xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เดินหน้า PPP รถไฟฟ้า "สีน้ำตาล" 4.98 หมื่นล้านบาท ฟังความเห็นเอกชน คาดชง ครม.เคาะลงทุนปลายปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



รฟม.เดินหน้ารถไฟฟ้า "สีน้ำตาล" 4.98 หมื่นล้านบาท เปิดฟังความคิดเห็นเอกชนประกอบรายงาน PPP ตั้งเป้าสรุปรูปแบบเสนอ ครม.อนุมัติ ธ.ค. 66 ประมูลต้นปี 67 สร้าง 4 ปี เปิดบริการ ส.ค. 71 คาดผู้โดยสารกว่า 1.1 แสนคน-เที่ยว/วัน ค่าโดยสาร 14-42 บาท สัมปทาน 30 ปี   

รายงานข่าวจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2565 เว็บไซต์ รฟม.ได้ประกาศรับฟังความคิดเห็นของภาคเอกชนเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ ตามพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ พ.ศ. 2562) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) โดยรับฟังความเห็นตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.-22 พ.ย. 2565 โดยจัดส่งความคิดเห็นให้ รฟม.ผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ brownline@mrta.co.th  ตั้งแต่วันที่ 23-25 พ.ย. 2565  

มีกลุ่มเป้าหมายภาคเอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ประกอบด้วย 1. บริษัทที่ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน 2. สถาบันการเงิน 3. ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายระบบรถไฟฟ้า (Monorail) 4. นักลงทุนภาคเอกชนทั่วไป 

โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลมีระยะทางรวม 22.1 กม. มีสถานีทั้งสิ้น 20 สถานี มูลค่าลงทุนรวม 49,865 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 7,254 ล้านบาท ค่างานก่อสร้าง 18,544 ล้านบาท ค่างานระบบ 16,351 ล้านบาท ค่าที่ปรึกษาโครงการ 1,396 ล้านบาท ค่า Provisional Sum 6,320 ล้านบาท 

รฟม.ดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินและก่อสร้างงานโยธา ส่วนเอกชนผู้ร่วมลงทุนดำเนินการออกแบบ จัดหา ผลิต ติดตั้ง และทดสอบการทำงานของอุปกรณ์งานระบบรถไฟฟ้าการให้บริการเดินรถไฟฟ้าและซ่อมบำรุงรักษา รวมไปถึงระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดระยะเวลาโครงการ 30 ปี ซึ่งตามแผนการดำเนินงานที่คณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม.มีมติรับทราบเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2565 คาดว่าจะสรุปรูปแบบการลงทุนโครงการเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในเดือน ธ.ค. 2566 จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการสำรวจอสังหาริมทรัพย์/จัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ช่วงเดือน ม.ค. 2568-ก.พ. 2571, คัดเลือกเอกชน (PPP) เดือน ม.ค. 2567-ก.ค. 2568, ก่อสร้าง ผลิต ติดตั้ง และทดลองเดินรถ ประมาณเดือน ส.ค. 2568-ก.ค. 2571 (ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี) เปิดให้บริการเดือน ส.ค. 2571   

ทั้งนี้ ผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมทางเศรษฐกิจของโครงการ (EIRR) 20.82%, NPV 50,656.69 ล้านบาท, B/C Ratio 2.45 เท่า คาดการณ์ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลําสาลี (บึงกุ่ม) โดยใช้อัตราค่าโดยสารแบบตามระยะทาง อัตราค่าแรกเข้า 14.0 บาท ค่าโดยสารตามระยะทาง 2.0 บาทต่อกิโลเมตร และมีเพดานสูงสุด 42 บาท (ราคา ณ ปี พ.ศ. 2565) ประเมินรายได้เชิงพาณิชย์ที่ 5% ต่อปี (รายได้เชิงพาณิชย์คิดเป็นร้อยละ 5 ของรายได้จากการเดินรถ) คาดการณ์รายได้รวมตลอด 30 ปี ที่ 156,748 ล้านบาท เป็นรายได้จากค่าโดยสาร 149,823 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 7,464 ล้านบาท  

โดยคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสาร ปี 2571 (ปีเปิดให้บริการ) ที่ 112,439 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 1,237 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 62 ล้านบาท รวมรายได้ 1,299 ล้านบาท, ปี 2576 ปริมาณผู้โดยสารที่ 208,961 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 2,629 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 131 ล้านบาท รวมรายได้ 2,760 ล้านบาท, ปี 2581 ปริมาณผู้โดยสารที่ 249,393 คน-เที่ยว/วัน) รายได้จากค่าโดยสาร 3,609 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 180 บ้านบาท รวมรายได้ 3,789 ล้านบาท 

ปี 2586 ปริมาณผู้โดยสารที่ 284,742 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 4,668 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 233 ล้านบาท รวมรายได้ 4,902 ล้านบาท, ปี 2591 ปริมาณผู้โดยสารที่ 320,105 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 5,933 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 297 ล้านบาท รวมรายได้ 6,230 ล้านบาท 

ปี 2596 ปริมาณผู้โดยสารที่ 355,457 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 7,473 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 374 ล้านบาท รวมรายได้ 7,846 ล้านบาท, ปี 2600 ปริมาณผู้โดยสารที่ 383,731 คน-เที่ยว/วัน รายได้จากค่าโดยสาร 8,899 ล้านบาท รายได้เชิงพาณิชย์ 445 ล้านบาท รวมรายได้ 156,748 ล้านบาท 


โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลฯ เป็นระบบขนส่งมวลชน รถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ยกระดับตลอดเส้นทางตลอดเส้นทางจะเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้า 7 สาย มีจุดเริ่มต้นเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสายสีชมพูบริเวณแยกแคราย ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน จนถึงแยกบางเขน เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีแดงแล้วข้ามถนนวิภาวดีรังสิต โดยลอดใต้รถไฟฟ้าสายสีแดง และทางยกระดับอุตราภิมุขจนถึงแยกเกษตรเพื่อยกข้ามรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ต่อเนื่องไปตามแนวถนนประเสริฐมนูกิจซึ่งจะมีการเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเทาที่แยกฉลองรัช ไปจนถึงแยกนวมินทร์แล้วจึงเลี้ยวลงไปทางทิศใต้ตามแนวถนนนวมินทร์จนถึงแยกสวนสน ที่จะสามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีส้มและสายสีเหลืองได้ โดยในช่วงถนนประเสริฐมนูกิจ จะมีการใช้พื้นที่เกาะกลางร่วมกันระหว่างระบบทางพิเศษที่จะก่อสร้างโดยใช้เสาตอม่อเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น