xs
xsm
sm
md
lg

จ่ออายัดเพิ่มแก๊งหุ้น MORE ก.ล.ต.-ตลท.แก้เกณฑ์ปิดช่องโหว่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส่องผลกระทบหุ้น " มอร์ รีเทิร์น" กับตลาดหุ้นไทย หลังเจอมือดีใช้กลยุทธ์ตกทองโบรกเกอร์ โกยเงิน 4.5 พันล้านบาท ภาพรวมสร้างราคาต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2562 ก่อนส่งคำสั่งรับซื้อ-ขายกันเอง ด้าน ป.ป.ง.เตรียมอายัดเงินกลุ่มทุนที่เกี่ยวข้องเพิ่ม ขณะ ก.ล.ต.และ ตลท. เตรียมปรับกฎเกณฑ์ใหม่ หวังป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำสอง

“เชื้อไม่ทิ้งแถว” พอที่จะนำเปรียบเปรยกรณี ปรากฏกรณ์ตกทองของหุ้น MORE (บมจ.มอร์ รีเทิร์น) ได้ในระดับหนึ่ง เพราะหากย้อนกลับไปไล่เรียงความเป็นมาก่อนจะเป็น MORE ในทุกวันนี้ รากลึกและแก่นของบริษัทแห่งนี้ก็เริ่มต้นมาจากหุ้น DNA (บมจ. ดีเอ็นเอ 2002) ที่เคยมีข่าวฉาวกรณีเหรียญคริปโตฯของนักลงทุนฟินแลนด์ จนทำให้หุ้นดับสนิท และมีการเปลี่ยนถ่ายความเป็นเจ้าของ จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทิศทางธุรกิจและชื่อของบริษัทเป็น MORE ในปัจจุบัน ซึ่งกำลังเป็น MORE ในด้านผลกระทบแบบ MORE MORE ให้แก่วางการตลาดหุ้นไทย

ปั้นธุรกิจเพิ่มความเชื่อมั่นผลักดันราคา

หากย้อนไปพิจารณาถึงการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น MORE ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน นับว่าเป็นแบบขาขึ้นต่อเนื่อง และเป็นขาขึ้นประเภทสร้างยอดดอยอย่างเห็นได้ชัดเจน เพราะนับตั้งแต่จุดต่ำสุดของราคาหุ้นปี 2562 ที่เกิดขึ้นช่วง ก.ค. ซึ่งราคาหุ้นอยู่ที่ 0.10 บาทต่อหุ้น มาถึงจุดสูงสุดของราคาหุ้นที่ระดับ 2.98 บาทต่อหุ้นเมื่อสิ้นเดือนต.ค.ที่ผ่านมา ( ปี2565 ) ราคาหุ้น MORE ปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 2,880% แม้ระหว่างทางราคาหุ้นจะพักฐานบ้างเล็กน้อย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากการให้ข้อมูลและการประเมินทิศทางและแนวโน้มของธุรกิจที่ดีวันดีคืนของ “อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ” ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ที่นั่งควบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร MORE

โดยซีอีโอของ MORE จะยืนยันเสมอว่า ยังถือหุ้นครบ 23.69% และไม่มีการขายหุ้นออกมาแม้แต่หุ้นเดียวในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเชื่อมั่นในปัจจัยพื้นฐานธุรกิจของบริษัทฯ ที่มีศักยภาพในการเติบโตได้อีกมาก

นับตั้งแต่เข้ามาบริหาร MORE เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจและโครงสร้างการบริหารบริษัท จนทำให้ฐานะทางการเงินมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก โดยมีสินทรัพย์รวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท มีสภาพคล่องทางการเงินสูง อีกทั้งยังมีเงินที่ได้รับจากการใช้สิทธิแปลงสภาพ MORE-W2 กว่า 700 ล้านบาท รวมถึงมีพอร์ตลงทุนในบริษัทที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 1 พันล้านบาท

ขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี แต่ราคายังพุ่ง

เมื่อมีนักลงทุนหลายรายให้ความสนใจเข้ามาร่วมลงทุน หรือเข้ามาถือหุ้น MORE และบรรดากลุ่มโซเชียลเน็ตเวิร์กที่ใช้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์การลงทุน มีการหยิบยกหรือพูดถึงทิศทางขาขึ้นของ MORE ให้นักลงทุนที่อยู่ในกลุ่มได้รับทราบอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะทิศทางและแนวโน้มของกราฟราคาหุ้นที่พยายามกระตุ้นให้รีบไขว่คว้าโอกาสทำกำไรจากหุ้นดังกล่าวต่อเนื่อง  นั่นทำให้ 2-3 ปีที่ผ่านมา ราคาหุ้น MORE เคลื่อนไหวในทิศทางที่ตรงกันข้ามกับผลประกอบการของบริษัท โดยเฉพาะปี 2562 – 2563 ถือเป็นสองปีที่ MORE มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิรวมกันกว่า 63 ล้านบาท

ขณะปี 2564 แม้ทุกธุรกิจหลักของบริษัทเติบโต แต่รายได้และยอดขายไม่สูงอีกทั้งไม่ได้มีผลต่อราคาหุ้นนัก ซึ่ง MORE กลับมีกำไรพิเศษจากการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้กับสถาบันการเงิน และการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัทย่อยเข้ามาช่วยสร้างความภูมิฐานให้แก่บริษัท จนมีกำไรสุทธิระดับ 1.15 พันล้านบาท ยิ่งช่วยเพิ่มความตื่นตาตื่นใจให้แก่นักลงทุน แม้ในปี 2565 งวด 9 เดือนจะมีรายได้จากการดำเนินธุรกิจจริงๆ แค่ 120 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิเพียง 22.16 ล้านบาท

แต่ดูเหมือนความเชื่อมั่นและความหวังจะโกยกำไรยังมีพลังที่เต็มเปี่ยมจนทำให้เกิดความต้องการหุ้น MORE มีมากพอจะผลักดันให้ราคาทะยานขึ้นไปทดสอบแนวต้านสำคัญที่ระดับ 3.00 บาทในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมา ก่อนที่จะถูกกลยุทธ์เด็ดของแก๊งค์ตกทองทุบจนราคาหุ้นติด Floor สองวันต่อเนื่อง (10-11 พ.ย.) และสร้างผลกระทบลุกลามในวงกว้างมาจนถึงช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน

สรุปเหตุการณ์ MORE ป่วนตลาดหุ้น

หากไล่เรียงไทม์ไลน์ที่แน่ชัดต่อกรณีของหุ้น MORE ที่สร้างความโกลาหลให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลานี้ น่าจะเริ่มจากกระแสข่าวที่มีการพูดถึงธุรกิจและตัวหุ้น MORE ที่มีมาอย่างต่อเนื่องต้นเดือนพ.ย. จนเข้าสู่วันที่ 10 พ.ย.ราคาหุ้น MORE ปรับลงแรง 30% จากตอนเช้าที่ 2.90 บาทต่อหุ้น ก่อนปิดตลาดเหลือ 1.95 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของวัน (Floor)

ช่วงวันที่ 10-11 พ.ย.ยังมีข่าวลือว่า ราคาหุ้นที่ลดต่ำลงจนติด Floor นั้นเกิดมาจากการคีย์คำสั่งซื้อขายผิดของนักลงทุนรายใหญ่ ยิ่งทำให้นักลงทุนต่างสงสัยว่าเป็นการเจตนามากกว่าพลั้งเผลอเพราะคำสั่งขายในราคาที่ต่ำไปนั้น กลับมีออเดอร์รับซื้อเข้ามาที่พอเหมาะพอเจาะ นอกจากนั้นราคาหุ้นแปลงสิทธิ (Warrant) ของบริษัทฯ MORE-W2 ยังร่วงเหลือ 0.01 บาท ทั้งที่ราคาแปลงสูงถึง 2.00 บาท (อัตราแปลง 1 : 1) แม้บริษัทจะออกมาชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์ว่าบริษัทฯ ไม่ได้มีพัฒนาการสำคัญอะไรที่ส่งผลให้ราคาหุ้นผันผวนผิดปกติ ในช่วงเวลาเดียวกันก็ตาม

