การตลาด - “ยัสปาล” กรุยทางตลาดแฟชั่น ผ่านร้อนหนาวมา 50 ปี เปิดกลยุทธ์รุกสไตล์ ยัสปาล โมเดล “แตกไลน์เพิ่ม-เติมแบรนด์ใหม่-ขยายต่างประเทศ” จุดพลุคว้าลิขสิทธิ์ Official Licensed Products ของฟีฟ่า เร่งสร้างแกร่งบุกตลาดโลก
กลุ่มยัสปาลถือเป็นกลุ่มที่ดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 75 ปีแล้ว จากจุดกำเนิดของ “ยัสปาล ซิงห์” ที่ได้เริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยที่ย่านพาหุรัด กรุงเทพฯ โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์ผ้าลินินและเครื่องนอนคุณภาพสูงมาจำหน่ายในประเทศไทย
หลังจากนั้นเมื่อปี 2515 ก็ได้ก่อตั้งร้านจำหน่ายสินค้าแฟชั่นแบรนด์ JASPAL ขึ้นเป็นครั้งแรกที่ศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ จนกระทั่งปัจจุบันได้เติบโตไปหลายแบรนด์ และเข้าสู่ปีที่ 50 ในส่วนที่เป็นธุรกิจค้าปลีกสินค้าแฟชั่น
ปัจจุบันกล่าวได้ว่า ยัสปาล เข้าสู่ทายาทรุ่นที่ 3 มาบริหารอย่างเต็มตัว โดยมีสองผู้บริหารหัวหอกหลักคือ นายวิเศษ สิงห์สัจจเทศ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ 1 และนายยศเทพ สิงห์สัจจเทศ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ 3 ดูแลกิจการกับทายาทรุ่นที่ 3 อีกหลายคน
ทำไมกลุ่มยัสปาลถึงเติบโตและอยู่มาได้อย่างยาวนานขนาดนี้
กลุ่มยัสปาลยึดหลักการลงทุนต้องรอบคอบ ต้องมั่นใจ ต้องพร้อม และต้องปรับตัว
“ยัสปาลต้องการที่จะเป็นกลุ่มที่ทำธุรกิจทางด้านแฟชั่น อาหาร ไลฟ์สไตล์รีเทล ที่มีฐานธุรกิจทั้งในไทยและขยายไปต่างประเทศ” นายวิเศษ สิงห์สัจจเทศ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ 1 บริษัท ยัสปาล จำกัด กล่าว การมุ่งไปทิศทางข้างหน้าจึงมาพร้อมกับกลยุทธ์การทำธุรกิจในสไตล์ของยัสปาล เอง (JASPAL MODEL) ยัสปาลวางโมเดลในการขับเคลื่อนธุรกิจที่ชัดเจนด้วยกลยุทธ์หลัก คือ 1. การแตกไลน์ในแบรนด์เดิม 2. การเพิ่มแบรนด์ใหม่ๆ 3. การขยายไปต่างประเทศ
*** แตกไลน์เพิ่ม
กลยุทธ์แตกไลน์จากแบรนด์เดิม เหมือนจะง่ายแต่ก็ไม่ง่าย เพราะกว่าที่ยัสปาลจะทำได้นั้นก็ต้องใช้เวลาในการศึกษา การทำตลาด ความเหมาะสมของแบรนด์ และความพร้อมในหลายด้าน
เริ่มที่แบรนด์ LYN (ลิน) ที่เปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2544 แต่เดิมเป็นแบรนด์แฟชั่นกระเป๋า รองเท้า และเครื่องประดับสำหรับผู้หญิงผู้หลงใหลในการแต่งตัว ภาพลักษณ์ของผู้หญิงยุคใหม่สนใจและติดตามเทรนด์แฟชั่น บ่งบอกถึงตัวตนสุดชิก หรูหรา มีความมั่นใจ ดีไซน์ครอบคลุมการใช้งานทุกวาระโอกาส ระดับราคา 1,900-3,200 บาท
