xs
xsm
sm
md
lg

“จุรินทร์” ขอบคุณโพลพอใจผลงานเจรจาการค้าเอเปก โชว์ผลงานเด่น ดัน FTAAP และ BCG

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“จุรินทร์” ขอบคุณผลโพลพอใจผลงานการเจรจาการค้าเอเปก สะท้อนการทำงานหนัก และสร้างอนาคตให้แก่ประเทศไทย โชว์ผลสำเร็จสามารถผลักดันให้เอเปกมุ่งสู่การทำ FTA และขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ด้าน BCG เผยยังได้เจรจากับญี่ปุ่นขอหนุนไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialize Expo 2028 ถกสหรัฐฯ ขอปลดบัญชี WL ด้านทรัพย์สินทางปัญญา MOU ออสเตรเลียร่วมมือ 8 ด้าน และกับจีนด้านอีคอมเมิร์ซ

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงประเด็นผลโพลที่ออกมาว่าประชาชนพอใจผลงานในช่วงการประชุมเอเปก ที่สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ว่า ช่วยให้มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดสะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ตนทำประชาชนเฝ้าดูอยู่และรับทราบ ความสำเร็จของเอเปกไม่ได้อยู่ที่ตนคนเดียว ท่านนายกรัฐมนตรีมีบทบาทสำคัญ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชน เพื่อนข้าราชการทั้งหมด ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องขอถือโอกาสนี้ขอบคุณด้วย ตนเป็นฟันเฟืองหนึ่ง เพราะเอเปกเริ่มต้นตั้งแต่การที่ตนทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจการค้าเอเปกในเดือน พ.ค. 2565 มาก่อน จนประสบความสำเร็จ ทำให้มีฉันทามติในการขับเคลื่อนเอเปกให้กลายเป็นเขตการค้าเสรี หรือ FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในอนาคต จะมีส่วนช่วยสมาชิกทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมทั้งประเทศไทย

“ต่อไปส่งออกสินค้าไปยัง 20 เขตเศรษฐกิจที่เหลือ ภาษีเป็นศูนย์ จะได้เปรียบคนที่ไม่เป็นสมาชิกเอเปก ได้เปรียบทางการตลาดเห็นผลชัดเจน พอมาช่วงเอเปกล่าสุด ตอนประชุมร่วมกับรัฐมนตรีต่างประเทศของไทย เป็นประธานในที่ประชุม รัฐมนตรีการค้าเศรษฐกิจและรัฐมนตรีต่างประเทศเอเปกสะท้อนความสำเร็จอีกอันหนึ่ง นอกจากให้ความเห็นชอบการเป็น FTA เอเปกอีกระดับหนึ่งแล้ว ให้ความเห็นชอบการขับเคลื่อนเป้าหมายกรุงเทพฯ ที่ต้องการทำให้เศรษฐกิจของเอเปกเป็น BCG Model ซึ่งวันนี้เป็นของเอเปกไปแล้ว ถือว่าประเทศไทยประสบความสำเร็จ” นายจุรินทร์กล่าว

นอกจากนี้ ในช่วงโอกาสการประชุมเอเปกได้มีการเจรจา 2 ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ถือโอกาสฝากให้ญี่ปุ่นช่วยสนับสนุนให้ภูเก็ตมีโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดงาน Specialize Expo 2028 (งานศูนย์กลางด้านสุขภาพครบวงจร) ซึ่งรัฐมนตรีญี่ปุ่นรับไปประกอบการพิจารณา รวมทั้งการเจรจากับประเทศอื่นๆ ด้วย และที่สำคัญกับสหรัฐฯ ซึ่งตนได้มีโอกาสผลักดันให้สหรัฐฯ ช่วยปลดประเทศไทยออกจากบัญชีประเทศจับตามอง (WL) ในเดือน เม.ย. 2566 ซึ่งมีแนวโน้มเป็นไปได้ เพราะวันนี้การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาประเทศไทยถือว่าน้อยมาก พัฒนาไปในทิศทางที่ดี ถ้าเราสามารถปลดจากบัญชี WL จะทำให้ภาพลักษณ์ประเทศไทยเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา การค้า ความเชื่อมั่นการลงทุนของต่างประเทศจะดีขึ้นเป็นเงาตามตัว

ขณะเดียวกัน มีโอกาสเซ็น MOU กับออสเตรเลีย ความร่วมมือ 8 ด้าน จะช่วยให้ความร่วมมือระหว่างไทยกับออสเตรเลียมีความผูกพันด้านการค้าการลงทุนและวิชาการอื่นๆ ร่วมกันต่อไป และเซ็น MOU กับจีนในเรื่องการพัฒนาอีคอมเมิร์ซร่วมกัน เพราะแพลตฟอร์มจีนถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีศักยภาพทั่วโลก รวมทั้งจีนมีพัฒนาการด้านการค้าอิเล็กทรอนิกส์ อีคอมเมิร์ซไปไกลมาก การเซ็น MOU ร่วมกันจะเป็นประโยชน์ต่ การค้าออนไลน์ของผู้ค้าไทยและการส่งออกสินค้าออนไลน์ของไทยไปยังจีนและไปยังประเทศทั่วโลก ซึ่งนอกจากสร้างเงินให้แก่คนไทย ประเทศไทย ในอนาคตแล้ว ยังเป็นการสร้างอนาคตให้แก่ประเทศไทยด้วย

สำหรับประเทศไทย ตนคิดว่ายังเดินได้ เศรษฐกิจการส่งออกยังเป็นตัวขับเคลื่อน แม้บางช่วงจะบวกบ้าง ลบบ้าง เป็นปรากฏการณ์ปกติ ขณะที่หลายประเทศในโลกลบติดกันเยอะ ตนมั่นใจว่าภาพรวมปี 2565 ตัวเลขยังเป็นบวก และคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ เมื่อเราได้การท่องเที่ยวมาเสริมจะช่วยทำให้เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่อุปสรรคใหญ่ คือ ภาพรวมเศรษฐกิจโลกแนวโน้มไม่ค่อยดี เราต้องยอมรับและเข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น เพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัวปีที่แล้วเป็นบวก แต่ปีนี้เป็นบวกน้อยลง อาจบวก 3.2% เป็นสัญญาณว่าบวกน้อยกว่าปีที่แล้ว และปีหน้ามีแนวโน้มอาจจะบวกน้อยลงอีก จะเป็นความท้าทายที่เราต้องขับเคลื่อนฟันฝ่าไปให้ได้ โดยเฉพาะตัวเลขการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกด้วย ถ้าเราทำความเข้าใจเบื้องต้น จะได้จับมือกันให้แข็งแรง ตนพร้อมจับมือกับเอกชน กระทรวงพาณิชย์ไทยพร้อมช่วยกันฟันฝ่าอุปสรรค ขณะที่โลกชะลอตัว เราพยายามฟันฝ่าอุปสรรคไปให้ได้ ตนยังมั่นใจว่าเราทำได้
กำลังโหลดความคิดเห็น