ถัดมา เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ตลาดหลักทรัพย์ฯจึง ออกแถลงการณ์ เตือนนักลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังก่อนเทรดหุ้น MORE เพราะราคาหุ้นยังร่วงต่อเนื่องจากราคา Floor รวมถึงกำชับให้บริษัทหลักทรัพย์ (Broker) ดูแลการซื้อขายอย่างใกล้ชิด แต่ท้ายที่สุดวันนั้นราคาหุ้น MORE ร่วงติด Floor อีกครั้งที่ 1.37 บาทต่อหุ้น ขณะวันเดียว MORE แจ้งงบไตรมาส 3 ขาดทุน 6.83 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 89.48 ล้านบาท ส่วน 9 เดือนแรก ปีนี้ยังกำไร 22.15 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 111.27 ล้านบาท 

จากนั้นสถานการณ์หุ้น MORE ส่อเค้าบานปลายขึ้น เมื่อมีข่าวว่าตลาดหลักทรัพย์ฯและสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) เตรียมจัดงานแถลงข่าวเช้าวันที่ 14 พ.ย. 2565 เพราะมีข่าวลือว่า ราคาหุ้นที่ปรับตัวลงแรงอาจเป็นความตั้งใจของนักลงทุนรายใหญ่ที่ตั้งนอมินีมารับซื้อหุ้นที่ขาย ผ่านการซื้อด้วยบัญชี Margin ซึ่งเป็นการกู้เงินโดยนำหุ้น MORE มาค้ำประกัน แลกกับวงเงินในการเข้าซื้อหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นเป็น 3 เท่าตัวจากมูลค่าของหุ้น หรือคิดเป็นวงเงินกว่า 4.5 พันล้านบาท

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้เข้ามาตรวจสอบความผิดปกติ และจะใช้อำนาจของ ปปง.ขอให้ธนาคารระงับการถอนเงินค่าขายหุ้นออกไปก่อน จนกว่าจะพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ กับ ASCO ชี้แจงว่า กรณีหุ้น MORE ไม่ได้ส่งผลกระทบกับบริษัทหลักทรัพย์ การส่งมอบหุ้น และภาพรวมของตลาดหุ้น แต่ได้สั่งระงับการซื้อขาย (SP) ไปก่อนจนกว่าจะมีความคืบหน้า

ไม่นานจากนั้น บริษัทหลักทรัพย์หลายแห่งทยอยออกมายอมรับว่าได้รับผลกระทบจากการปล่อยให้เกิดการซื้อขายหุ้น MORE ผ่านบัญชี Margin ที่บริษัทเหล่านี้เป็นผู้ให้บริการ จนสร้างความเสียหายให้กับหลายบริษัท ขณะ‘อมฤทธิ์ กล่อมจิตเจริญ’ ซีอีโอและผู้ถือหุ้นใหญ่ของ MORE ชี้แจงว่ายังถือหุ้นครบและไม่คิดจะขายออก ส่วนตลาดหลักทรัพย์ฯก็ออกมาส่งสัญญาณขู่ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องให้ออกมาสารภาพ และให้ความร่วมมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้

ความคืบหน้าการไล่ล่ามือปั่นหุ้น

ล่าสุด “รื่นวดี สุวรรณมงคล” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า หลังจากเกิดกรณีการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ ถือว่านี่เป็นกรณีเร่งด่วน จึงได้ร่วมประสานงานกับ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมตรวจสอบ บล.ต่างๆ โดย ณ ขณะนี้นอกเหนือจาก บล.เอเชีย เวลท์ (AWS) แล้วก็ยังไม่พบว่ามี บล.แห่งอื่นที่น่าเป็นห่วง

นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้ตั้งคณะทำงานชุดเฉพาะกิจ เพื่อเป็นศูนย์กลางการตรวจสอบให้เกิดความรวดเร็ว เพราะเป็นประเด็นที่มีผลกระทบในวงกว้าง โดยได้ประสานงานกับกองบัญชาการตรวจสอบสวนกลาง และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ปอศ.) โดยมีผู้ช่วยเลขาธิการฝ่ายกฎหมาย ก.ล.ต. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน ส่วนตนเองทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ซึ่งคณะทำงานชุดดังกล่าวได้ทำงานแล้วใน 2-3 ประเด็น

โดยปัจจุบัน มี 3 โจทย์ก์ใหญ่ที่อยู่ระหว่างดำเนินการที่สืบเนื่องจากการซื้อขายหุ้น MORE ที่ผิดปกติ คือการพิจารณาว่าเกิดกรณีที่เกิดขึ้นเป็นธรรมหรือไม่ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ แยกจากเรื่องฉ้อโกงที่เป็นไปตามกฎหมายอาญา โดยได้มีการเข้าพบกับ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (ผบช.ก.) เพื่อที่จะขอความร่วมมือสนธิกำลัง 

ถัดมาคือ.บริษัทหลักทรัพย์ และ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ของตนเองตามกติกาหรือไม่อย่างไร ซึ่งที่ผ่านมาทาง ก.ล.ต. ได้เข้าไปสอบถามพูดคุยกับผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง รวมถึง ตลท. เกี่ยวกับคุณภาพของหุ้น โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็กทั้งที่จดทะเบียนอยู่เดิม และเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นอย่างไร

“เอนก อยู่ยืน” ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การเข้าตรวจสอบการกระทำนั้น ทางคณะทำงานจะดูในเรื่องความเคลื่อนไหวของหุ้นดังกล่าว ว่าการกระทำที่อาจจะเข้าข่ายความผิดในด้านการสร้างราคา หรือความผิดที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบดังกล่าวไม่ได้ดูแค่วันที่ 10-11 พ.ย. เท่านั้นแต่จะเป็นการตรวจสอบหาความเคลื่อนไหว ความเชื่อมโยงของบุคคลที่อาจเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งนี้ เพื่อให้ขั้นตอนการทำงานต่างๆ ชัดเจนและรวดเร็วมากขึ้น

ส่วนกรณีของ บล. เอเชีย เวลท์ ที่สำนักงานมีคำสั่งให้หยุดประกอบธุรกิจนั้น เกิดจากการตรวจสอบจากทางสำนักงาน ก.ล.ต. และการให้ข้อมูลจากทางบริษัท ซึ่งเป็นปัญหาของบริษัทเท่านั้น โดยบริษัทรวมถึงต้องปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้ง 4 ข้อที่กำหนด คือนำเงินของลูกค้าที่บริษัทนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งลูกค้าไม่ได้อนุญาตมาคืนภายในวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ย. 2565

ขณะเดียวกันจะระงับการประกอบธุรกิจหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว เว้นแต่เป็นการทำธุรกรรมป้องกันความเสี่ยงโดยรวม ในเงินลงทุนของบริษัท หรือการดำเนินการตามภาระผูกพันที่ค้างอยู่ ตั้งแต่วันที่ 18พ.ย.เป็นต้นไป จนกว่าบริษัทจะนำเงินลูกค้ามาคืน และได้รับอนุญาตจาก ก.ล.ต. ให้ประกอบธุรกิจได้ตามปกติ รวมถึงจัดให้มีระบบงานในการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าวขึ้นอีก พร้อมทั้งอำนวยความสะดวกให้แก่ลูกค้าของบริษัท เพื่อให้ลูกค้าสามารถดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกค้าที่มีอยู่กับบริษัทได้ตามความประสงค์ของลูกค้า ภายในระยะเวลาที่ตกลงกับลูกค้า

