xs
xsm
sm
md
lg

ตลาดคริปโตหลังการล่มสลายของ FTX จะเป็นอย่างไร / นเรศ เหล่าพรรณราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การล้มละลายของ FTX ยักษ์ใหญ่ในวงการคริปโตถือเป็นระเบิดลูกใหญ่ที่สร้างแรงสั่นสะเทือนใปทั้งวงการคริปโตและน่าจะเป็นวิกฤตที่ร้ายแรงที่สุดตั้งแต่เกิดการซื้อขายคริปโตกันมาเป็นเวลากว่าสิบปีเลยทีเดียว เพราะในยุคแรกที่มี Exchange ล้มละลายอย่าง Mt.Gox ตอนนั้นมีมูลค่าความเสียหายเพียง 65 ล้านดอลลาร์ แต่กรณีของ FTX มีมูลค่าความเสียหายกว่าหมื่นล้านดอลลาร์

โครงสร้างธุรกิจของ FTX มีความอ่อนไหวสูงจากการที่นำเหรียญ FTT ซึ่งเป็นผู้ออกเหรียญนี้มาเองมาเป็นส่วนของเงินทุนถึง 30% นอกจากนี้ยังก่อหนี้เป็นจำนวนมาก เมื่อเหรียญ FTT ถูกเทขายในตลาดโดย Binance ทำให้ส่วนของทุนมีปัญหาและเป็นต้นเหตุของวิกฤตรอบนี้ในที่สุด

วิกฤติคริปโต 2022 ยังมีความเหมือนกับกับวิกฤติซับไพร์ม 2008 อีกด้วยโดย สองเหตุการณ์นี้มีจุดเริ่มต้นเหมือนกันคือเกิดภาวะฟองสบู่มาก่อนหน้านี้ทำให้สถาบันการเงินและ Exchange ต่างกู้เงินจำนวนมากมาลงทุน เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินแปลกๆและยังมีการลงทุนไขว้กันไปมา และการที่ฟองสบู่แตกทำให้ปัญหาที่เรื้อรังและไม่โปร่งใสแตกออกมาในที่สุด

ในวิกฤติซับไพร์ม ระเบิดลูกแรกที่เกิดขึ้นคือการล้มละลายของ Bear Stearns สถาบันการเงินที่มีอายุกว่าร้อยปีแต่เจ๊งเพราะปัญหาสภาพคล่องไม่สามารถจ่ายคืนหนี้ได้ ส่วนวิกฤติคริปโตมีระเบิดลูกแรกคือ Terra Chain และเหรียญ LUNA

หลังเกิดระเบิดลูกแรก นักลงทุนเริ่มเกิดความกังวลแล้วว่าจะมีระเบิดลูกต่อไปเพราะสถาบันการเงินขนาดกลางเริ่มส่งสัญญาณถึงสถานะการเงินที่ย่ำแย่ เช่นเดียวกับคริปโตที่เริ่มมีบางแพลตฟอร์มมีปัญหา

ในที่สุดระเบิดที่มีดาเมจแรงที่สุดก็เกิดขึ้นและกลายเป็นสัญลักษณ์ของวิกฤติรอบนั้นคือการล้มละลายของ Lehman Brothers สถาบันการเงินที่ใหญ่อันดับต้นๆ ของสหรัฐฯส่วนวิกฤติคริปโตก็คือการล้มละลายของ FTX ที่เป็น Exchange ใหญ่อันดับต้นๆ

หลังเกิดวิกฤติ FED และรัฐบาลสหรัฐฯออกมาอัดฉีดเงินแก้ไขปัญหาให้สถาบันการเงินและเกิดการเทคโอเวอร์กันเองจนทำให้หลังจากนั้นไม่มีระเบิดลูกใหญ่เกิดขึ้นอีกมีเพียงสถาบันการเงินขนาดเล็กที่ล้มละลายไปบ้าง


ส่วนวิกฤตคริปโตในตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณของ Exchange ขนาดเล็กลงมาเริ่มที่จะมีกลิ่นแปลกๆเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็น Crypto.com และ Gate.io ปัญหาคือในโลกคริปโตไม่มีรัฐบาล ไม่มีธนาคารกลางที่จะมาอัดฉีดเงินเพื่อฟื้นฟู คำว่า Too Big Too Fail จึงใช้ไม่ได้กับโลกคริปโต

แต่ยังมียักษ์ใหญ่ที่แสดงตัวมาตลอดว่ายัง “เอาอยู่” อย่าง Binance ที่ดูแล้วมีความพร้อมจะเข้ามาเทคโอเวอร์ Exchange หรือแพลตฟอร์มที่มีปัญหาหลังจากนี้ได้ ถ้า Exchange นั้นๆมีความโปร่งใสมากพอ ทำให้ตลาดพอมีความหวังขึ้นมาได้บ้าง

ภายในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมนี้น่าจะมีความชัดเจนแล้วว่า Exchange ที่เหลืออยู่จะมีสภาพอย่างไร ดาเมจที่จะเกิดขึ้นกับตลาดคริปโตจะแรงแค่ไหน นาทีนี้อะไรๆก็เกิดขึ้นได้เพราะธุรกิจ Exchange ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลมาก่อน ขนาดธนาคารที่ถูกกำกับดูแลก่อนซับไพร์มก็ยังมีปัญหาได้

เรามาประเมินสถานการณ์กันว่าหลังจากนี้อุตสาหกรรมนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป โดยผลกระทบเชิงลบนักลงทุนบางส่วนโดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาหลังปี 2021 คงมีเสียขวัญและเสียเงินจนไม่อยากกลับเข้ามาในตลาดนี้อีกแล้ว ขณะที่นักลงทุนวีซีบางส่วนจะถอยห่างจากการลงทุนในโปรเจกต์คริปโตเพราะไม่มั่นใจในตัว Founder อีก

ที่สำคัญหน่วยงานกำกับดูแลจะเพิ่มมาตราการที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้นและอาจจะเป็นการคุมกำเนิดอุตสาหกรรมคริปโตไปเลยก็ได้

อย่างไรก็ตามอาจจะมีประเด็นด้านบวกอยู่บ้างเช่นผู้คนในอุตสาหกรรมนี้ที่ต้องการทำธุรกิจยั่งยืนระยะยาวจะอยู่รอดและมีความโปร่งใสมากขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก

นอกจากนี้หากหน่วยงานกำกับดูแลมีความเข้มงวดมากขึ้นจะยิ่งเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนสถาบันนำเงินเข้ามาลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งเม็ดเงินนั้นมากกว่ารายย่อยหลายเท่า

หลังวิกฤตจบลงตลาดคริปโตจะยังสามารถเดินหน้าต่อได้แม้ในช่วงแรกสภาพคล่องซื้อขายและความคึกคักอาจจะหายไปพอสมควรแต่การกลับมารอบนี้จะทำให้พื้นฐานของอุตสาหกรรมคริปโตมีความโปร่งใสและเข้มแข็งขึ้นได้อย่างแน่นอน

เพราะตัวการที่ทำให้เกิดวิกฤตไม่ใช่ตัวสินทรัพย์และเทคโนโลยี แต่เป็นเรื่องของ “คน” โดยเฉพาะ

นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย

สงวนลิขสิทธ์บทความเฉพาะสื่อในเครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ MGR online , iBit และ ที่ได้รับอนุญาติจากผู้เขียนซึ่งเป็นเจ้าของบทความเท่านั้น
กำลังโหลดความคิดเห็น