xs
xsm
sm
md
lg

ผ้าไหมปักธงชัย สินค้า GI ภูมิปัญญาตกทอดมานับร้อยปี หนึ่งในของที่ระลึกประชุม APEC 2022

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


นายศักดิ์ชาย บุญญานุสิทธิ์ นายกสมาคมไหมไทย จังหวัดนครราชสีมา
ผ้าไหมปักธงชัย เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สืบทอดการทอผ้ามานับร้อยปี ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และด้วยฝีมือการทอที่ปราณีต งดงาม และความหลากหลายของเนื้อผ้าและลวดลาย ทำให้ผ้าไหมปักธงชัยมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และการประชุมเอเปก 2022 (APEC 2022) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ได้คัดเลือกผ้าไหมปักธงชัย มาตัดเย็บเป็นของที่ระลึกเพื่อแจกให้แก่บรรดาผู้นำในแต่ละประเทศที่เข้าร่วมประชุม APEC 2022


ผ้าไหมปักธงชัย “จตุราภรณ์” ของที่ระลึกประชุม APEC 2022

สำหรับการประชุม APEC 2022 จะมีผู้นำจากประเทศต่างๆ เข้าร่วมประชุม ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพได้มีการจัดเตรียมของที่ระลึกให้กับผู้นำที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 7 ชิ้น แต่ละชิ้นจะสะท้อนเรื่องราวเอกลักษณ์ ของความเป็นไทยประกอบด้วย ภาพดุนโลหะ โดยขึ้นรูปเป็นพระบรมมหาราชวัง พื้นหลังเป็นตราสัญลักษณ์การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทย “ชะลอม” ชิ้นที่ 2 กล่องเครื่องประดับดุนโลหะ (สำหรับคู่สมรส) ผลิตจากชุมชนคุณธรรมวัดศรีสุพรรณ (วัวลาย) จังหวัดเชียงใหม่ และชิ้นที่ 3 ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ ชื่อ ชุดผลิตภัณฑ์ จตุราภรณ์ ผลิตจากผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติจากเปลือกมะพร้าว อันเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมา ชิ้นที่ 4 สมุดรายนามผู้ผลิตผ้าไหม และผู้ประกอบการทั่วประเทศ ชิ้นที่ 5 เหรียญกษาปณ์ที่ระลึกการประชุม APEC 2022 ชิ้นที่ 6 กรอบรูปถมเงิน และชิ้นที่ 7 กล่องลิเภาเลี่ยมขอบเงิน ตกแต่งเงินลงยาสี

ในส่วนของผ้าไหมปักธงชัย หนึ่งในของที่ระลึกการประชุมเอเปก 2022 ครั้งนี้ ทางทีมงานที่รับหน้าที่ดูแลในการจัดเตรียมของที่ระลึกได้มีการสั่งผลิตผ้าไหมทอมือจากเส้นไหมย้อมสีธรรมชาติอำเภอปักธงชัย และนำไปพิมพ์ลายที่เป็นสัญลักษณ์ของการประชุม APEC 2020 นั่นคือลายชะลอมลงบนผ้าไหม ร้อยเรียงขึ้นเป็นลายไทยประจำยาม สำหรับ “จตุราภรณ์” หมายถึง อาภรณ์สี่ชิ้นที่เชื่อมผ้าไทยและวัฒนธรรมไทย ประกอบด้วย เน็กไท ผ้าคลุมไหล่ ผ้าเช็ดหน้า และ หน้ากากผ้า ซึ่งเป็นของฝากที่สะท้อนเรื่องราวความเป็นไทยได้เป็นอย่างดี


ผ้าไหมปักธงชัย ได้รับการขึ้นทะเบียนสินค้า GI

นายศักดิ์ชาย บุญญานุสิทธิ์ นายกสมาคมไหมไทย จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ในฐานะตัวแทนของผู้ผลิต และจัดจำหน่ายผ้าไหมปักธงชัย รู้สึกดีใจและภูมิใจเป็นอย่างมากที่ผ้าไหมจากอำเภอปักธงชัยได้ นำไปผลิตเป็นของที่ระลึกให้แก่บรรดาผู้นำนานาประเทศที่เข้าร่วมการประชุมเอเปก ครั้งนี้ ความโดดเด่นของผ้าไหมปักธงชัยเป็นผ้าไหมที่มีความหลากหลายทั้งลวดลาย คุณภาพของเนื้อผ้า และการย้อมสีธรรมชาติ ซึ่งอำเภอปักธงชัยมีชื่อเสียงในการเรื่องของการทอผ้าไหมมานานหลายชั่วอายุคน และมีเทคนิคกาย้อมสีธรรมชาติที่มีความคงทน

ล่าสุด กรมทรัพย์สินค้าปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ประกาศขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ GI ผ้าไหมปักธงชัย สินค้ารายการที่ 9 ของจังหวัดนครราชสีมา คาดกว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่ม และสร้างรายได้ให้แก่ผู้ผลิตผ้าไหมปักธงชัยกว่า 40 ล้านบาทต่อปี ผ่านช่องทางจำหน่ายสินค้า GI ทั้งออนไลน์ และออฟไลน์ และจากการที่ผ้าไหมปักธงชัย ได้รับเลือกผลิตของที่ระลึกให้ผู้นำการประชุมเอเปก ครั้งนี้ ทำให้ต่างชาติได้รู้จักผ้าไหมปักธงชัยมากขึ้น ผ่านการบอกเล่าของผู้นำจากนานาประเทศ และประกอบกับสื่อแขนงต่างๆ ทั้งในประเทศ และต่างประเทศมีการพูดถึงและประชาสัมพันธ์ผ้าไหมปักธงชัยให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย โดยในระหว่างวันที่ 9-15 ธันวาคมนี้ ได้มีการจัดงานผ้าไหมปักธงชัยประจำปีขึ้น บริเวณด้านหน้าที่ว่าการอำเภอปักธงชัย เชิญชวนนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ ได้เดินทางมาดูความงดงามของผ้าไหมปักธงชัย