โดยปี 2554 ได้แตกไลน์เป็น Lyn around (ลิน อราวด์) เป็นแบรนด์เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋า และเครื่องประดับ นำเสนอความเฟมินีนที่มีสไตล์และลายพิมพ์อันเป็นเอกลักษณ์ ตอบโจทย์ตัวตนผู้หญิงผู้มีคาแรกเตอร์อันโดดเด่นและมีความเป็นตัวของตัวเองสูง ดีไซน์ที่ผสมผสานศิลปะและความร่วมสมัยเข้ากับเส้นสายของเสื้อผ้าช่วยเติมเต็มจินตนาการของสาวช่างฝัน ปัจจุบันขยายได้ 37 สาขา
ทั้งสองแบรนด์มีกลุ่มเป้าหมายที่ต่างกัน และบุคลิกของเครื่องแต่งกายก็ต่างกัน
อีก 11 ปีถัดมาในปี 2565 หรือปีนี้นั่นเอง ก็แตกไลน์อีกออกมาเป็น LYN BEAUTY (ลิน บิวตี้) แบรนด์เครื่องสำอางที่นำเสนอความงามแบบเอเชียที่เหมาะสมกับทุกเพศ ทุกวัย ทุกสีผิว เพื่อการรังสรรค์ความงามอย่างไร้ขีดจำกัด ตอบโจทย์การใช้งานที่ครอบคลุมทุกความต้องการ โดดเด่นด้วยแพกเกจสวยงาม เป็นความหรูหราที่เข้าถึงได้ พร้อมคุณสมบัติไม่ทดลองกับสัตว์ ไม่มีส่วนผสมจากสัตว์ เพียงปีเดียวก็มีถึง 31 สาขาแล้ว
“ทั้งสามแบรนด์ดังกล่าวไม่มีการแย่งลูกค้าหรือเกิดความซ้ำซ้อนในแง่ของกลุ่มเป้าหมายแต่อย่างใด มีแต่จะส่งเสริมและสนับสนุนกันอย่างดี” นายยศเทพ สิงห์สัจจเทศ ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มธุรกิจ 3 บริษัท ยัสปาล จำกัด กล่าวยืนยัน
อีกแบรนด์ที่เดินตามเกมนี้คือ CPS CHAPS (ซีพีเอส แชปส์) เกิดมาก่อนเมื่อปี 2523 เป็นแบรนด์แฟชั่นนำเทรนด์ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “CREATIVITY. PASSION. SELF.” ที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความสร้างสรรค์ และแรงบันดาลใจในการดีไซน์เสื้อผ้าให้ดูโดดเด่นไม่ซ้ำใคร ตอบโจทย์ความต้องการของเหล่าหนุ่มสาวยุคใหม่ที่ต้องการครีเอตลุคให้มีความเท่ และทันสมัย ในสไตล์ที่แตกต่าง สามารถเติมเต็มความมั่นใจได้ในทุกไลฟ์สไตล์ ปัจจุบันมี 40 สาขา
โดยช่วงปี 2561 ยัสปาลได้แตกแบรนด์นี้ออกไปสู่ C.P.S. COFFEE (ซี.พี.เอส. คอฟฟี่) คาเฟ่สไตล์ Coffee & Lifestyle Bar รังสรรค์เมนูเครื่องดื่มและเบเกอรีคุณภาพระดับพรีเมียม ที่มาในคอนเซ็ปต์ "COFFEE. PASSION. SPECIALTY." ตอบโจทย์ความต้องการของเหล่าคาเฟ่ฮอปเปอร์ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากธุรกิจแฟชั่นรีเทลแบรนด์ CPS CHAPS เข้าสู่ธุรกิจคาเฟ่ที่มีแนวโน้มเติบโตสูงต่อเนื่องในประเทศไทย ก็มีถึง 4 สาขาแล้วในเวลานี้ คาดว่าปีหน้าจะเพิ่มอีก 2-3 สาขา
C.P.S. COFFEE ก็ถือว่ามาถูกทาง กับตลาดกาแฟที่เติบโตดีอย่างมากในไทย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ก็มีการศึกษาอยู่ว่าแบรนด์เดิมแบรนด์ใดที่มีศักยภาพและความเหมาะสมที่จะแตกไลน์
“การแตกไลน์จากแบรนด์เดิมนั้น ใช้ทุนน้อย ไม่ต้องเสียเวลาสร้างแบรนด์ใหม่เพราะเป็นแบรนด์ที่คนรู้จักอยู่แล้ว เพียงแต่เรานำเสนอสินค้าที่หลากหลายแตกต่างกันไป เป็นการขยายฐานลูกค้าด้วยเช่นกัน” นายยศเทพกล่าว
*** เสริมแบรนด์ใหม่
ทว่า การเสริมแบรนด์ใหม่ๆ เข้าพอร์ตโฟลิโอก็มิได้ถูกมองข้าม