ล่าสุดมีรายงานเพิ่มเติมว่า ปปง. ได้เชิญตัวผู้ลงทุนรายใหญ่ 26 ราย ที่ส่งคำสั่งขายหุ้น MORE ในระหว่างวันที่ 10-11 พ.ย. 2565 มาให้ข้อมูลเพิ่ม โดยพบว่า เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ MORE จำนวน 6 ราย และยังพบว่ามีบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงธุรกิจและนักแสดงมาเกี่ยวข้องด้วย โดยรายชื่อฝั่งขายหุ้น MORE ที่เข้าตรวจสอบมีคำสั่งอายัดไปส่วนใหญ่แล้ว ทั้งหมดที่ขายออกประมาณ 4.5 พันล้านบาท และอายัดในการจ่าย และอายัดบัญชีเงินสดรวมแล้วกว่า 3.2 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโบรกเกอร์ 2 แห่งที่ไม่ทำตามกฎกระทรวง คือไม่ส่งรายงาน Suspicious Transaction Report ให้กับ ปปง. ซึ่งจะเอาผิดทั้งแพ่งและอาญาต่อไป

ด้าน “ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ ฯ กล่าวว่ากรณีของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย เวลท์ จำกัด แจ้งต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ว่า บริษัทนำเงินของลูกค้าที่อยู่ในความครอบครองของบริษัท ไปชำระเป็นค่าซื้อหลักทรัพย์กับสำนักหักบัญชี โดยลูกค้าไม่ได้มีคำสั่งหรือยินยอมวงเงิน 157.99 ล้านบาท ซึ่งอาจสร้างความเสียหาย จึงออกคำสั่งให้หยุดบริการชั่วคราว เบื้องต้นคำสั่งของ ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงสั่งระงับคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จากเอเชีย เวลท์ เป็นการชั่วคราว ในส่วนของตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าก็จะอนุญาตให้เฉพาะคำสั่งซื้อขายที่เป็นการล้างสถานะที่มีอยู่เดิม จนกว่าสำนักงาน ก.ล.ต. จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เกิดขึ้นนี้มีสาเหตุจากการนำเงินไปชำระค่าหุ้น MORE หรือไม่นั้น เรื่องนี้ยังไม่สามารถให้คำตอบได้ ส่วนความคืบหน้ากระบวนการตรวจสอบการซื้อขายหุ้น MORE ที่มีความผิดปกติยังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง ตลท. จะส่งข้อมูลให้กับทางสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีกับฉ้อโกง กับกลุ่มนักลงทุนที่โกงค่าหุ้นโบรกเกอร์ และจะประสานกับ ก.ล.ต. เพื่อฟ้องในคดีปั่นหุ้นอีกคดีหนึ่ง และสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งกำลังพยายามแก้ปัญหาทีละส่วน เพื่อจับให้ได้ว่าใครโกง หรือทำอะไรไม่ถูกต้อง และอนาคตจะหาทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นง่ายๆ อีก

ก๊วนผู้ถือหุ้นใหญ่และ “พรประภา” มีเอี่ยว

มีรายงานว่าผลการสอบสวนความผิดปกติจากการซื้อขายหุ้น MORE ด้วยมูลค่าที่สูงผิดปกติจาก 300 ล้านบาท พุ่งขึ้นกว่า 7 พันล้านบาท จนทำให้ราคาวันที่ 10 พ.ย. พุ่งกว่า 4.3% ช่วงเปิดตลาดปริมาณซื้อขาย 1,500 ล้านหุ้น มูลค่าเกือบ 4.5 พันล้านบาท ก่อนจะถูกเทขายอย่างหนักจนร่วงติดฟลอร์จาก 2.90 บาทลงมาปิดที่ 1.37 บาท เมื่อวันที่ 11 พ.ย.

