xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” จับมือเกาหลีใต้ ยกระดับความร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญา 2 ประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมทรัพย์สินทางปัญญาถกผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลีใต้ ยกระดับความร่วมมือทรัพย์สินทางปัญญา 2 ประเทศ เล็งดันขายแฟรนไชส์ เปิดตลาดสินค้า GI พร้อมยกระดับการจดทะเบียน ก่อนร่วมกันทำแผนดำเนินงานปี 66-67 ต่อไป

นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยถึงผลการนำทีมประเทศไทยเข้าร่วมประชุมหัวหน้าสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน-เกาหลีใต้ ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี ระหว่างวันที่ 14-16 พ.ย. 2565 ว่า กรมฯ ได้ใช้โอกาสนี้ประชุมหารือกับนางลี อินซิล ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาเกาหลีใต้ เพื่อยกระดับความร่วมมือด้านทรัพย์สินทางปัญญาระหว่างไทยและเกาหลีใต้ โดยมุ่งเน้นการนำผลงานทรัพย์สินทางปัญญาของไทยสร้างรายได้เข้าประเทศและเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยด้วยทรัพย์สินทางปัญญา เช่น การขายเครื่องหมายการค้าผ่านระบบแฟรนไชส์ การเปิดตลาดสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ในเกาหลีใต้ เป็นต้น

ทั้งนี้ ยังได้มีการหารือในการยกระดับการเพิ่มประสิทธิภาพการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพทรัพย์สินทางปัญญาของไทยในเวทีโลก โดยจะมีการจัดทำแผนดำเนินงานระหว่างไทยและเกาหลีใต้สำหรับปี 2566-67 เพื่อให้กิจกรรมเกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

“เกาหลีใต้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการนำทรัพย์สินทางปัญญามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ส่งเสริมให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการ Startup ในหลายอุตสาหกรรม และมีรูปแบบการบริหารจัดการของหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอย่างเป็นระบบ โดยไทยเป็นประเทศที่มีจุดแข็งด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์และสามารถสอดแทรกวัฒนธรรมไทยในรูปแบบ Soft Power ผ่านกลไกทรัพย์สินทางปัญญา ผมมั่นใจว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาจะสามารถต่อยอดองค์ความรู้ พัฒนาระบบการให้บริการด้านทรัพย์สินทางปัญญาในทุกมิติ พร้อมส่งเสริม SMEs ไทย ยกระดับเป็น Startup สร้างรายได้ให้เศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนด้วยทรัพย์สินทางปัญญา” นายวุฒิไกรกล่าว

สำหรับผลการหารือในระดับหัวหน้าสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาอาเซียน-เกาหลีใต้ ได้เห็นชอบแนวทางในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และระบบทรัพย์สินทางปัญญาของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยวางแนวทางการจัดตั้ง ASEAN IP Academy เพื่อส่งเสริมการสร้างองค์ความรู้ด้านทรัพย์สินทางปัญญา พร้อมนำเทคโนโลยีและระบบอิเล็กทรอนิกส์มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับรูปแบบของผู้ประกอบการในอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น