สำหรับผ้าไหมปักธงชัย ที่นำมาใช้สำหรับตัดเย็บ ชุดผลิตภัณฑ์ จตุราภรณ์ ของที่ระลึกการประชุมเอเปก 2022 ครั้งนี้ ใช้ผ้าไหมจำนวน 80-90 เมตร เป็นผ้าไหมทอมือย้อมสีธรรมชาติ  เป็นการทอแบบ 2 เส้นราคาอยูู่ที่เมตรละ 2,000 บาทเป็นไหมแท้ ไม่มีการผสมเส้นใยสังเคราะห์อื่นๆ เป็นการทอโดยฝีมือของชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งปัจจุบันผ้าไหมปักธงชัยที่ขายตามท้องตลาดมีเนื้อผ้าคุณภาพต่างกันออกไป ทำให้ราคาต่างกันมาก โดยราคาเริ่มต้นที่เมตรละ 400 บาท ไปจนถึง 2,500 บาท  แต่ถ้าเป็นไหมมัดหมี่ เริ่มต้นที่ 1,500-4,000 บาท 


ชาวบ้านทอผ้าไหมมีรายได้ต่อครัวเรือน 40,000-50,000 บาท /เดือน

ปัจจุบันอำเภอปักธงชัย มีผู้ประกอบการที่ผลิตและจัดจำหน่ายผ้าไหมประมาณ 80 กว่าราย จะแบ่งออกเป็นผ้าไหมที่ทอด้วยเครื่องจักร เป็นระบบอุตสาหกรรม ประมาณ 10 ราย และผู้ประกอบการธุรกิจยังคงใช้การทอผ้าไหมแบบใช้แรงงานคนทอมือ ประมาณ 20 ราย ส่วนที่เหลือกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย ที่รวมตัวกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และก็ยังมีในส่วนของชาวบ้านที่ทอผ้าอยู่กับบ้านซึ่งมีอยู่เกือบแทบทุกครัวเรือน ชาวบ้านเหล่านี้เมื่อทอเสร็จจะนำผ้าไหมไปส่งให้กับ ผู้ประกอบการ ร้านค้าที่ขายผ้าไหม บางคนมีรายได้ต่อเดือนสูงถึง 40,000-50,000 บาท ยังไม่หักค่าใช้จ่าย ค่าเส้นไหม เหลือรายได้ประมาณหมื่นกว่าบาท

ทั้งนี้ อาชีพการทอผ้าไหมยังคงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่ดีให้กับชาวบ้านอำเภอปักธงชัย ซึ่งในช่วงสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ชาวบ้านและผู้ประกอบการผ้าไหมได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน หลายร้านขายสินค้าไม่ได้ก็ไม่ได้มีการซื้อเข้า แต่พอช่วงนี้ โควิดคลี่คลายออเดอร์ผ้าไหม เริ่มกลับมาชาวบ้านก็นำผ้าไหมที่ทอไว้ออกมาจำหน่าย ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการผ้าไหมปักธงชัย ได้มีการส่งสินค้าไปจำหน่ายไปทั่วประเทศ และ ส่งออกไปขายประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งส่วนใหญ่ชื่นชอบผ้าไหมปักธงชัย


“แต๋วผ้าไหมไทย” ตกทอดรุ่นปู่ ทอผ้าส่ง จิม ทอมสัน ฟาร์ม

นายศักดิ์ชาย เล่าว่า ตนเองเกิดมาจากครอครัวที่ทำผ้าไหมมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่ คุณย่า ซึ่งในสมัยนั้นทอผ้าไหมส่งไปยัง จิม ทอมสัน ฟาร์ม ตกทอดมาถึงรุ่น พ่อ- แม่ ได้เริ่มต้นทำธุรกิจผ้าไหมเป็นของตัวเอง ในชื่อว่า “แต๋วผ้าไหมไทย Taew Thai Silk” เป็นชื่อของแม่ ถ้านับอายุการทำผ้าไหมของครอบครัวไม่ต่ำกว่า 80 ปี ส่วนตนเองก็ได้รับมาดูแลกิจการต่อเป็นรุ่นที่ 3 และได้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกสมาคมผ้าไหมปักธงชัย ซึ่งทำหน้าที่ให้ความรู้แก่ประชาชนในเรื่องการผลิตผ้าไหม และการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายผ้าไหม ในส่วนของกิจการ แต๋วไหมไทย ได้มีการพัฒนาผลงานจนกระทั่งได้เป็นส่วนหนึ่งในการประกวดงาน Prism Award ซึ่งเป็นการประกวดออกแบบผ้าไหม โดยได้นำผ้าไหมปักธงชัยไปประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ จนกระทั่งสามารถผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ และได้นำผลงานไปแสดงที่ประเทศจีน

ติดต่อ Facebook : TAEW THAI SILK

คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager

กำลังโหลดความคิดเห็น