นั่นจึงทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบว่าพฤติกรรมดังกล่าว มีการทำราคาระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อหรือไม่ มีพฤติกรรมฉ้อโกงในการสั่งซื้อหรือไม่ เพราะถึงตอนนี้ผู้รับซื้อคือ นายอภิมุข รักษาวงษ์ หรือปิงปอง ผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 4 ของบริษัท และที่ผ่านมานายอภิมุข ยังไม่มีเงินมาจ่ายค่าหุ้นให้บริษัทหลักทรัพย์ที่ใช้บริการบัญชี Margin สถานการณ์ดังกล่าวทำให้ ก.ล.ต. คาดว่าเมื่อรวมกับความเสียหายของนักลงทุนรายย่อยอาจมีมูลค่าความเสียหายอาจจะสูงถึง 7.5 พันล้านบาท

โดยส่วนใหญ่จะเป็นธุรกรรมการเงินจากการขายหุ้น MORE ผ่าน บริษัทหลักทรัพย์ ASL ในชื่อบัญชีนายสามารถ ฉั่วศิริพัฒนา ที่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 6 ในจำนวน 279 ล้านหุ้น คิดเป็น 4.27% ,บัญชีนายศิริศักดิ์ ปิยทัสสีกุล ผู้หุ้นอันดับ 3 ในจำนวน 742,862,800 หุ้น สัดส่วน 11.37% และบัญชีนายวสันต์ จาวลา นักอสังหาริมทรัพย์นักลงทุนชาวเชียงใหม่ ที่เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 5 จำนวน 431.9 ล้านหุ้น สัดส่วน 6.61% โดยผู้ถือหุ้นใหญ่ 3 รายนี้ขายหุ้น MORE ออกไปมูลค่าราว 640 ล้านบาท ในจำนวนนี้มีหุ้นบางส่วนที่เพิ่งโอนมาจากโบรกเกอร์ Z.Com ก่อนทำรายการเพียง 1 วันเท่านั้น

โดยมีรายงานว่า ปปง.จะสั่งการอายัดบัญชีเงินสด อายัดรายการจ่ายเงิน จากคำสั่งซื้อขายผ่านทาง บล.บัวหลวง และ บล. Innovest X (บล. ไทยพาณิชย์เดิม) ของนายอธิพัธร พรประภา ,นายเอกภัทร พรประภา และนางอรพินธุ์ พรประภา หลังพบว่าบัญชีเหล่านี้ถูกสั่งขายออกมาในราคาเปิดกว่า 2 พันล้านบาท หรือกว่า 690 ล้านหุ้น

ทั้งนี้ ในชั้นการสืบสวนสอบสวนการซื้อขายหุ้น MORE ที่หลังตรวจสอบแล้วเห็นว่ามีพฤติกรรมเข้าข่ายฉ้อโกงและมีการทุบหุ้นนั้น พบว่าด้านฝั่งผู้ซื้อหุ้น MORE ที่มากผิดปกติมาจากรายเดียวกลุ่มเดียวกันที่ราคา 2.90 บาท และดำเนินการผ่านทางโบรกเกอร์ชื่อดังหลายแห่ง แต่มีคำสั่งตั้งราคาฝั่งขายไม่ถึง 10 ราย

ประมวลสาเหตุและวิธีรับมือ

มีรายงานว่าก่อนที่จะเริ่มยุทธการตกทองโบรกเกอร์ ด้วยคำสั่งซื้อหุ้น 1.5 พันล้านหุ้น มูลค่า 4.5 พันล้านบาท เมื่อ 10 พ.ย.65 มีการวางแผนไว้อย่างแนบเนียม โดยทยอยเปิดบัญชีเทรดผ่านโบรกฯหลาย ๆสำนักไว้เป็นจำนวนมากผ่านนอมินี จากนั้นก็ทยอยใช้หุ้น MORE ที่ถือครองอยู่มาค้ำประกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังเพิ่มวงเงินบัญชี Margin ตั้งแต่ปลายปี 2563 และในปี 2564