ปัจจุบันกลุ่มยัสปาลมีแบรนด์ที่ทำตลาดทั้งหมด 16 แบรนด์ โดยแบ่งเป็นแบรนด์ของบริษัทที่พัฒนาขึ้นมาเองจำนวน 11 แบรนด์ ประกอบด้วย JASPAL, CPS CHAPS, LYN, CC DOUBLE O, Lyn around, Jelly Bunny, Misty Mynx, ROYAL IVY REGATTA, QUINN, C.P.S. COFFEE และ LYN Beauty
ส่วนแบรนด์ที่เป็นผู้นำเข้าและตัวแทนจำหน่ายรายเดียวในไทยมี 5แบรนด์ คือ FRED PERRY, Melissa, Shoebar, ASICS และ DIESEL กลุ่มนี้ยัสปาลมองเป็นกลยุทธ์แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับโอกาส จังหวะ และแบรนด์ที่เหมาะสม ไม่ระบุว่าจะต้องมีเพิ่มปีละกี่แบรนด์ แต่เพิ่งจะมีมาช่วงหลังไม่กี่ปีนี้ จากเดิมที่เคยนำเข้าแต่ก็ได้หยุดไปพักใหญ่
ตลาดเครื่องแต่งกายหรือแฟชั่น เป็นตลาดที่ผู้บริหารยัสปาลยืนยันว่า “ตลาดต้องมีการเติบโตช้าบ้างเร็วบ้าง ไม่มีวันตายแน่นอน” นายวิเศษกล่าวให้ความเห็น
ข้อมูลจาก https://www.statista.com/outlook/cmo/apparel/worldwide ระบุว่า ตลาดเครื่องแต่งกายของโลกในปี 2565 มีมูลค่า 1.53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าตลาดจะโตต่อปี 5.48% ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของตลาดคือ เครื่องแต่งกายสตรี มีมูลค่าถึง 0.79 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 95% ของยอดขายในตลาดเสื้อผ้ามาจากกลุ่ม Non-Luxury
ขณะที่ตลาดเครื่องแต่งกายในประเทศไทย ในปี 2565 ในประเทศไทย รายได้ในตลาดรวมเครื่องแต่งกายมีมูลค่า 5.94 พันล้นดอลลาร์สหรัฐ คาดว่าตลาดจะโตต่อปี 4.96% ส่วนที่กว่า 79% ของยอดขายในตลาดเสื้อผ้ามาจากกลุ่ม Non-Luxury
ส่วนตลาดต่างประเทศอย่างเช่น เวียดนาม ที่เป็นตลาดหลักแห่งหนึ่งของ ยัสปาล ด้วย โดยตลาดเครื่องแต่งกายในประเทศเวียดนามในปี 2565 มีมูลค่า 5.91 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าประเทศไทยเพียงเล็กน้อย แต่คาดว่าตลาดจะโตต่อปี 5.54% ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตที่สูงกว่า ส่วนที่ใหญ่ที่สุดของตลาดคือ เครื่องแต่งกายสตรี มีมูลค่าถึง 2.95 พันล้านดอลลาร์สหรัฐกว่า97% ของยอดขายในตลาดเสื้อผ้ามาจากกลุ่ม Non-Luxury ใหญ่ที่สุดของตลาดคือ เครื่องแต่งกายสตรี มีมูลค่าถึง 3.07 พันล้านดอลลาห์สหรัฐ
*** ขยายตลาดต่างประเทศ
ที่ผ่านมามีแบรนด์ของยัสปาลที่ไปเปิดร้านในต่างประเทศแล้วรวม 3 ประเทศ คือ เวียดนามมี 31 สาขา, มาเลเซียมี 12 สาขา, และกัมพูชามี 24 สาขา เช่นแบรนด์ LYN, แบรนด์ Jelly Bunny , Lyn around, FRED PERRY เป็นต้น
ทั้งนี้ เวียดนามก็เป็นหนึ่งในตลาดเป้าหมายหลักในเอเชียที่กลุ่มยัสปาลได้ปักฐานที่มั่นเอาไว้แล้ว
ปัจจัยที่ทำให้ตลาดเวียดนามเติบโตมาจากความต้องการสินค้าเพื่อการบริโภคกำลังเติบโต, ชาวเวียดนามมีกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น การขยายตัวของความเป็นเมืองเพิ่มมากขึ้น, เวียดนามเป็นตลาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 95 ล้านคน, เขตการค้าเสรีอาเซียน ส่งผลให้ไทยสามารถส่งสินค้าออกไปที่เวียดนามได้โดยปราศจากภาษีนำเข้า
