xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : PayLater by Grab ใช้แกร็บก่อนจ่ายทีหลัง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



"ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง" หรือ Buy Now, Pay Later (BNPL) กำลังได้รับความนิยมจากผู้บริโภคในยุคนี้ ด้วยข้อดีคือลูกค้าสามารถใช้สินค้าและบริการก่อนแล้วชำระเงินภายหลังตามรอบบิล หรือสามารถแบ่งจ่ายเป็นงวดได้ มีทั้งรูปแบบสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้อนุมัติผู้ให้บริการไปแล้ว 9 แห่ง และรูปแบบแพลตฟอร์มแผนการชำระเงินแบบไม่มีดอกเบี้ย

ล่าสุด แกร็บ ประเทศไทย (Grab Thailand) ได้ออกบริการใหม่ที่ชื่อว่า PayLater by Grab โดยมีวงเงินจำนวนหนึ่งให้ลูกค้าสามารถใช้บริการแกร็บได้ก่อน อาทิ บริการสั่งอาหาร GrabFood, บริการสั่งซื้อสินค้า GrabMart, บริการส่งสินค้า GrabExpress และบริการเรียกรถ Grab แล้วชำระค่าบริการทั้งหมดภายในวันที่ 7 ของเดือนถัดไป โดยไม่มีดอกเบี้ย ไม่มีค่าธรรมเนียมแอบแฝง


บริการนี้ช่วยให้ผู้บริโภคมีความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายมากขึ้น เพราะสามารถใช้ก่อนจ่ายทีหลังได้ สรุปค่าใช้จ่ายเป็นบิลรายเดือนให้ ไม่ต้องยุ่งยากกรอกข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิต รวมทั้งยังได้รับคะแนน GrabRewards และสิทธิพิเศษมากมาย ซึ่งเร็วๆ นี้จะขยายบริการร่วมกับร้านค้าพาร์ทเนอร์แบรนด์ดัง ให้ลูกค้าที่ซื้อสินค้าสามารถแบ่งชำระสูงสุด 4 เดือนได้อีกด้วย

ปัจจุบัน PayLater by Grab เปิดให้บริการเฉพาะลูกค้าแกร็บระดับ Platinum, Gold หรือ Silver ของ GrabRewards อายุ 20-65 ปี ที่ได้รับเชิญเท่านั้น โดยพิจารณาจากหลายปัจจัย อาทิ ระยะเวลาที่ใช้งานแกร็บ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นบนแกร็บที่ผ่านมา ก่อนกำหนดวงเงินให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้จ่าย หากเข้าไปในแอปฯ Grab แล้วเห็นปุ่ม PayLater สามารถกดสมัครได้เลย



วิธีการสมัคร เข้าไปที่แอปฯ Grab สังเกตแบนเนอร์ "ใหม่! ใช้แกร็บก่อน แล้วจ่ายเดือนถัดไป" กดเข้าไปแล้วจะพบเห็นหน้า PayLater กด "เปิดใช้งานเลย" ทำการผูกบัตรสำหรับใช้ชำระ PayLater ใช้สำหรับการหักเงินอัตโนมัติ เพื่อไม่ให้พลาดการชำระเงินในแต่ละครั้ง เลือกยอมรับข้อตกลงการใช้บริการ และเปิดเผยข้อมูลให้กับบริษัทฯ ตามประกาศความเป็นส่วนตัวของแกร็บ

จากนั้น หน้าจอจะขึ้นข้อความ You've set up PayLater! และข้อความแจ้งเตือน "เปิดใช้งาน PayLater สำเร็จ!" โดยจะขึ้นหน้าจอเมนู PayLater ได้แก่ Avaliable amount (วงเงินที่สามารถใช้ได้) ยอดที่ต้องชำระ กำหนดชำระเดือนนี้ บัตรที่ผูกไว้สำหรับหักบัญชีอัตโนมัติ สามารถตั้งค่าใช้การเรียกเก็บบิลรายเดือนเป็นวิธีการชำระเงินหลักของบริการ Grab เปิด-ปิดได้ด้วยตัวเอง