 แต่ปัญหาที่แท้จริงน่าจะมาจาก “จุกอก” เพราะกว่า MORE จะขยับมาถึงระดับเกือบ 3.00 บาทต่อหุ้นได้ จำเป็นต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล ขณะแผนขายหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP ทำมากี่รอบก็ยังไม่ประสบความสำเร็จ จึงเป็นที่มาว่างานนี้น่าจะมีการ “พลีชีพ” ดังนั้น การกดคำสั่งผิด หลายฝ่ายคาดว่าเกิดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่สร้างเกมได้มีโอกาสทำกำไรจากเงินที่ทยอยเทใส่หุ้นไปก่อนหน้านี้ 

โดยผู้ที่ยอมเสียสละก็พร้อมยอมเสียหุ้น MORE ที่กระจายไปวางค้ำประกันบัญชี Margin ในหลายโบรกเกอร์ เพราะเมื่อหักลบกลบหนี้ดูท่าจะได้กำไรมากกว่าหลายเท่าตัว เนื่องจากการวางหลักทรัพย์ค้ำประกันบัญชีมาร์จิ้นจะได้รับการขยายเพิ่มวงเงินเทรดไม่น้อยกว่า 3 เท่าตัวจากราคาและจำนวนหุ้นที่นำมาวางค้ำประกัน ดังนั้นการยอมเสียหุ้นที่ค้ำประกันไว้ น่าจะทำให้เงินบัญชีของ “อภิมุข” ดูดีมากกว่าที่จะกอดหุ้นแบบ MORE ไว้ตลอดชีพ

ขณะเดียวกันมีรายงานว่าการนำหุ้น MORE มาทยอยค้ำประกันต่อเนื่องในหลายโบรกเกอร์จนสูงถึง 50% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ทำให้ฟรีโฟลตในตลาดหายไปถึง 73% จึงไม่น่าแปลกใจต่อราคาหุ้นที่ดีดตัวเมื่อความต้องการหุ้น MORE นั้นมีมากกว่าซัปพลายที่เหลืออยู่ในตลาด

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ ก.ล.ต. และตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้หารือร่วมกันเพื่อยกระดับ คุณภาพของบริษัทที่เข้าจดทะเบียน และได้ข้อสรุปว่า จะทบทวนเกณฑ์รับหุ้นทั้งเกณฑ์เชิงปริมาณและคุณภาพ ตลอดจนจะทบทวนเกณฑ์การเข้าจดทะเบียนทางอ้อม หรือ แบ๊กดอร์ ลิสติ้ง เรียกได้ว่านี่คือการสังคายนากฎเกณฑ์ต่างๆในวงการตลาดหุ้นรอบใหญ่ ซึ่งน่าจะรวมถึงการรับฝากหลักทรัพย์เพื่อใช้คำประกันบัญชี Margin และจะมีกฎเกณฑ์ที่รอบคอบและเพิ่มความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้น มาตรการหรือกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ ที่จะออกมาคือการปิดช่องโหว่ที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่าง ก.ล.ต.และตลาดหลักทรัพย์ฯไม่ควรปล่อยปละละเลยไว้นาน ควรรีบตีขณะที่เหล็กยังร้อน เพื่อให้ทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยตั้งแต่เนิ่นๆ อย่าปล่อยให้ผลประโยชน์บังตาจนโบรกเกอร์เสียหายไปมากกว่านี้ และเมื่อตอนนั้นปรากฏการณ์ Broker Run อาจส่งผลเสียหายให้แก่แวดวงตลาดหุ้นได้มากกว่าในปัจจุบัน


กำลังโหลดความคิดเห็น