โทนสีดำ ที่ลงตัวสุด ๆ พร้อมมีเมนูอาหารและเครื่องดื่มพร้อมเสิร์ฟ กลายเป็นอีกหนึ่งสถานที่ของ จ.สุรินทร์ ที่ใครเดินทางมาท่องเที่ยวต้องแวะรับประทานอาหาร และถ่ายรูปเช็คอินลงโซเชียล


ที่กล่าวมาข้างต้น ถือเป็นการประกอบธุรกิจของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ใช้วัตถุดิบและแรงงานในพื้นที่ ก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพ ช่วยให้กลุ่มคนเหล่านั้นมีรายได้นำกลับไปเลี้ยงครอบครัว ควบคู่กับการรักษาการผลิต “ผ้าไหม” ที่มีเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทยไว้ รวมถึงการลงทุนสร้างร้านอาหารให้เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ รองรับการท่องเที่ยวจังหวัดสุรินทร์ที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคต หลังตากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย












* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
กำลังโหลดความคิดเห็น