ขณะที่พฤติกรรมการบริโภคของชาวเวียดนามนั้น ชาวเวียดนามมองว่าสินค้าไทยมีคุณภาพสูงในราคาเหมาะสมและชาวเวียดนามชอบทดลองใช้สินค้าใหม่ๆ
ส่วนกลุ่มผู้บริโภคที่มีศักยภาพสำหรับสินค้าไทย ผู้บริโภคที่มีรายได้ปานกลางและสูง เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุดที่มีความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีการจำหน่ายเร็วและใช้บ่อยๆ รวมถึงสินค้าต่างประเทศ ในแต่ละปีจะมีชาวเวียดนามมากกว่า 2 ล้านคนขยับฐานะมาเป็นบุคคลที่มีรายได้ปานกลาง ผู้บริโภคที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่สนใจสินค้าแบรนด์หรูที่มีการรับประกันคุณภาพ
ล่าสุด JASPAL ได้คว้าลิขสิทธิ์ Official Licensed Products เป็นแบรนด์แฟชั่นเพียงหนึ่งเดียวในไทยในการออกแบบร่วมกับทางฟีฟ่า กับสินค้าที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ “FIFA WORLD CUP QATAR 2022” โดยมีเป้าหมายเพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติมในกลุ่มแฟนฟุตบอล รวมไปถึงผู้ที่ชื่นชอบโมเมนต์ของมหกรรมการแข่งขันกีฬา พร้อมจัดกิจกรรมภายในร้าน เพื่อสร้างสีสันดึงดูดกลุ่มลูกค้าร่วมสนุกที่ร้าน JASPAL MAN ทั่วประเทศ
นายวิเศษกล่าวว่า ถือเป็นก้าวสำคัญของการใช้กลยุทธ์สปอร์ตมาร์เกตติ้ง เพื่อขยายฐานลูกค้าของแบรนด์ให้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เน้นกลุ่มลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์แฟชั่น ไปยังกลุ่มที่ชื่นชอบกีฬาฟุตบอลและผู้ที่สนุกสนานกับการมีส่วนร่วมกับกระแสฟุตบอลโลกด้วย ทั้งหมดนี้เป็นการตอกย้ำความแข็งแกร่งของ JASPAL ในฐานะของแบรนด์ที่สามารถตอบโจทย์ได้ครบในทุกแฟชั่นไลฟ์สไตล์ และเป็นผู้นำเทรนด์แฟชั่นระดับโลกอย่างแท้จริง
สำหรับสินค้าที่ได้รับลิขสิทธิ์อย่างเป็นทางการ FIFA WORLD CUP QATAR 2022 นี้ ทาง JASPAL ได้ออกแบบโดยดึงเอาดีเทลต่างๆ มาตีความผ่านรูปแบบและลายพรินต์ นำมาออกแบบให้แฟนบอลที่รักในแฟชั่นสามารถเลือกหยิบมาใส่ได้ใน Everyday Look รวมถึง 63 ไอเท็ม โดยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. “Main Collection” ไอเท็มสไตล์ Sports Casual ที่สามารถสวมใส่ได้จริงในทุกๆ วัน เน้นการใช้สีขาว ดำ แดงเลือดหมู และนำเอา Elements ต่างๆ มาออกแบบเป็นลายตาราง เสริมลุคเท่ให้ทุกๆ วัน หยิบมาสวมใส่ได้อย่างมั่นใจ และไม่ได้มีแค่เสื้อผ้า แต่ยังมีคอลเลกชันอื่นๆ ให้ได้เก็บสะสมกัน ไม่ว่าจะเป็น แก้ว, หมวก, ผ้าพันคอ, Tote Bag ฯลฯ