เมื่อใช้บริการแกร็บ ไม่ว่าจะเป็น GrabFood, GrabMart, GrabExpress หรือเรียกรถ Grab หากตั้งค่าในเมนู PayLater แล้ว จะพบเห็นสัญลักษณ์ G สีม่วง พร้อมยอดคงเหลือจากวงเงินที่ได้รับ ก่อนใช้บริการสามารถเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินเป็นแบบปกติ เช่น เงินสด กระเป๋าเงิน GrabPay Wallet หรือบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่ผูกไว้ก่อนหน้านี้ได้ หากยังไม่ต้องการใช้ในตอนนี้


เมื่อถึงเวลาที่ต้องชำระเงิน เมนู PayLater จะขึ้นรายการที่กำลังจะถึง (Upcoming) ว่าเป็น Postpaid ของเดือนนั้นๆ ซึ่งจะหักจากบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตที่ผูกไว้ทุกวันที่ 7 ของเดือนโดยอัตโนมัติ หรือสามารถชำระบิลก่อนกำหนดได้ (ใช้ได้กับบริการของ Grab เท่านั้น) โดยเข้าไปที่ "ดูทั้งหมด" เลือก "ชำระก่อนกำหนด" ระบุจำนวนเงินที่ต้องการชำระเงินล่วงหน้า และกด "ยืนยัน"


บริการ PayLater by Grab ให้บริการโดย บริษัท จีเพย์ เน็ตเวิร์ค (ที) จำกัด เปิดให้บริการในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา หลังจากเปิดให้บริการแล้วในบางประเทศ เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ โดยจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้ากับบริษัท จีเทค (ที) จำกัด เพื่อทำการประเมินความเหมาะสมและให้บริการ PayLater รวมทั้งสินค้าและบริการอื่นที่เกี่ยวข้อง

สำหรับอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม พบว่า ไม่มีอัตราดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมใดๆ เว้นแต่หากพลาดการชำระบิล แกร็บจะระงับบัญชี PayLater ชั่วคราว และคิดค่าติดตามทวงถาม 53.50 บาท สำหรับการเรียกเก็บเงินที่ค้างชำระแต่ละรายการที่เกิน 1,000 บาท จึงควรเตรียมวงเงินบัตรเครดิต หรือเงินในบัญชีสำหรับบัตรเดบิตให้พร้อม เพื่อหักบัญชีอัตโนมัติวันที่ 7 ของเดือน

ผู้สนใจควรศึกษารายละเอียดและเงื่อนไขในการใช้บริการเพิ่มเติมได้ที่แอปพลิเคชัน Grab หรือเว็บไซต์ https://www.grab.com/th/consumer/finance/paylater/


ปัจจุบันมีผู้ให้บริการในลักษณะ Buy Now, Pay Later จำนวนมาก ทั้งแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ สถาบันการเงิน รวมทั้งผู้ให้บริการทางการเงินต่างๆ ให้ลูกค้าเลือกใช้บริการได้ตามใจ หลายแห่งงัดกลยุทธ์ด้วยการ "ไม่คิดดอกเบี้ย" ในการใช้บริการ เพื่อจูงใจให้ลูกค้าสามารถตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อแพลตฟอร์มนั้นๆ ที่จะมีลูกค้าใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

สำหรับผู้บริโภค แม้วงเงินที่ได้รับอาจจะไม่เท่ากัน แต่สิ่งสำคัญคือ ควรพิจารณาเลือกใช้อย่างเหมาะสม และประมาณตนเองถึงความสามารถในการชำระหนี้เมื่อถึงวันกำหนดชำระเงิน เพราะหากไม่สามารถชำระคืนได้ตามกำหนด นอกจากต้องเจอค่าติดตามทวงถามแล้ว อาจจะเสียประวัติทางการเงินในระยะยาว


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น