xs
xsm
sm
md
lg

โซนี่-โตโยต้าร่วมฝ่าวิกฤตเซมิคอนดักเตอร์ จับมือรัฐบาลพัฒนาชิปสุดล้ำแห่งอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ซอฟต์แบงก์ 1 ใน 8 บริษัทชั้นนำที่ร่วมโปรเจ็กต์ชิปแห่งอนาคตของรัฐบาลญี่ปุ่น
ญี่ปุ่นเตรียมทุ่มทุน 500 ล้านดอลลาร์อัดฉีดโปรเจ็กต์พัฒนาและผลิตไมโครชิปแห่งอนาคต โดยมี 8 บริษัทระดับหัวกะทิของประเทศ อาทิ โซนี่ โตโยต้า ซอฟต์แบงก์ และเอ็นทีที ร่วมลงขัน อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของแดนอาทิตย์อุทัยในการเร่งฟื้นสถานะผู้นำการผลิตชิปขั้นสูง ขณะที่การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์กำลังจุดชนวนความกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงทางเศรษฐกิจทั่วโลก

วิกฤตโรคระบาดส่งผลให้ทั่วโลกขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สมัยใหม่เกือบทั้งหมด ตั้งแต่สมาร์ทโฟนจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในครัวและรถยนต์

สถานการณ์นี้บีบให้ธุรกิจต้องชะลอกิจกรรมการผลิต และมีเสียงเรียกร้องไปยังภาครัฐและเอกชนให้ปกป้องซัปพลายชิปขณะที่สถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์ผันผวนมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่นกังวลว่า จีนอาจพยายามเข้าควบคุมไต้หวัน ซึ่งเป็นฮับการผลิตชิปขั้นสูงของโลก

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นแถลงเมื่อวันศุกร์ (11) ว่า บริษัท 8 แห่งที่เข้าร่วมโปรเจ็กต์นี้ อาทิ โซนี่, เอ็นอีซี, โตโยต้า มอเตอร์, นิปปอน เทเลกราฟ แอนด์ เทเลโฟน (เอ็นทีที) และซอฟต์แบงก์ จะลงทุนแห่งละประมาณ 1,000 ล้านเยน (7 ล้านดอลลาร์) และเอ็มยูเอฟจี แบงก์ 300 ล้านเยน นอกจากนี้รัฐบาลจะร่วมลงทุนด้วย 70,000 ล้านเยน (500 ล้านดอลลาร์)

ทั้งนี้ บริษัทแห่งใหม่ที่จะใช้ชื่อว่า ราปิดุส ตั้งเป้าเริ่มผลิตเซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่ภายในปี 2027

ยาสึโตชิ นิชิมูระ กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า เซมิคอนดักเตอร์เป็นส่วนประกอบสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีล้ำยุคใหม่ๆ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) อุตสาหกรรมดิจิตอลและการดูแลสุขภาพ

อาสึโยชิ โคอิเกะ ประธานราปิดุส เสริมว่า ปัญหาความมั่นคงทางเศรษฐกิจน่ากังวลมากเมื่อพิจารณาถึงห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งบริษัทผลิตชิปมากมายกระจุกอยู่ในจีนและไต้หวัน

โคอิเกะสำทับว่า ดูเหมือนช่วงไม่กี่ปีมานี้ทุกคนเริ่มเข้าใจความสำคัญของเซมิคอนดักเตอร์ ขณะที่ญี่ปุ่นกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับความตกต่ำของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม ทางด้านเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ กลับมองว่า โลกใกล้ชิดกันอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในการเฝ้ามองความขัดแย้งเกี่ยวกับไต้หวันที่จีนอ้างว่า เป็นดินแดนของตนและจะต้องเข้าควบคุมในวันใดวันหนึ่งโดยพร้อมใช้กำลังหากจำเป็น

ความที่ไต้หวันเป็นฮับการผลิตชิปขั้นสูงของโลก ดังนั้น การรุกรานดินแดนมังกรน้อยจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อห่วงโซ่อุปทานโลก

นอกจากนั้นเมื่อไม่นานมานี้วอชิงตันยังออกมาตรการใหม่ปิดกั้นบริษัทจีนไม่ให้เข้าถึงเซมิคอนดักเตอร์ไฮเอนด์ที่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์ทางทหาร ส่งผลให้มูลค่าของบริษัทชิปทั่วโลกหายวับทันตานับหมื่นล้านดอลลาร์

ท่ามกลางมาตรการปิดกั้นดังกล่าว ตลอดจนถึงความขัดแย้งทางการค้าระหว่างอเมริกากับจีนที่รุนแรงขึ้น ญี่ปุ่นกำลังเร่งฟื้นสถานะผู้นำการผลิตชิปขั้นสูงเพื่อให้แน่ใจว่า ค่ายรถยนต์และบริษัทเทคโนโลยีสารสนเทศในประเทศจะไม่ขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญ

นอกจากโครงการล่าสุดนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นยังกำลังเสนอความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อดึงดูดบริษัทชิปต่างชาติเข้าไปสร้างโรงงานในญี่ปุ่น ซึ่งรวมถึงการอัดฉีดเงิน 400,000 ล้านเยนเพื่อช่วยให้ไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง โค (ทีเอสเอ็มซี)

บริษัทชิปยักษ์ใหญ่ของไต้หวันและเป็นผู้ผลิตลอจิกชิปชั้นนำของโลก สร้างโรงงานในจังหวัดคุมาโมโตะที่จะป้อนเซมิคอนดักเตอร์ให้โซนี่ และเดนโซ่ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นยังเสนอเงินช่วยเหลือ 93,000 ล้านเยนเพื่อให้คิอ็อกเซีย และเวสเทิร์น ดิจิตอล เพิ่มกำลังผลิตชิปหน่วยความจำในญี่ปุ่น ต่อมาในเดือนกันยายน รัฐบาลประกาศให้เงิน 46,500 ล้านเยน เพื่อให้ไมครอน เทคโนโลยี บริษัทชิปอเมริกา เพิ่มศักยภาพการผลิตในโรงงานที่ฮิโรชิมา

สำหรับราปิดุสนั้นถือเป็นเฟสถัดไปของยุทธศาสตร์เซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น และตอกย้ำการกระชับความร่วมมือพัฒนาเทคโนโลยีกับอเมริกา หลังจากสองประเทศตกลงกันเมื่อเดือนกรกฎาคมในการสร้างศูนย์วิจัยแห่งใหม่เพื่อพัฒนาเซมิคอนดักเตอร์ขนาด 2 นาโนเมตรรุ่นใหม่ที่ทรงพลังและทำงานเร็วขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น