2. “JASPAL Selected” ทีเชิ้ตที่เลือกสรรประเทศยอดนิยม 9 ประเทศ ได้แก่ โปรตุเกส, บราซิล, เยอรมนี, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, อาร์เจนตินา, สเปน, เนเธอร์แลนด์ และฝรั่งเศส มาออกแบบใหม่ใส่เทคนิคกราเดียนต์สร้างมิติลูกเล่นให้กับเสื้อทีเชิ้ต
3. “Mystery Box” สนุกไปกับกล่องสุ่มทีเชิ้ต จากเสื้อแฟนบอลกว่า 24 ประเทศ ที่ให้คุณนอกจากจะได้ลุ้นเชียร์ทีมที่ชอบแล้ว ยังร่วมลุ้นกับกล่องสุ่มว่าจะได้เสื้อทีมใดไปครอง
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะเมื่อยัสปาลต้องการจะเติบโตให้ได้ถึงระดับหมื่นล้านบาทนั้น ย่อมต้องมีการขยายตัวต่อเนื่องในเชิงรุก
ยัสปาลเองก็มีการมองหาโอกาสไม่หยุด ทั้งการพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ ขึ้นมาเอง รวมทั้งการมองไปที่ไลเซนส์ต่างประเทศ และการขยายช่องทางการขายใหม่ๆ
“ปีนี้และปีหน้า (2566) จะเป็นปีที่เราเพิ่มสัดส่วนการลงทุนขึ้นมามาก โดยคาดว่าปีหน้าจะเปิดสาขาทุกแบรนด์รวมกันไม่ต่ำกว่า 30 สาขา เนื่องจากเรามั่นใจว่าเรามีศักยภาพพร้อมในการรุกธุรกิจ ด้านซัปพลายเราก็พร้อม ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติรู้จักแบรนด์ของเครือยัสปาลดี ส่วนตลาดต่างประเทศก็จะมีการขยายสาขาเพิ่มและแบรนด์เพิ่มในประเดิม และจะมองหาประเทศใหม่ๆ เพิ่มอีก ซึ่งเรายังคงเน้นตลาดเอเชียเป็นหลักก่อน โดยวางงบลงทุนปีหน้าไว้ที่ 500 ล้านบาท
ปีหน้าคาดว่าจะเห็นแบรนด์ใหม่ๆ ของยัสปาลเข้าสู่ตลาดต่างประเทศอีกอย่างน้อย 1 แบรนด์ และการขยายสาขาใหม่ๆ เพิ่ม
สำหรับแบรนด์ที่ทำตลาดต่างประเทศอยู่แล้ว เรามีเป้าหมายที่จะเพิ่มร้านรวมทั้งหมดเป็น 80 สาขาในปีหน้า จากขณะนี้มี 67 สาขาในต่างประเทศ
ส่วนในไทยก็เช่นกัน จะมีการเปิดตัวแบรนด์ที่ต่อยอดแตกไลน์ออกมาอีก ขณะเดียวกันแนวทางการเพิ่มแบรนด์ใหม่ ทั้งรับไลเซนส์ก็มีนนส์ หรือร่วมมือถึงขั้น M&A ก็มี เราไม่ปิดกั้นหากมีโอกาสดีๆ และมีความเหมาะสม
การขยายช่องทางใหม่ๆ ก็จะเห็นมากขึ้น เช่น แบรนด์ชูบาร์ ก็จะเริ่มขยายสาขาเข้าไปในไฮเปอร์มาร์เกต
ทุกวันนี้รายได้หลักของยัสปาลยังคงมาจากในไทย 90% และต่างประเทศ 10% แต่มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนต่างประเทศอีก จากฐานรายได้ที่เพิ่มขึ้น แต่ยัสปาลยังคงเน้นที่จะขยายสาขาทั้งออฟไลน์เป็นหลัก ส่วนออนไลน์ก็เพิ่งเริ่มทำจริงจังในช่วงที่โควิดระบาด โดยเน้นการทำเอง ในแบบแบรนด์ดอตคอม หรือแชตแอนด์ชอป ซึ่งช่วงโควิดที่ผ่านมาออนไลน์เติบโตมากเป็น 100% เนื่องจากฐานยังต่ำ ขณะนี้สัดส่วนยอดขายออนไลน์มีประมาณ 5% โดยมียอดสมาชิกที่แอ็กทีฟประมาณ 3 แสนราย
ยัสปาลถือเป็นผู้นำกลุ่มตลาดแฟชั่นในไทยรายใหญ่ ด้วยยอดขายเกือบๆ หมื่นล้านบาท โดยปี 2565 ตั้งเป้าหมายรายได้รวมไว้ที่ 8,000 ล้านบาทจากตลาดในประเทศในปีนี้
จากนี้คงต้องจับตาดูกลยุทธ์ของ ยัสปาล ว่าจะสามารถเดินไปตามเป้าหมายได้มากน้อยเพียงใด